การเมืองไทย”เป็นไป” และ “เปลี่ยนได้” ด้วยเงิน

                   ปัญหาของพรรคพลังประชารัฐเป็นตัวอย่างหนึ่งของ “สัจธรรม” ทางการเมืองไทย ว่าไม่มีพรรคใหญ่พรรคไหนที่จะมีอำนาจค้ำฟ้าตลอดไป ที่สำคัญพรรคใดพอใหญ่ขึ้นมาก็ยิ่งจะมีปัญหามาก เพราะการอยู่ร่วมกันในพรรคใหญ่ ๆ เหล่านั้นจะมีลักษณะแบบ “มุ้ง” คือเกาะกลุ่มเลี้ยงดูกัน มีเจ้ามือกับลูกมือ พอเจ้ามือหมดหน้าตักก็เปลี่ยนมุ้งไปหาเจ้ามือรายใหม่ เหมือนเห็บที่กระโดดหนีเมื่อหมาตัวที่เกาะอยู่นั้นตายไป แล้วไปเกาะกินเลือดหมาตัวใหม่ที่อ้วนพีกว่า นักการเมืองไทยจึงเปลี่ยนสถานะได้ง่าย ๆ แบบ “ข้าหลายเจ้าบ่าวหลายนาย”

                   ใน พ.ศ. 2528 ผู้เขียนได้เผยแพร่วิทยานิพนธ์ที่ทำไว้ตอนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท โดยความอนุเคราะห์ของพี่ ๆ สื่อมวลชน 2-3 ฉบับ วิทยานิพนธ์นั้นชื่อว่า “การต่อสู้ทางการเมืองของพรรคการเมืองไทย ศึกษากรณีพรรคกิจสังคม” แล้วก็มีพี่คนหนึ่งไปโปรยหัวข่าวว่า “งานวิจัยระบุพรรคการเมืองยิ่งใหญ่ยิ่งแตกง่าย” ซึ่งขณะนั้นพรรคกิจสังคมที่เป็นแกนรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็กำลังมีปัญหาแตกแยกกันในพรรค ที่สุดในเดือนธันวาคมปีนั้นท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม ทำให้มีการอ้างอิงวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวว่า “ทำนาย” อนาคตของพรรคกิจสังคมได้แม่นยำ

                   วิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวไม่ได้เขียนขึ้นด้วยวิชาโหราศาสตร์ เพียงแต่นำข้อมูลของประวัติศาสตร์การเมืองไทยของหลาย ๆ พรรคการเมืองมาเรียบเรียงเปรียบเทียบ ข้อมูลเหล่านั้นชี้ให้เห็นว่าพรรคการเมืองไทยหลายพรรคที่มีขนาดใหญ่มักจะพังได้โดยง่าย ตั้งแต่พรรคสหประชาไทยภายหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2512 ที่ ส.ส.เรียกร้องเอาค่ายกมือกันจนเป็นข่าว ก็มีการแบ่งกลุ่มกันไปเรียกร้องเอาค่ายกมือเอาจากรัฐมนตรีคนต่าง ๆ ที่สุดจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ทำรัฐประหารล้มระบอบรัฐสภาเสียในปี 2514 จากนั้นก็เป็นปัญหาของพรรคประชาธิปัตย์ในปี ๒๕๑๙ ที่ลูกพรรคเรียกร้องเอาตำแหน่งรัฐมนตรี จนนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถูกขนานนามว่า “ฤาษีเลี้ยงลิง” เพราะเอาลูกพรรคไม่อยู่ สุดท้ายก็ถูกทหารล้มสภาอีกในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ต่อมาก็เป็นรัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ใน พ.ศ. 2522 ที่ไม่ได้มีระบบพรรคการเมือง แต่การตั้งรัฐบาลก็เกิดจากการรวบรวมบรรดา ส.ส.กลุ่มต่าง ๆ ให้มาหนุน ซึ่งก็ต้องแจกจ่ายผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้ทั่วถึง กระนั้นก็ไปไม่รอด จนเมื่อพรรคกิจสังคมได้ขึ้นมาเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลใน พ.ศ. 2523 โดยหนุนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ปัญหาเดิม ๆ ของพรรคการเมืองไทยก็ประเดประดังมาสู่พรรคกิจสังคม นั่นก็คือการเรียกร้องเอาตำแหน่งและผลประโยชน์ต่าง ๆ พรรคกิจสังคมถูกปรับออกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2525 เพราะมีการคอร์รัปชั่น แล้วเมื่อเคลียร์ปัญหาก็กก็วนในพรรคได้ก็ได้กลับเข้ามาร่วมรัฐบาลใหม่ แต่กระนั้นปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะก๊กก๊วนใหม่ที่มียิ่งสร้างความแตกแยกขึ้นในพรรค อันนำมาสู่การลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในปลายปี 2528 นั้น

