ในลิ้นชักความทรงจำ /ยูร  กมลเสรีรัตน์

นักเขียน-นักกลอนอาวุโสผู้นี้ไม่เพียงแต่เขียนร้อยแก้วและร้อยกรองในนามปากกาต่าง ๆ กัน ตัวตนของ ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร มีบทบาทในสังคมหลายอย่างได้แก่ ร่วมจัดรายการกลอนทางสถานีวิทยุกับเพื่อนที่สถานีวิทยุเสียงสามยอด และสถานีวิทยุขส.ทบ ซึ่งในสมัยนั้นได้รับควานนิยมมาก

ครั้งทำงานการรถไฟฯ ยังเป็นผู้ควบคุมหน้าคอลัมน์กลอนในวารสาร รถไฟ  จุดนี้เองเป็นจุดกำเนิดของนักกลอนรถไฟ โดย ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร ได้รวบรวมนักกลอนรถไฟเข้าแข่งขันหลายครั้ง ส่วนใหญ่จะได้รับรางวัลกลับมามอบให้กับการรถไฟฯ นอกจากนี้ยังแต่งบทละครวิทยุและร่วมแสดงให้กับการรถไฟฯหลายเรื่องด้วยกัน

ในขณะที่กุมบังเหียนนายกสมาคมนักกลอนฯ ได้จัดลอยเรือถวายพระพรเป็นครั้งแรกในวันที่ 5 ธันวาคม โดยจัดขึ้นในตอนค่ำ  ด้วยเห็นว่าการลอยเรือถวายพระพรในลำน้ำ ไม่เคยมีใครจัดมาก่อน จะจัดลอยเรือบนบกทั่วประเทศ โดยมีวงดนตรีไทยร่วมขับร้องและบรรเลง  หนึ่งในนักดนตรีไทยรุ่นครู ซึ่งในภายหลังได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดงคือ ครูสุดจิตต์  อนันตกุล หรือสุดจิตต์ ดุริยประณีต)

ช่วงนั้นเองสมาคมนักกลอนฯ ได้จัดอบรมการแต่งกลอนสด โดยมุ่งไปที่ครูภาษาไทยและนักเรียนชั้นมัธยม มีผู้ให้ความสนใจ รวมทั้งประชาชนเข้ารับการอบรมการแต่งกลอนสดจำนวนมาก จึงได้จัดติดต่อกันมาหลายรุ่น

ในสมัยนั้นสังคมนักเขียน  นักกลอนและนักแต่งเพลงจะมีความสัมพันธ์กัน เรียกว่ารู้จักกันหมดว่าใครมีความสามารถและชื่อเสียงด้านไหน  จากการที่ ประสิทธิ์  โรหิตเสถียร มีความสามารถในการแต่งเพลงจนได้รับรางวัลชนะเลิศหลายรางวัล ทำให้มีโอกาสรู้จักนักแต่งเพลงและนักดนตรีหลายท่าน  ประกอบกับชื่อเสียงเลื่องลือในวงการกลอนอยู่แล้ว  จึงได้รับเชิญจากจากสมาคมนักดนตรีแห่งประเทศไทยให้ไปร่วมเป็นกรรมการตัดสินรางวัลแผ่นเสียงทองคำ

เกียรติยศในชีวิตอีกอย่างหนึ่งก็คือได้รับยกย่องจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์(ร้อยแก้ว ร้อยกรอง) เมื่อปี 2538  และรางวัลนราธิปจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยปี 2533

สิ่งที่ถือว่าเป็นมงคลกับชีวิตของ ประสิทธ์ โรหิตเสถียร ก็คือ ได้รับพระราชทานของที่ระลึกในฐานะกรรมการตัดสินรางวัล แผ่นเสียงทองคำ จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

รัชกาลที่ 9 และรับพระราชทานของที่ระลึก ในฐานะกรรมการตัดสินการอ่านทำนองเสนาะ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดโดยกรมศิลปากรมาเป็นระยะเวลายาวนาน

