ทวี สุรฤทธิกุล

มาทายกันว่าเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคการเมืองไทยจะมีกี่พรรค?

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ประเทศไทยปกครองด้วยระบบ “พรรคเดียว” ซึ่งก็คือ “คณะราษฎร” โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ห้ามไม่ให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองใด ๆ อย่างที่ประเทศประชาธิปไตยต้องมี จึงทำให้มีเพียงคณะราษฎรเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงกลุ่มเดียว ที่อาจจะเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “พรรคคณะราษฎร” นั้นก็ได้อีกด้วย

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คณะราษฎรล่มสลาย แกนนำคณะราษฎรฝ่ายทหาร คือจอมพล ป. พิบูลสงคราม หมดอำนาจ ทำให้แกนนำฝ่ายพลเรือน คือนายปรีดี พนมยงค์ ยึดกุมอำนาจได้ทั้งหมด และได้ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นำโดยท่านอาจารย์ มร.ว.เสนีย์ ปราโมช เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ คือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ซึ่งมีบทบัญญัติให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองได้ ทำให้การเลือกตั้งที่มีตามมาเกิดพรรคการเมืองขึ้นมากมายกว่า 20 พรรค ในตำรารัฐศาสตร์ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมทางการเมืองไทยแบบ “ข้าหลายเจ้า บ่าวหลายนาย” ซึ่งพรรคที่ตั้งขึ้นมาในยุคนั้นก็เพื่อสนับสนุนผู้นำ 2 คน คือนายปรีดี พนมยงค์ กับนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งก็เป็นแกนนำของคณะราษฎรด้วยกันมาก่อน พรรคการเมืองไทยจึงเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนเจ้านายของตัวเองโดยแท้ และยังอยู่ในสภาพนั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ที่เรียกว่า “ข้าหลายเจ้า บ่าวหลายนาย” เพราะพรรคเหล่านั้นตั้งขึ้นมาได้ไม่นานก็มีการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่นใน พ.ศ. 2489 พรรคต่าง ๆ กว่า 20พรรคนั้นก็แบ่งขั้วกันสนับสนุนเจ้านายฝ่ายละคน คือฝ่ายของนายปรีดีกับฝ่ายของนายกควง ดังกล่าว เสียดายที่ตั้งอยู่ได้ไม่นานก็ต้องยุบเลิกไป เพราะมีการรีฐประหารเพื่อคืนอำนาจให้กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปีต่อมา ไม่งั้นประเทศไทยเราก็อาจจะมีระบบ 2 พรรคเกิดขึ้นในรัฐสภามาตั้งแต่ในยุคนั้นก็เป็นได้ อ้อ และพรรคประชาธิปัตย์ที่คุณไตรรงค์ สุวรรณคีรี ได้ประกกาศลาออกเมื่อวันก่อน ก็ตั้งขึ้นมาใน พ.ศ. 2489 นั้น โดยมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคนั่นเอง

ต่อมาใน พ.ศ. 2495 ภายหลังที่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ทหารของจอมพล ป. เป็นผู้กำกับการยกร่าง ซึ่งก็มีบทบัญญัติให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองได้ ทหารก็ถือโอกาสนี้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาหลายพรรค เช่น พรรคเสรีมนังคศิลา ที่จอมพล ป.ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเอง (ไม่เหนียม ๆ เป็นอีแอบ หรือคอยหยิบชิ้นปลามันเหมือนในสมัยนี้) และพรรคชาติประชาธิปไตยของพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้น โดยมีแนวคิดคล้าย ๆ จะให้เป็นพรรคอะไหล่ของจอมพล ป. (แต่ความจริงเป็นพรรคที่ไว้ซ่องสุมทางอำนาจให้แก่พลเอกสฤษดิ์ เพราะในเวลาต่อมาหลังหารเลือกตั้งในต้นปี 2500 พลเอกสฤษดิ์ก็ทำรัฐประหารล้มจอมพล ป. ในข้อหาเลือกตั้งสกปรก ทุจริตในการเลือกตั้ง แล้วพลเอกสฤษดิ์ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีและจอมพลในเวลาต่อมา) และจอมพลสฤษดิ์ก็ปกครองประเทศแบบเผด็จการมาอีก 6 ปี เมื่อแกเสียชีวิตแล้วก็ส่งอำนาจต่อให้กับจอมพลถนอม กิตติขจร ปกครองแบบเผด็จการเหมือนกันนั้นมาอีก 6 ปี จนกระทั่งทหารยอมปล่อยอำนาจออกจากมือบางส่วน โดยให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ใน พ.ศ. 2511 และมีการเลือกตั้ง ส.ส. ในปีต่อมา

