ทวี สุรฤทธิกุล

อำนาจเมื่อเสพติดแล้ว บ้างก็รักษาหาย บ้างก็รักษาไม่ได้

ท่านที่เรียนประวัติศาสตร์ไทยอาจจะมีความสนใจว่า ทำไมมีแต่เรื่องของการแย่งชิงอำนาจ โดยเฉพาะในสมัยอยุธยา แล้วนี่กระมังที่เป็น “มรดกตกทอด” มาถึงทุกวันนี้ ที่แม้แต่นักการเมืองก็แย่งชิงอำนาจกันอุดลุต รวมถึงที่มีการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่มีสิ้นมีสุด

ประเด็นนี้มีผู้พยายามอธิบายว่าเป็นผลจาก “นิสัยใจคอ” ของคนไทยด้วยส่วนหนึ่ง คือเรื่องของ “ความริษยา” หรืออิจฉาตาร้อน ไม่อยากเห็นใครได้ดีกว่าหรือเด่นกว่า คนไทยชอบแข่งขันเรื่องหน้าตา ชอบโอ้อวด ดังที่เห็นได้จากอวดบ้าน อวดลูกอวดหลาน อวดผัวอวดเมีย ทำให้งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานแต่งงาน รวมถึงงานบุญประเพณีต่าง ๆ ก็จะทำอย่างเอิกเกริก เปิดเครื่องเสียงดัง ๆ (สมัยโบราณก็มีแห่แหน มีประโคมมโหรี ตีฆ้องกลอง) ทำกับข้าวเลี้ยงคนทั้งหมู่บ้าน ใช้เงินมหาศาล แบบที่เรียกว่า “ฉิบหายไม่ว่า ขอเอาหน้าไว้ก่อน” อีกทั้งผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ในสมัยก่อนก็ชอบที่อวดข้าทาสบริวาร เวลาไปไหนมาไหนก็เอาข้าทาสเหล่านั้นแห่แหนเดินตามไปด้วย คล้าย ๆ กับว่าการมีข้าทาสเหล่านี้คือเครื่องประดับบารมี หรือ “อวดอำนาจ” นั่นเอง

ตอนที่ผู้เขียนทำงานอยู่ในสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ครั้งหนึ่งจะต้องมีการปรับปรุงชุดวิชาประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองไทย ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานบังคับเรียนสำหรับนักศึกษาปีที่ 1 ท่านอาจารย์พัทยา สายหู ที่เป็นกรรมการปรับปรุงอยู่ด้วยคนหนึ่ง (ท่านอาจารย์พัทยาได้ชื่อว่าเป็นปรมาจารย์ด้านสังคมวิทยาและเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสังคมไทย ท่านเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้) ได้ให้ภาพรวมของสังคมไทยว่า เป็นสังคมของ “ก๊ก ก๊วน พรรคพวก” คือกลุ่มสังคมที่เน้นการดูแลกันและกันเป็นลำดับชั้น ตั้งแต่ครอบครัว เพื่อนฝูง จนถึงในทางการเมือง โดยต้องมีหัวหน้ากับลูกน้อง ความสัมพันธ์ในกลุ่มจะไม่เท่าเทียมกัน ปกครองกันด้วยอำนาจ และมีความสัมพันธ์กันด้วยผลประโยชน์ คือผู้ที่เป็นนายหรือหัวหน้าจะต้องแจกจ่ายผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้ดี มิฉะนั้นบริวารในกลุ่มก็อาจจะแยกตัวหรือเปลี่ยนกลุ่ม อย่างที่สำนวนไทยกล่าวไว้ว่า “ข้าหลายเจ้า บ่าวหลายนาย” กระนั้น (อีกสำนวนหนึ่งคือ “หมาตายเห็บย้ายหนี”)

ผู้เขียนเป็นคนรับผิดชอบเขียนในส่วนประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงการปฏิรูปการเมือง พ.ศ. 2540 ก็นำแนวคิดของท่านอาจารย์พัทยามาเป็นกรอบในการหาข้อมูลแล้วนำมาเขียนเป็นตำราในส่วนนั้น โดยพบว่าตั้งแต่ที่คณะราษฎรยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็มีการรวบอำนาจไว้ที่กลุ่มคณะราษฎรเพียงกลุ่มเดียว รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ไม่ให้มีพรรคการเมืองอื่นมาแข่งขันกับคณะราษฎร แต่ในคณะราษฎรก็มีการแบ่งเป็นแยกเป็นแกนนำฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารและขัดแย้งกันอยู่ภายใน ที่สุดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็แตกแยกกัน เริ่มต้นพวกพลเรือนชนะได้เป็นรัฐบาลภายหลังที่สงครามโลกครั้วที่ 2 จบลงใน พ.ศ. 2488 แต่อีก 2 ปีต่อมาทหารก็ยึดอำนาจคืนมาได้ ในการรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ทว่าทหารเองก็มีการแข่งอำนาจกัน ระหว่างพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ กับพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วพลเอกสฤษดิ์เป็นฝ่ายชนะ และครองอำนาจสืบต่อมาจนถึงจอมพลถนอม กิตติขจร แต่ก็มาสิ้นอำนาจด้วยการขับไล่ของนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 แล้วก็มีการเลือกตั้งน พ.ศ. 2518 แต่บ้านเมืองก็ยิ่งวุ่นวาย ทำให้ทหารกลับมายึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กระทั่งมีการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2522 แล้วเข้าสู่ยุคการปรองดองระหว่างทหารกับพลเรือนมาจนถึง พ.ศ. 2531 ภายหลังที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประกาศว่า “ผมพอแล้ว” ปล่อยให้พลเรือนเข้าบริหารแบบ “บุฟเฟต์คาบิเนต” โกงกินกันมูมมาม จนทหารต้องออกมายึดอำนาจในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 แต่ก็มีความวุ่นวายภายหลังการเลือกตั้งในตอนต้นปี 2535 นำมาสู่การจลาจลในเดือนพฤษภาคมปีนั้น แล้วก็เข้าสู่ยุคปฏิรูปการเมือง ที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ. 2540