ผลงานเรื่องสุดท้ายของ ดาเรศร์ คือนวนิยายเรื่อง “กุยเล้ย” ที่เขียนไว้จนจบก่อนเสียชีวิต  แต่ใช้นามปากกา “ไท เทพราช”  ธาดา เกิดมงคล บรรณาธิการนิตยสารบางกอก รายสัปดาห์โทรศัพท์ไปขอ  เพื่อตีพิมพ์ในนิตยสารบางกอก ในวาระที่นิตยสารบางกอกขึ้นปีที่ 55

นวนิยายเรื่อง “กุยเล้ย” ประเดินตอนแรกในนิตยสารบางกอก ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน  2555  หากบรรณาธิการเปลี่ยนไปใช้นามปากกา”ดาเรศร์” เพราะเป็นนามปากกาที่เปรียบเสมือนแม่เหล็กดึงดูดคนอ่าน ในบทบรรณาธิการได้โฆษณาให้แฟนบางกอกรู้ข่าวในการกลับมาเยือนบ้านหลังเก่าซึ่งนามปากกา “ดาเรศร์” ถือกำเนิดที่สนามบางกอกแห่งนี้  ดังตอนหนึ่ง...

“บางกอกทูอินวัน ฉบับนี้เป็นฉบับขึ้นปีที่ 55 ฉบับที่แล้วเกริ่นนำไว้ว่า ฉบับขึ้นปีที่ 55 นี้ให้คุณคุณผู้อ่านรอลุ้น รออ่าน กุยเล้ย นวนิยายเรื่องใหม่ถอดด้าม จากปลายปากกาของ ดาเรศร์ กันให้สนุกสนาน...”

มีข้อความโปรยนำเรื่องในนวนิยายเรื่อง “กุยเล้ย” ให้ชวนอยากติดตามอ่านว่า...

“แผ่นดินสยามของเรานั้น เป็นแผ่นดินแห่งความร่มเย็นเป็นสุขนัก หลายชาติหลายภาษาที่เข้าพึ่งความร่มเย็น สืบลูกสืบหลายเป็นผืนแผ่นดินทำกิน เขาย่อมสำนึกคุณแผ่นดิน โดยเฉพาะคนที่เคยสวมหมวก...”

ปี 2555 ขณะที่นวนิยายเรื่อง “กุยเล้ย” กำลังตีพิมพ์ได้เพียงไม่กี่ตอน ประสิทธิ์  โรหิตเสถียร มีอาการเหนื่อยหอบและอ่อนแรงมาก ลูก ๆ จึงรีบพาส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทย์รีบทำการรักษา โดยให้ยาพ่นเพื่อขยายหลอดลม  แต่ไม่ได้ผล จึงเปลี่ยนเป็นใส่เครื่องช่วยหายใจ ผลเอ๊กซเรย์ออกมา ปรากฏว่า ปอดมีฝ้าขาวเต็มทั้งสองข้าง  เกิดจากการสูบบุหรี่จัดมาเป็นเวลานานหลายสิบปี 

“มันมาเร็วเหลือเกิน อาการของพ่อหนักมาก" อรสา โรหิตเสถียรเป็นผู้เล่า “มะเร็งร้ายเข้าคุกคามปอดทั้งสองข้าง การยื้อชีวิตของพ่อจึงเกิดขึ้น เครื่องช่วยหายใจ ยากระตุ้นหัวใจ เพื่อเพิ่มความดันที่ต่ำเหลือเกินในขณะนั้น ผลเลือดเป็นกรดสูงมาก  ทำให้มีโอกาสหัวใจหยุดเต้นสูง ทำไมมันเร็วขนาดนี้ ไอ้โรคบ้าเนี่ย มันเป็นอย่างนี้จริงๆ หลอกให้เราดีใจระยะหนึ่ง แล้วมันก็จู่โจมจนเราตั้งตัวไม่ทัน ทำใจไม่ได้”