                   สมัยที่รุ่งเรืองพรรคกิจสังคมเคยมี ส.ส.กว่าร้อยคน แต่พอเลือกตั้งในปี 2531 มี ส.ส.เหลือเพียง 40 กว่าคน แม้ว่าจะได้ร่วมรัฐบาลในปีนั้น แต่ก็มาถูกยึดอำนาจอีกใน พ.ศ. 2534 พอมีการเลือกตั้งในปี 2535 ก็กระสานซ่านเซ็นไปอยู่พรรคอื่นจนแทบไม่เหลือความเป็นพรรค จนกระทั่งปี 2538 ก็เหลืออยู่เพียงสิบกว่าคน และไม่เหลือเลยสักคนในการเลือกตั้งปี 2544 ทว่าอดีต ส.ส.ของพรรคก็ไม่ได้ล้มหายตายจาก แต่ก็กระจายไปอยู่ตามพรรคการเมืองต่าง ๆ บางคนก็ตั้งตัวเป็น “หัวหน้ามุ้ง” ขึ้นได้ในบางพรรค รวมถึงที่บางคนก็ยอมไปเป็น “หัวจ่าย” ให้กับผู้นำรัฐบาล รวมทั้งที่ยอมเปลี่ยนนายเพื่อแอบซุกหาความปลอดภัยใต้ท็อปบู๊ต อย่างที่เห็นอยู่ในรัฐบาลปัจจุบันนี้

                   พรรคพลังประชารัฐในปัจจุบันอาจจะมีปัญหาแตกต่างจากพรรคกิจสังคมในอดีตอยู่บ้าง เพราะพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่ต้องอาศัยบารมีของอดีตผู้นำทหาร ซึ่งขณะนี้ก็กำลังอ่อนบารมีลงเรื่อย ๆ และยิ่งมีปัญหาเรื่องหัวจ่ายภายในพรรค “จ่ายไม่ออก” จึงมีข่าวว่าได้ไปอ้อนวอนให้อดีตสมาชิกที่เคยออกไปให้กลับคืนมาเป็นหัวจ่ายให้อีก แต่อดีตสมาชิกคนนั้นก็มีข่าวว่ากำลังจะไปเข้าด้วยกันกับฝ่ายตรงข้าม เช่นเดียวกันกับสมาชิกของพรรคพลังประชารัฐอีกหลายคนที่มีข่าวว่าจะย้ายออกไปจากพรรค เพื่อไปอยู่ใน “เซฟโซน” ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึง ปรากฏการณ์นี้เกิดจากเรื่องเดียวเท่านั้นคือ “เงิน”