เหตุการณ์การเมืองไทยหลังจากนั้นก็เป็นที่ทราบ ๆ กันอย่างที่เราทราบกัน คือเราก็มีรัฐบาลพลเรือนที่ “โคตรโกง” ใน พ.ศ. 2544 ทำให้ทหารยึดอำนาจอีกครั้งใน พ.ศ. 2549 แล้วก็มีการเลือกตั้งในปี 2550 แต่บ้านเมืองก็ไม่สงบ นายกรัฐมนตรีบางคนก็เข้าทำเนียบไม่ได้ ท้ายสุดถึงสมัยรัฐบาล “นารีขี่ม้าขาว” ก็ถูกอัปเปหิพ้นทำเนียบ แต่ความขัดแย้งก็ไม่จบ กระทั่งทหารได้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเรียกประชุมคู่ขัดแย้ง แล้วก็ยึดอำนาจเสียเลยในวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 ที่ทำให้ได้ “นายกลุงตู่” นายกรัฐมนตรีที่น่าจะอยู่ไปยาวนานที่สุดได้ครองอำนาจมาจนถึงปัจจุบัน (ด้วยการทุบโต๊ะของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ตัดสินว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่นับเวลาการเป็นนายกฯของลุงตู่ก่อนหน้านั้น - ใครจะทำไม)

หลายคนรวมทั้งผู้เขียนคาดเดาว่าลุงตู่น่าจะพอกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้แล้ว และอาจจะประกาศลาออกเหมือนครั้งสมัยป๋าเปรม แต่พอศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาแล้วก็ดูลุงตู่กระปรี้กระเป่าขึ้นเป็นอันมาก ทั้งยังประกาศอภิมหานโยบายต่าง ๆ ที่จะต้องทำอีกหลายอย่าง ทำให้คิดไปได้ว่าแกคงจะอยู่อีกยาว แต่สำหรับความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเชื่อว่า แกยังต้องเป็นนายกฯต่อไปเพียงเพราะ “ถูกบังคับ” และ “จำยอม” และคงกำลังหาโอกาสที่จะลงจากตำแหน่งนี้อยู่ และทิ้งท้ายไว้ในบทความนี้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ถ้าลงจากอำนาจด้วยตนเองไม่ได้ก็ต้องไปหาที่พึ่ง ซึ่งผู้เขียนใช้คำสัญลักษณ์ว่า “วัดถ้ำกระบอก” จึงอยากจะมาขยายความไว้ในตอนท้ายนี้ และหวังว่าพอจะช่วยให้ลุงตู่สามารถลงจากหลังเสือได้อย่างสง่างามได้อีกทางหนึ่ง

“วัดถ้ำกระบอก” อยู่ในอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีชื่อเสียงมากว่า 60 ปีในเรื่องการรักษาผู้ติดยาเสพติด คนดัง ๆ รวมถึงดารานักแสดงหลายคนก็เคยมารักษาที่นี่ บ้างก็หายได้ บ้างก็ไม่หาย บ้างก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่วัดถ้ำกระบอกในนัยยะทางการเมืองที่ผู้เขียนอ้างถึงนี้ หมายถึงสถานบำบัดของผู้เสพติดอำนาจ ที่สามารถทำได้ด้วยการปลีกวิเวก คือถอยห่างออกจากอำนาจนั่นเอง ที่วัดถ้ำกระบอกจริง ๆ นั้นเขามีวิธีการที่คนที่ไปรักษาที่นั่นจะรู้สึกทรมานจนไม่อยากกลับเข้าไปรักษาอีก คือการทำให้ผู้ป่วย “สำรอก” (ภาษาชาวบ้านคือ “อ้วก” หรือ “อาเจียน”) เอายาเสพติดและพิษของมันออกมา ดังนั้นการที่จะทำให้ผู้คนที่เสพติดอำนาจละเลิกได้ก็ต้องให้สำรอกเอาอำนาจนั้นออกมาเช่นกัน

ถ้าลุงตู่ไม่อยากเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ก็ “สำรอก” มันออกมาให้หมดไส้หมดพุงซะเลย