ทวี สุรฤทธิกุล

ประเทศไทยไม่เคยมีระบบพรรคการเมือง มีแต่ระบบ “พรรคพวก” ที่ทำให้การเมืองไทยล้าหลัง

อย่างที่ผู้เขียนได้นำเสนอมาเกี่ยวกับพัฒนาการของพรรคการเมืองไทย ตั้งแต่ยุคคณะราษฎรมาจนถึงช่วงก่อนปฏิรูปการเมือง พ.ศ. 2540 ก็พบว่าพรรคการเมืองไทยไม่ได้เป็นหลักเป็นฐานให้กับระบบรัฐสภาของไทยแต่อย่างใดเลย แต่กลับไปเป็นฐานอำนาจให้กับผู้นำทางการเมือง แม้กระทั่งยอมเป็น “ทาสเผด็จการ” หรืออยู่ภายใต้บงการของทหาร ซ้ำร้ายกว่านั้นคือระบบพรรคแบบ “หัวแหลกหัวแตก” เต็มไปด้วยพรรคเล็กพรรคน้อย ภายใต้วัฒนธรรม “ข้าหลายเจ้าบ่าวหลายนาย” ที่เปลี่ยนขั้วย้ายพรรคกันวุ่นวาย ทั้งยังเป็นต้นเหตุสำคัญของการยั่วยุให้ทหารยึดอำนาจ ด้วยความเหลวแหลกและการกระทำตัววุ่นวายนั้น

ดังนั้นในตอนที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จึงมีกระแสต่อต้านไม่ต้องการให้มีระบบพรรค ด้วยเหตุผลที่ว่าพรรคนั้นไม่ได้เป็นที่พึ่งของประชาชนแต่อย่างใด ในขณะที่อีกกระแสหนึ่งที่มาแรงคืออยากให้มีระบบพรรคใหญ่ที่เข้มแข็ง เพื่อเข้ามาแทนที่ระบบพรรคเล็ก ๆ ที่อ่อนแอ โดยเสนอให้มีการเลือกตั้งด้วยบัตร 2  ใบ เพื่อเลือก ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งใบหนึ่ง และแบบบัญชีรายชื่ออีกใบหนึ่ง พร้อมกับให้มีกฎหมายควบคุมและจัดการพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นอิสระมาดูแล ซึ่งก็ส่งผลให้พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง แม้จะยังไม่ได้เสียงเกินครึ่งแต่ก็เป็นเสียงข้างมากและได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งพรรคไทยรักไทยก็ใช้กลยุทธ์หลายอย่างบีบบังคับพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กให้เข้ามารวมเป็นพรรคไทยรักไทยอยู่เป็นระยะ กระทั่งถึงการเลือกตั้งอีกครั้งใน พ.ศ. 2548 พรรคไทยรักไทยก็ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย โดยได้ ส.ส.มา 377 คน จากจำนวน ส.ส.ทั้งสภา 500 คน ทำให้รัฐบาลที่ตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้งดูท่าว่าจะมีความเข้มแข็งดีมาก แต่การณ์กลับผิดคาด เพราะกลับกลายเป็นเป้าให้มี “ฝ่ายตรงข้าม” คิดโค่นล้ม

คำว่า “ฝ่ายตรงข้าม” ถ้าเป็นในระบบรัฐสภาแบบสากลก็หมายความถึงพรรคฝ่ายค้าน ที่ต้องทำหน้าที่ควบตุมและตรวจสอบรัฐบาล แต่สำหรับประเทศไทยกลับหมายถึง “กลุ่มคนที่ไม่ชอบรัฐบาล” โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกขนานนามว่า “อำมาตย์” ซึ่งก็มีทั้งนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ และพวก “อำนาจเก่า” ว่ากันว่าคนกลุ่มนี้อยู่เบื้องหลังของการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในปลายปี 2548 สืบเนื่องจนถึงต้นปี 2549 ที่เรียกว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ร่วมกับเกิดกรณีต่อต้านการขายหุ้นของตระกูลชินวัตรในบริษัทชินโทรคมนาคมให้กับบริษัทเทมาเสกของสิงค์โปร์โดยไม่เสียภาษีสักบาทเดียว จนรัฐบาลต้องประกาศยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนเมษายน 2549 นั้น แต่กระนั้นเหตุการณ์ก็ไม่สงบ เพราะยังมีการประท้วงรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง  ตั้งแต่พรรคการเมืองหลายพรรคไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ทำให้พรรคไทยรักไทยต้องไปจ้างพรรคเล็กให้มาเป็นคู่แข่งขันตามที่กฎหมายเลือกตั้งกำหนด รวมถึงที่มีการขัดขวางการลงคะแนนจนไม่สามารถลงคะแนนได้ในบางหน่วย และเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาก็มีการคัดค้านกันหลายเขต ความวุ่นวายตามท้องถนนยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย แต่มวลชนของทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่ยุติการชุมนุม ดังนั้นพอถึงวันที่ 19 กันยายน 2549 ทหารก็เข้ายึดอำนาจ ด้วยเหตุผลสำคัญเรื่องหนึ่งคือ เพื่อโค่นล้ม “ระบอบทักษิณ”

