ทวี สุรฤทธิกุล

การรักษาผู้เสพยาเสพติดมี 2 วิธี คือ ใช้กำลังใจ กับใช้กำลังยา

ตอนที่เขียนบทความนี้เป็นเช้าวันที่ 30 กันยายน 2565 สื่อออนไลน์บางฉบับพาดหัวว่า “หวยศาลรัฐธรรมนูญออกวันนี้ ตู่อยู่หรือไปต่อ” ซึ่งพอถึงเช้าวันนี้เรื่องต่าง ๆ ก็คงปรากฏให้เห็น ทั้งคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญและการตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งนี้คงเป็นความลำบากใจของพลเอกประยุทธ์มาก ๆ ไม่ว่าจะต้องออกไปหรืออยู่ต่อ

ถ้าจะศึกษาพลเอกประยุทธ์ด้วยทฤษฎีเกี่ยวกับอำนาจ ก็อธิบายได้ย่อ ๆ ว่า พลเอกประยุทธ์เกิดมาในยุคสมัยที่คนไทย “บ้าเครื่องแบบ” หรือ “ข้าราชการครองเมือง” โดยมีทหารเป็นใหญ่ ครอบครัวคนไทยนิยมให้ลูกหลานรับราชการ โดยเฉพาะอาชีพทหารและตำรวจที่มีเครื่องแบบสง่างามพร้อมกับอำนาจต่าง ๆ มากมาย เด็กชายประยุทธ์ก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของสภาพแวดล้อมทางสังคมเช่นนั้น แล้วเมื่อต้องเข้าไปเป็นนักเรียนเตรียมทหารต่อเนื่องเข้าไปเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก ก็คงอยู่ในสภาพที่ “ไหลหลอม” คือถูกทำให้เป็น “ทหารไทย” ไปตามระบบ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวัฒนธรรมที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย โดยเน้นชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นแกนนำในทางอุดมการณ์ อย่างที่ผู้นำทหารทั้งหลายก็ถูกอบรมมาเช่นนั้น

ตอนที่พลเอกประยุทธ์กำลังอยู่ในโรงเรียนนายร้อยนั่นเอง ก็เป็นช่วงที่ภาพลักษณ์ของทหารตกต่ำสุดขีด เนื่องจากมีเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ที่ประชาชนเคียดแค้นและเกลียดชังทหาร แต่ในช่วงที่พลเอกประยุทธ์จบออกมารับราชการติดยศร้อยตรี ก็เป็นช่วงที่ทหารกลับฟื้นคืนมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการยึดอำนาจคืนมาสู่กองทัพในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งก็แน่นอนว่าพลเอกประยุทธ์ก็คงจะเริ่มสัมผัส “รสการเมืองไทย” ตั้งแต่โอกาสนั้น ยิ่งไปกว่านั้นพลเอกประยุทธ์ก็ต้องเติบโตในตำแหน่งทางทหารมาในช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่ทหารคบกับนักการเมืองช่วยกันประคับประคองระบอบประชาธิปไตย ภายใต้การนำของนายทหารรูปหล่อคอเอียง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จนมาถึงในช่วงที่ทหารได้ทำรัฐประหารอีกครั้งใน พ.ศ. 2534 พลเอกประยุทธ์ก็น่าจะอยู่ในตำแหน่งควบคุมกำลัง อย่างที่ภาษาหนังสือพิมพ์เรียกว่า “ยังเติร์ก” ซึ่งก็ต้องมีส่วนร่วมในการทำรัฐประหารในครั้งนั้นอย่างเต็มตัว

ต่อมาในการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 พลเอกประยุทธ์ก็อยู่ในระดับบนของผู้นำเหล่าทัพ จากนั้นในช่วงที่การเมืองไทยวุ่นวายตั้งแต่ภายหลังที่มีการเลือกตั้งในปลายปี 2550 ก็ปรากฏข่าวของพลเอกประยุทธ์อยู่บ้างในการทำงานด้านความมั่นคง จนกระทั่งท่านขึ้นสู่ตำแหน่งในผู้บัญชาการทหารบกใน พ.ศ. 2553 ก็ยิ่งปรากฏข่าวสารต่าง ๆ หนาหู ถึงเรื่องที่มีผู้เรียกร้องให้ทหารออกมาจัดการแก้ไขความขัดแย้งนั้น  จนกระทั่งในวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ท่านก็ใช้อำนาจในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงของการประกาศกฎอัยการศึก เรียกให้บุคคลต่าง ๆ ที่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองมาร่วมประชุมกันที่หอประชุมกองทัพบก แต่ก็ตกลงอะไรกันไม่ได้ ดังนั้นพอประชุมกันต่อมาในวันรุ่งขึ้นก็ยังหาข้อสรุปกันไม่ได้ บ่ายวันนั้นทหารจึงประกาศยึดอำนาจ และจับกุมนักการเมืองเหล่านั้นไป “ปรับทัศนคติ” แล้วพลเอกประยุทธ์ก็ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การขึ้นสู่ตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ในระยะแรกได้รับการชื่นชมและการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมากด้วยดี และถ้าพิจารณาดูท่าทีของท่านในช่วงแรกนี้ก็ดูเหมือนท่านจะขออยู่ชั่วคราว อย่างเพลงที่ท่านแต่งออกมาเผยแพร่ในช่วงนั้นว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” แต่ครั้นปีต่อมาก็มีการล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานยกร่าง ถึงขั้นที่อาจารย์บวรศักดิ์ร้องขึ้นว่า “เขาอยากอยู่ยาว” หลายคนจึงเริ่มเอะใจว่า “อ๊ะ ลุงตู่เปี๊ยนไป” แต่กระนั้นก็มีผู้ที่รักลุงตู่พยายามหาเหตุผลมาอธิบายให้เห็นว่า พลเอกประยุทธ์จำเป็นที่จะต้องอยู่ต่อ (หลายเรื่องเป็นไม่บังควร จึงไม่ขอลงไปในรายละเอียด) และภาวะ “ลุงตู่อยู่ต่อ” นี้ก็เพิ่มความชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แล้วนักการเมืองก็หลั่งไหลมา “เชียร์ลุงตู่” ร่วมกันจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐเพื่อหนุนหลุงตู่ แม้ว่าผลการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 พรรคเพื่อไทยจะมีเสียงมากกว่า แต่ด้วยเล่ห์กลของรัฐธรรมนูญ “ฉบับอาจารย์มีชัย” ได้ทำให้สภาเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลได้ในที่สุด

