ทวี สุรฤทธิกุล “เหมาลำ ที่นั่งชั้นหนึ่ง คาเวียร์ และเงินหลวง” หลายคนที่เกิดมาร่วมสมัยกับผู้เขียนคือมีอายุกว่าๆ 50 คงพอจะทราบถึง “หายนะ” ที่เกิดกับผู้นำจำนวนมากด้วยเหตุที่ผู้นำเหล่านั้น “กระทำการบางอย่าง” อันเริ่มด้วยความอิจฉาริษยา ตามมาด้วยการนินทาว่าร้าย กระจายเป็นความเกลียดชัง สร้างความคลั่งให้กับสังคมออกมาต่อต้าน จนพบ “หายนะ” ในที่สุด ผู้เขียนเกิดมาในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กำลังเรืองอำนาจ ที่ว่ากันว่าเป็นนายทหารที่มีอำนาจ “น่ากลัว” ที่สุด สามารถควบคุมอาชญากรและข้าราชการได้อย่างสงบเรียบร้อย พร้อมกับมีคนเอาอกเอาใจจนมีความสุขเหนือเทวดา แต่กลับมาพ่ายแพ้ต่อ “สงครามนินทา” เพียงเพราะคนไปอิจฉาท่านที่ช่างมีความสุขเหลือเกิน กับการใช้จ่ายเงินหลวงอย่างสุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย มีอีหนูและบ้านเล็กบ้านน้อยนับร้อย ถึงขั้นมีคนไปแอบเห็น “รังรัก” ของท่านว่ามีผ้าข้าวม้าสีแดงตากไว้ให้เห็นอยู่เสมอ จึงเอามาล้อเลียนและเรียกท่านว่า “นายพลผ้าขะม้าแดง” ต่อมาเมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรมแล้ว รัฐบาลต่อมา(ซึ่งก็คือจอมพลถนอม กิตติขจร ลูกน้องของท่านเอง)ก็ดำเนินการทางกฎหมายเรียกเงินและทรัพย์สิน จำนวนกว่า 2,800 ล้านบาท(สมัยนั้นทองคำราคาบาทละ 400 บาท รถเก๋งญี่ปุ่นราคาคันละห้าหกหมื่นบาท)คืนจากท่าน ซึ่งในคำสั่งของศาลได้ระบุทั้งชื่อหญิงสาว บ้าน และรถยนตร์ ที่หญิงสาวเหล่านั้นครอบครอง จนเป็นที่ฮือฮาอย่างมาก จอมพลถนอม กิตติขจร ก็อยู่ในกงกรรมเดียวกัน แต่เพิ่มขนาดของ “ความอิจฉา” ด้วยผลประโยชน์ที่โปรยปรายไปในหมู่เครือญาติและบริวาร ดังจะเห็นได้จากการนำเรื่องนี้มาขยายความในช่วงก่อนเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 โดยได้นำเสนอเป็นประเด็นให้ประชาชนร่วมกันต่อต้าน “ทรราชย์” คือ “ถนอม-ณรงค์-ประภาส” ที่บุคคลที่สองคือบุตรชายของจอมพลถนอม ที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในกองทัพและในทางการเมือง ส่วนประภาสก็คือจอมพลประภาส จารุเสถียร “เพื่อนรัก” ที่สนิทกันเหมือนญาติร่วมสายโลหิตเลยทีเดียว ซึ่งผู้นำนิสิตนักศึกษาได้ขึ้นปราศัยโจมตีว่าบุคคลกลุ่มนี้จะนำหายนะมาสู่ประเทศไทยอย่างไร โดยที่ตอนหนึ่งในการชุมนุมประท้วงได้มีการจัดทำละครล้อเลียนให้เห็นถึงชีวิตที่น่าอิจฉาของนายทหารเหล่านี้และเครือญาติ ว่ามีความสุขความสบายเพียงไร (จนผู้ชุมนุมรวมถึงผู้เขียนด้วยคนหนึ่งต้องหัวเราะทั้งน้ำตา) ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ผู้นำแบบนี้ถูกนำชีวิตอัน “น่าอิจฉา” มาตีแผ่และประจาน เหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๔ ที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ขึ้นเสวยสุขในตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ผู้นำทหารหลายคนก็ถูกผู้ชุมนุมประท้วงและสื่อมวลชนนำชีวิตส่วนตัวมาตีแผ่ ถึงขั้นที่รัฐบาลต้องใช้อำนาจเด็ดขาดสั่งห้ามการเผยแพร่ข่าวสารทุกชนิดผ่านสื่อมวลชนทุกประเภท แต่กระนั้นด้วยความอ่อนด้อยตามกระแสโลกของทหาร คือหารู้ไม่ว่าโลกยุคนั้นเป็นโลกของข่าวสาร ไม่มีใครจะปิดกั้นความอยากรู้อยากเห็นของผู้คนได้ ที่สุดด้วยการสื่อสารจากนอกประเทศโดยระบบดาวเทียมและอินเตอร์เน็ต ร่วมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารแบบไร้สาย โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ ได้ทำให้การสื่อสารเฉพาะทางสามารถเข้าถึงผู้รับข่าวสารเฉพาะกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทั่งผู้เผด็จการใดๆ ก็เอาไม่อยู่ ที่สุดทหารที่ใหญ่คับฟ้าก็พ่ายแพ้ต่อ “ม็อบมือถือ” ไม่เพียงแต่ทหารใหญ่ๆ เท่านั้นที่เป็นเป้าอิจฉาของสังคม แม้แต่นักการเมืองที่ทำตัว “ใหญ่คับฟ้า” ก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน” ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายรัฐบาล อย่างกรณีล่าสุดก็คือ “ระบอบทักษิณ” ที่ต้องมาพังพาบไปเพราะสังคมยอมรับไม่ได้ในความร่ำรวยแสนมหาศาล แต่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และที่สังคมทนไม่ได้ที่สุดก็คือไม่ยอม “รับผิด” ตามกฎหมาย ในวิชาจิตวิทยาสังคมที่นักรัฐศาสตร์นำมาศึกษาเกี่ยวกับ “ความรุนแรงทางการเมืองอันเกิดมาจากอารมณ์ของสังคม” กล่าวถึงปัจจัยที่อารมณ์ทางสังคมได้นำมาซึ่งปรากฏการณ์ต่างๆ ทางการเมืองว่า โดยเหตุที่การเมืองคือการแข่งขันกันแสวงหาอำนาจและสร้างความนิยมจากประชาชน จึงเป็นปกติอยู่แล้วที่จะมีการ “โจมตี” ซึ่งกันและกันระหว่างคู่ต่อสู้ต่างๆ ในทางการเมือง แต่ด้วยความสามารถที่แตกต่างกัน จึงทำให้คู่ต่อสู้เหล่านั้นมีประสิทธิภาพในการ “ฟาดฟัน” ที่แตกต่างกัน มีการนำทฤษฎีข้างต้นนี้มาอธิบายว่า การต่อสู้ทางการเมืองในยุคต่อไปจะมีการใช้ “สื่อเฉพาะกลุ่ม” จำพวกโซเชียลมีเดียต่างๆ มาสร้าง “วาทกรรม” คือเรื่องราวต่างๆ พร้อมกับการเล่าเรื่องและการให้ความหมาย ที่มีการสื่อสารเฉพาะในกลุ่ม โดยที่ไม่สนใจข่าวสารจากกลุ่มอื่นๆ (โดยเฉพาะกลุ่มฝ่ายตรงข้าม) ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองจะมีความรุนแรงมากขึ้น แม้แต่รัฐที่เชื่อกันว่ามีความเข้มแข็งที่สุด(อย่างรัฐทหาร)ก็ “เอาไม่อยู่” เพราะอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในรูปแบบ “อารมณ์กลุ่ม” นี้ร้ายแรงยิ่งนัก วิธีป้องกันและแก้ไขมีหนทางให้เลือกไม่มากนัก วิธีที่ดีที่สุดคือไม่สร้างเรื่องหรือมีพฤติกรรมที่ “เป็นเป้า” ที่ใครๆ ต่อใคร(โดยเฉพาะศัตรู)จะเอาไปขยายผลหรือสร้างอารมณ์ร่วมต่างๆ ได้ หรือวิธีแก้ในระบอบประชาธิปไตยก็คือการเปิดกว้างทางการสื่อสาร และมีทัศนคติที่ดีต่อประชาชนทุกกลุ่ม ส่วนวิธีปิดกั้นข่าวสารและข่มขู่โจมตีผู้สร้างข่าวอย่างนั้นอย่างที่ระบอบเผด็จการชอบกระทำ ถือว่าเป็นอันตรายอย่างที่สุด เอามือปิดปากคนนั้นยากยิ่งกว่าเอามือไปบังฟ้า !