แม้ว่าการโค่นล้มระบอบทักษิณจะเป็นพันธกิจสำคัญของทหารชุดนั้น  แต่ด้วยความเชื่อว่าระบอบทักษิณน่าจะอ่อนแรงลงไป ดังนั้นหลังจากที่มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เสร็จแล้ว ก็กำหนดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในปลายปีนั้น พรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบไปก็ไปเซ้งพรรคพลังประชาชนมาสวมลงเลือกตั้ง แล้วก็ชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส.เข้ามากที่สุด คือ 233 คน จึงได้สิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ต่อมานายกรัฐมนตรี คือนายสมัคร สุนทรเวช ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะไปออกรายการทำอาหารทางโทรทัศน์และรับเงินค่าจ้างที่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่พรรคพลังประชาชนก็ไม่พ้นวิบากกรรม แม้จะเสนอชื่อให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทนนายสมัครได้ในเดือนกันยายน 2551 แต่ในเดือนธันวาคมปีนั้นพรรคพลังประชาชนก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรค ด้วยข้อกล่าวหาทุจริตในการเลือกตั้ง นายสมชายจึงต้องพ้นตำแหน่งไป โดยไม่ได้เข้าไปเหยียบที่ทำเนียบรัฐบาลเลย เนื่องจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลไว้ จากนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่บ้านเมืองก็ยังวุ่นวายเหมือนเดิม ถึงขั้นที่นายกรัฐมนตรีถูกม็อบเสื้อแดงล้อมทำร้ายจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด แต่รัฐบาลก็อยู่มาจนครบเทอมและมีการเลือกตั้งใหม่ใน พ.ศ. 2554

พรรคเพื่อไทยคือแกนใหม่ของกลุ่มระบอบทักษิณสามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้ในปีนั้น โดยได้สร้างประวัติศาสตร์ให้มีนายกรัฐมนตรีผู้หญิงคนแรกของประเทศไทย คือนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งก็ยังดำเนินนโยบายประชานิยมต่าง ๆ เหมือนแบบพี่ชาย เพื่อรักษาความนิยมในหมู่คนรักทักษิณนั้นไว้ แต่ในเดือนตุลาคม 2556 ก็มี ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อหวังจะให้นายทักษิณพ้นผิด จึงเกิดการต่อต้านอย่างหนัก และนำมาซึ่งการออกมาชุมนุมของ กปปส. การชุมนุมยืดเยื้อและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ที่สุดทหารก็เข้ายึดอำนาจอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ทหารคณะ คสช. ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศเป็นสัญญาว่าสร้างความปรองดองขึ้นในชาติ โดย “ขอเวลาอีกไม่นาน” ซึ่งก็ได้รับเสียงเชียร์ด้วยดี กระนั้นเมื่อมีการล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานยกร่าง ในปี 2558 ก็ทำให้สังคมบางส่วนชักจะไม่วางใจพลเอกประยุทธ์ที่กำลังคิดสืบทอดอำนาจ และก็เป็นไปตามความเชื่อของคนทั้งหลาย เพราะเมื่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เสร็จสิ้น ก็มีการเตรียมการเลือกตั้ง โดยผู้ที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ได้จัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ ด้วยการรวบรวมนักการเมืองหน้าเก่า ๆ ส่วนหนึ่ง ที่มีทั้งสีขาวและสีเทาเข้ามาอยู่ในพรคเป็นจำนวนมาก พร้อมกับการสร้างเครือข่ายพรรคเล็กไว้สำรองการสนับสนุน ซึ่งก็ประผลสำเร็จตามแผน เพราะในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ก็เครือข่าย “คนรักประยุทธ์” นี้ก็ได้เสียงเข้ามาเป็นจำนวนมาก แม้ว่าในทางตัวเลข พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.เข้ามามากที่สุด แต่ก็ได้เป็นเสียงข้างมาก และยิ่งฝ่ายคนรักประยุทธ์ยังมี “พรรควุฒิสภา” ไว้ค้ำจุนร่วมด้วย ก็ยิ่งรับประกันอนาคตของพลเอกประยุมธ์นี้ว่าจะมีความมั่นคงเหนือใคร ๆ อย่างแน่นอน

แต่ว่าความแน่นอนนั้นกำลังสั่นคลอน ด้วยพรรคพลังประชารัฐกำลังจะแตก และเครือข่ายคนรักประยุทธ์ก็ไม่ได้มั่นคงเข้มแข็งเหมือนก่อน ปรากฏการณ์ “พรรคแตก แยกหน่อ ก่อตัว” กำลังจะเปลี่ยนการเมืองไทย แต่จะดีขึ้นหรือเลวลงก็ขอไปว่าในสัปดาห์ต่อไป