ถึงตรงนี้ก็อยากจะแทรกเรื่องที่ได้รู้มาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 สักเล็กน้อย เนื่องจากในตำรารัฐศาสตร์ที่ผู้เขียนร่ำเรียนมาไม่ได้กล่าวไว้ แต่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ผู้เขียนเคยทำงานเป็นเลขานุการของท่านอยู่ช่วงหนึ่งเคยเล่าให้ฟัง ท่านบอกว่าหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ได้อำนาจแล้ว แม้ว่าในทางการบริหารแกจะใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดรุนแรงมาก เพราะนายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2502 สั่งประหารชีวิตผู้คนได้ ที่เรียกในสมัยนั้นว่า “มาตรา 17” แต่ในทางการเมืองแกก็อยากจะให้มีการเลือกตั้ง เพียงแต่ต้องใช้เวลาตามสมควรที่จะวางแนวทางต่าง ๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แกจึงให้ตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นในปี 2502 นั้นด้วย โดยมีท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นกรรมการอยู่ด้วยคนหนึ่ง ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าน่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างยาวนานที่สุดในโลก คือกว่าจะมาประกาศใช้ได้ก็ใน พ.ศ. 2511 นั้นเอง โดยมีการเรียกประชุมคณะกรรมการยกร่างเพียงปีละ 2 - 3 ครั้ง และท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็เบื่อมาก เลยลาออกในเวลาต่อมา

ท่านบอกว่าตอนที่มีการประชุมครั้งแรก ๆ ท่านก็ได้เข้าไป “รับนโยบาย” คือมีการรับทราบกันว่าทหารต้องการที่จะให้รัฐธรรมนูญออกมาในแนวนั้นแนวนี้ ซึ่งท่านก็ไม่เชื่อ เพราะไม่คิดว่าทหารจะคิดอะไรลึกซึ้งขนาดนั้น เรื่องหนึ่งก็คือ อยากให้รัฐธรรมนูญสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็งมีเสถียรภาพ จึงไม่อยากให้มีความวุ่นวายในรัฐสภา ถ้าเป็นไปได้ประเทศไทยน่าจะใช้ระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว แบบสิงคโปร์หรือญี่ปุ่น รวมถึงไม่อยากให้ ส.ส.มายุ่งเกี่ยวกับการบริหารของรัฐบาลมากนัก อันเป็นที่มาของการเขียนให้แยกอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติออกจากฝ่ายบริหาร คือห้ามไม่ให้ ส.ส.มีตำแหน่งทางบริหาร คือเป็นรัฐมนตรีไม่ได้

ว่ากันว่าตอนที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ที่กองบัญชาการกองทัพบก ที่สมัยก่อนนั้นอยู่ตรงสวนรื่นฤดี ได้มีการกินเลี้ยงฉลองกันอย่างอึกทึกครื้นเครง นัยว่าดีใจที่ประเทศไทยจะมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง และมีรัฐสภาที่ดีคอยค้ำจุนสร้างความมั่นคงให้ แต่การกลับเป็นตรงกันข้าม เมื่อ ส.ส.ของพรรคสหประชาไทย ที่เป็นพรรคของรัฐบาลและครองเสียงมากอยู่ในสภา กลับยังเรียกร้องและก่อกวนรัฐบาลอยู่โดยตลอด เช่น ขอค่ายกมือในการผ่านกฎหมายหลาย ๆ ฉบับ ขอค่าเข้าประชุมพรรค (ว่ากันว่าก่อนการประชุมสภาก็จะมีการประชุมพรรคกันก่อน ซึ่งในวันประชุมพรรคนั้นจะต้องมีการเตรียมเงินใส่ซองไว้เพื่อ ส.ส.จะได้เข้ามาประชุม และถ้าหากกการประชุมสภามีกฎหมายสำคัญ ๆ ที่จะต้องลงคะแนน ซองในวันประชุมนั้นก็อาจจะหนาเป็นพิเศษ บ้างก็ว่ามีเงินในซองนั้น 10,000 - 20,000 บาท ในสมัยที่ทองคำยังมีราคาบาทละ 800 บาท) อนึ่งเงินพัฒนาจังหวัด ที่เรียกว่า “งบ ส.ส.” ก็มีใส่ไว้ในงบประมาณประจำปีในช่วงนั้น และเป็นประเพณีต่อมาอีกหลายรัฐบาล ที่จะให้เงินก้อนนี้ให้ ส.ส.ไปดูแลจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ได้ตามใจ จนถึงการประชุมพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณในปี 2514 ส.ส.ก็ขอเงินพัฒนาจังหวัดนี้เพิ่มอีก อันเป็นสาเหตุข้อหนึ่งที่รัฐบาลอ้างในการทำรัฐประหารเงียบในปลายปี 2514 นั้น ก็เพื่อล้มรัฐสภาที่แสนวุ่นวายนี่เอง

พรรคการเมืองคือปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของประเทศไทย คงจะต้องขอหยิบยกประวัติศาสตร์อีกบางส่วนมาเชื่อมโยงเข้ากับปัจจุบัน เพื่อชี้ให้เห็นว่าระบบพรรคการเมืองไทยนี้น “แย่” ขนาดไหน และเป็นเพราะอะไร “ด้วยน้ำมือใคร”

แย้ม ๆ ให้ทราบล่วงหน้าก็ได้ครับ ก็คือ “บาทา” เอ๊ย “หัตถาครองพิภพ(เจ้าเก่า)” นั่นเอง