ผู้เขียนก็เคยอยู่ในกลุ่ม “คนรักลุงตู่” แต่พอ “ลุงตู่เปี๊ยนไป” ก็ชักจะลังเลและออกมามองอยู่ไกล ๆ ว่า “ลุงจะเอายังไง” สำหรับผู้เขียนแล้วขอตั้งขอสมุตติฐานเพื่อการวิเคราะห์ไว้ดังนี้ว่า “ลุงตู่น่าจะถูกบังคับให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยความอึดอัดใจ และคงจะพิจารณาไม่อยู่ต่อแม้ว่าจะถูกบังคับรุนแรงเพียงใด” โดยมีเหตุผลในการยืนยันสมมมุติฐานดังนี้ (ขออนุญาตใช้วิธีการแบบที่นักวิชาการเขาใช้กัน คือการวิเคราะห์จะต้องมีสมมุติฐานหรือความเชื่อที่ต้องพิสูจน์)

ประเด็นแรก ลุงตู่ก็เหมือนผู้นำทหารที่วางตัวดีมาโดยตลอด แต่เมื่อหน้าที่บังคับ(หน้าที่ปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์)ก็ต้องออกมาทำรัฐประหาร พอทำแล้วก็อยากจะวางตัวให้ดี โดยบอกว่าไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง(นายกรัฐมนตรี) พอดีกับที่มี “เหตุการณ์สำคัญ” ที่ต้องดูแล จึงต้องอยู่ในตำแหน่งมาด้วยความยินยอม แม้จะถูกโจมตีอย่างรุนแรงก็ยอมทน เพื่อทำหน้าที่ “ที่ได้รับมอบหมาย” ให้ดำเนินต่อไป

ประเด็นต่อมา การเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนลุงตู่ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้เป็นไปด้วยความยินยอมพร้อมใจของลุงตู่ แต่เป็นเรื่องของนักการเมืองและทหารบางคนที่อยากมีอำนาจต่อไป แต่เพราะต้องอาศัยลุงตู่ จึงต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ลุงตู่รับเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป และลุงตู่คงจะเอือมระอากับสิ่งนี้พอควร ซึ่งถ้าลุงตู่ประกาศไม่อยู่ต่อก็จะเป็นไปด้วยเหตุผลข้อนี้

ประการสุดท้าย แม้ว่าลุงตู่จะมีจุดอ่อนในเรื่อง “พี่ ๆ และบริวาร” แต่ก็มีจุดแข็งในเรื่องที่ไม่ยอมทนต่อการทุจริตคดโกง นั่นคือรัฐมนตรีในรัฐบาลของลุงตู่ไม่กล้าที่จะทำอุจาดอะไรมากนัก จึงทำให้มีปัญหาบ้างกับนักการเมืองบางกลุ่มบางคน แต่กระนั้นก็ยังถือว่าลุงตู่มีภาวะผู้นำโดดเด่นเหนือคนอื่น ดังนั้นถ้าลุงตู่จะอยู่ต่อก็จะต้องเกิดสภาพแบบหลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คือต้อง “โอ๋ลุงตู่” ให้ลุงกลับมาเป็นที่รักมาก ๆ ของหลาย ๆ คนดังเดิม ซึ่งก็เชื่อว่าเป็นไปได้ยาก เข้าทำนอง “แก้วที่ร้าวแตกไปแล้ว” ยากจะกลับคืนสภาพดีดังเดิม

โดยสรุปก็คือ ลุงตู่ถูกมอมให้เสพติดในอำนาจ ถ้าอยากเลิกก็ต้องเลิกเอง หรือก็ต้องไป “ถ้ำกระบอก” ซึ่งสัปดาห์หน้าจะมาบอกว่าที่นี่นั้นอยู่ที่ไหน