                   พรรคพลังประชารัฐกำลังเข้าสู่ภาวะ “ล้มละลาย” บรรดาเห็บต่าง ๆ จึงพยายามกระโดดไปหาสูบเลือดในที่ใหม่ ดังจะเห็นได้จากที่มีบางคนไปเกาะพรรคระดับรองในรัฐบาล ที่เชื่อกันว่ามีเงินถุงเงินถังจากสัมปทานรัฐและการก่อสร้างต่าง ๆ มากกว่า รวมทั้งเชื่อกันว่าแกนนำของพรรคนั้น “ใจถึง” มากกว่า นอกจากนี้ก็มีข่าวพรรคเพื่อไทยกำลังระดมกำลังครั้งใหม่อย่างยิ่งใหญ่ที่สุด ถึงขั้นแม่ทัพหลวงจากบ้านจันทร์ส่องหล้าได้ออกมาบัญชาการอย่างเต็มตัว พร้อมกับส่งลูกสาวสุดรักขึ้นมาบนเวทีเลือกตั้ง ด้วยหวังจะปั้นให้เป็น “นารีขี่ม้าขาว” คนที่สอง ทำให้บรรดา “เห็บการเมือง” กระดี๊กระด๊ากันอย่างอึกทึก พากันกระโดดมาเกาะยังพรรคนี้กันมากมาย ภายใต้การสร้างกระแส “แลนด์สไลด์” ที่คงจะทำให้การเลือกตั้งในครั้งใหม่นี้ดุเดือดกว่าทุกครั้ง

                   อีกข่าวหนึ่งที่น่าสะดุดใจก็คือ เมื่อไม่กี่วันมานี้ กกต.ได้ประกาศยอดเงินที่มีผู้บริจาคให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ ผ่านการเสียภาษีให้กับกรมสรรพากร ปรากฏว่าพรรคก้าวไกลมียอดรายรับจากการบริจาคของประชาชนนั้นสูงสุด คือประมาณ 27.5 ล้านบาท ถ้าจะพิจารณาจากมิติทางการเมือง ก็คือพรรคก้าวไกลมี “คน” ให้ความนิยมมากขึ้น ซึ่ง “คน” ที่เน้นให้เห็นนี้หมายถึงคนทั่ว ๆ ไป ไม่ใช่บรรดานายทุนของพรรคที่ก็มีการบริจาคให้พรรคอยู่แล้วนั้น ความนิยมที่เพิ่มขึ้นนี้ย่อมตีความได้อีกว่า ผู้เลือกตั้งกำลังเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีรายได้ประจำ ไม่ว่าจะจากเงินเดือนหรือจากรายได้ในอาชีพต่าง ๆ ซึ่งบัดนี้ได้เป็นกลุ่มคนที่กำลังจะขึ้นมาเป็น “เสียงส่วนใหญ่” ทางการเมือง อย่างไรก็ตามหลายคนก็ยังเชื่อว่า “เงินเล็กเงินน้อย” เหล่านี้ ไม่อาจจะสู้ “เงินหนาเงินใหญ่” จากนายทุนที่ “แอบให้” นักการเมืองและพรรคการเมืองต่าง ๆ อย่างที่เป็นมาโดยตลอดนั้นไม่ได้หรอก กระนั้นก็มีคำถามว่าพวกนายทุนเหล่านั้นจะไม่ถูกกระชากหน้ากากออกมาบ้างเลยหรือ

                   ให้สังคมช่วยกันจับตาดูปรากฏการณ์ “แอบให้เงิน” ที่ว่ากันว่า อาจจะมีใครที่มีเงินมาก ๆ ยอมแจกจ่ายให้กับบรรดา “เห็บการเมือง” เพื่อปกป้องธุรกิจของเขา รวมทั้งที่มีข่าวว่าเป็น “นอมินี” ให้กับอดีตผู้นำหนีคดีที่กำลังจะให้ทายาทขึ้นสู่อำนาจนั้น “เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ?”

                   เพราะถ้าหากเป็นเรื่องจริง การเมืองไทยยุคต่อไปก็จะยิ่งน่ากลัวและยิ่ง “เลวร้าย” กว่าเดิม