เหตุที่ลูกสาว “ลุงประสิทธิ์” นิคเนมว่า “อ้อม” พูดในประโยคท้าย ๆ ว่า “หลอกให้เราดีใจระยะหนึ่ง” เพราะเมื่อปี 2533 ครั้งที่ผู้เป็นพ่อประสบอุบัติเหตุถูกรถเมล์ชนบริเวณท่าน้ำนนท์  ขณะไปเดินออกกำลังกายวันละ 4-5 กิโลเมตร ในวัย 80 ถือว่าแข็งแรงมาก  จนเกือบถูกตัดขา แต่โชคดีเมื่อเปลี่ยนไปรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทย์สามารถรักษาขาเอาไว้ได้

ในความโชคดีที่รักษาขาข้างซ้ายเอาไว้ได้ ก็มีความโชคร้ายเกิดขึ้น เมื่อคุณหมอตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจายของพ่อ อ้อมบอกเล่า แล้วรำพึงว่า “อีกแล้วเหรอโรคนี้” เพราะเมื่อปี 2546 ได้พาพ่อเข้ารับการรักษาโรคเนื้อร้ายที่ต่อมลูกหมากที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร  ช่วงที่นอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล “ลุงประสิทธิ์”ได้เริ่มเขียนนิราศชื่อ “นิราศโรงพยาบาล”เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2546  แต่เขียนไม่จบ  ด้วยเหตุผลสั้น ๆ ว่า

“เหงา ก็เขียนมันเล่น ๆ แต่พอออกจากโรงพยาบาล ขี้เกียจเขียนแล้ว”

ขอยกตัวอย่าง “นิราศโรงพยาบาล” ที่ให้ข้อคิดเล็ก ๆ อีกทั้งแฝงอารมณ์ขัน...

“ นิราศร้างห่างบ้านสะท้านจิต อยู่อยู่โรคก็รุกรานพาลประชิด ไม่เคยคิดเลยว่าจะมาเยือน เพราะที่แท้แต่เยาว์วัยถึงใกล้ฝั่ง จะเป็นมั่งแต่ไม่มากแค่กลากเกลื้อน หวัดมาสู่อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ไม่ต้องเคลื่อนย้ายเตียงเคียงพยาบาล...”

การกลับมาของมะเร็งร้ายที่คุกคามอย่างจู่โจมในปี 2555  ชั่วระยะเวลาเพียง 3 วัน-ในที่สุด นักเขียน-กลอนอาวุโสผู้มากความสามารถก็จากไปอย่างสงบ เป็นจากไปเพียงร่าง หากนามปากกา “ดาเรศร์” คู่เคียงกับ ประสิทธิ์  โรหิตเสถียร ยังคงส่งประกายแห่งตัวอักษรอันเรืองรองประดับวงการน้ำหมึกตลอดกาล

ในหนังสือ “ด้วยรักและอาลัย” ในงานพระราชทานเพลิงศพเมใอวันที่ 19 สิงหาคม 2555 มีนักเขียนและนักกลอนได้เขียนแสดงความไว้อาลัยหลายท่าน ขอยกตัวอย่างบทกลอนของนักกลอน 1 ใน 4 มือทองธรรมศาสตร์-นิภา บางยี่ขัน ซึ่งเพิ่งจากไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ด้วยวัย 83 ปี ปิดท้ายคอลัมน์...

“...คุณประสิทธิ์  โรหิตเสถียร

ทุกคำเขียนคมขำจนจำทั่ว

เรื่องเจือจานน้ำใจไม่เคยกลัว

ชีวิตตัวติดดินตราบวันตาย

เมื่อนักฆ่าขนตางอนนอนไม่ตื่น

เสียงฮาครืนสักวาก็ลาหาย

คนที่อยู่ข้างหลังยังเสียดาย

รำลึกลายหวานล้ำคำกวี”

 

“โลกเต็มไปด้วยความชั่วร้าย มิใช่เพราะมีคนทำสิ่งชั่วร้าย แต่เพราะมีคนยืนดูอยู่เฉย ๆ และปล่อยให้มีการทำสิ่งชั่วร้ายนั้น”(อัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์)