แสงไทย เค้าภูไทย

แม้บิ๊กตู่จะถอนนโยบายให้นักลงทุนต่างชาติซื้อที่ดินไทยได้ออกไป แต่ก็ยังถูกด่าไม่เลิก ถึงขนาดหาว่าขายชาติ  ไม่ต่างจากบิล เกตส์  เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ ทั้งๆเป็นอเมริกันโดยสายเลือด แต่กลับโดนคนอเมริกันด้วยกันด่า ข้อหากว้านซื้อที่ดินเกษตรกรรม เข้าทำนองเบียดบังแย่งที่ทำกินคนจน

ก่อนหน้านี้บิลล์ เกตส์ ถูกสังคมจับตามองว่าฮุบที่ดินเกษตรกรรมทั้งๆที่ตัวมิใช่เกษตรกร

แต่ยังไม่มีปฏิกิริยารุนแรงเท่ากับเมื่อสามวันก่อนที่เขาถูกกลุ่มต่อต้านการถือครองที่ดินเกษตรกรรมของคนนอกภาคเกษตรกรรมต่อต้านรุนแรง

เกตส์ซื้อที่ดินในหลายรัฐรวมๆแล้วราว 269,000  เอเคอร์(ประมาณ 672,500 ไร่) คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1% ของที่ดินทั้งประเทศ โดยซื้อสะสมไว้เงียบๆ ในลักษณะปกปิด

แต่กระนั้น สังคมอเมริกันก็เสาะหาข้อมูลมาเปิดเผยจนได้ แต่ก็ยังไม่กล้าล่วงล้ำสิทธิส่วนบุคคลของเกตส์ เพราะเขาเป็นคนอเมริกันโดยสายเลือด

แต่มาระเบิดเอาเมื่อเขาไปซื้อที่ดินแปลงหนี่ง ในรัฐเซาต์จอร์เจีย อันเป็นที่ดินมรดกตกทอดกันมาถึง 5 ชั่วอายุคน กินเวลา 152 ปี

“ผมจะไม่ยอมให้เขายึดครองที่ดินเกษตรกรรมแม้แต่เอเคอร์เดียว” วิลล์  แฮร์ริส เป็นผู้นำกลุ่มต่อต้านเศรษฐีซื้อที่ดินเกษตร

นี่ขนาดเกตส์ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติแก่สังคม แก่มนุษยชาติ บริจาคเงินมหาศาลเพื่อสาธารณกุศลและเป็นหัวขบวนในการต่อต้านโลกร้อน ยังโดนเล่นงานเลย

ที่ดินที่ซื้อไปนั้น ซื้อในนามบริษัทหรือกิจการที่มีผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทสาธารณะ แต่คนก็รู้กันว่านั่นคือบริษัทของเกตส์

ตามกฎหมายแต่ละรัฐนั้น การถือครองที่ดินเกษตรกรรม (farmland) นั้น ผู้ถือครองจะต้องเป็นเกษตรกรเท่านั้น

อย่างรัฐนอร์ธดาโกตานั้น มีกฎหมายต่อต้านการถือครองที่ดินเกษตรกรรมโดยบริษัทต่างอาชีพ ที่เรียกว่า anti- corporate farming law เนื้อหาว่า ห้ามนิติบุคคล บริษัท ห้างร้าน ธุรกิจ กิจการเป็นเจ้าของที่ดินเกษตรกรรม

แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า บุคคลสามารถถือครองที่ดินได้ด้วยการเช่าจากเจ้าของที่ดิน คือไม่ให้ซื้อเป็นสิทธิ์ขาด

ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้เศรษฐี มหาเศรษฐี เป็นเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่  เนื่องจากไม่ได้มีส่วนร่วมในคุณค่าและมูลค่ากับรัฐ (share the state’s values.)

เกตส์แม้จะถือครองที่ดินไม่ถึง 1% ของประเทศ  แต่ก็เข้าข่ายเป็นผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ที่สุด

การที่มีกฎหมายป้องกันการผูกขาดถือครองที่ดินของมหาเศรษฐี ก็เพราะบรรดาเศรษฐี มหาเศรษฐี ล้วนมีกำลังซื้อมาก ได้เปรียบคนระดับกลางและล่าง

การที่รัฐบาลมีนโยบายและหลักการถือครองที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินเกษตรกรรมก็ เพื่อกระจายการถือครองที่ดินโดยทั่วถึง

ทำให้คนจน คนระดับล่าง มีโอกาสใช้ที่ดินเพื่อการผลิต มีการมีส่วนร่วมในมูลค่าของรัฐโดยทั่วถึง

ตอนนี้กำลังมีการพิจารณาว่าบริษัท Red River Trust ในเครือบริษัทของบิล เกตส์ ซื้อที่ดินแปลงปลูกมันฝรั่งของ Campbell  Farms ในนอร์ธ ดาโกตา จากตระกูลแคมป์เบลล์ มูลค่า 13.5 ล้านดอลลาร์นั้น ถูกต้องหรือไม่

ดูชื่อบริษัทแล้วก็น่าฉงน คำว่าทรัสต์ ในภาษาไทยนั้น หมายถึงบริษัทการเงิน เกตส์เอามาซื้อที่ดินเช่นนี้ จะเอาไปทำอะไร ?

เรื่องปลูกมันฝรั่งนั้น  มันไม่ใช่อาชีพของเขา

สหรัฐแม้จะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจากภาคอุตสาหกรรม แต่ก็ยังไม่ทิ้งภาคเกษตรกรรม

ที่ทำ  Trade War กับ Currency War สงครามการค้าสงครามการเงินกับจีน ก็ด้วยการเสียเปรียบดุลการค้าจีนมาก จึงตั้งกำแพงภาษีขาเข้าจากจีนและบีบให้จีนซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐฯมากกว่าเดิม

นี่แสดงถึงการไม่ทิ้งภาคเกษตรกรรม ไม่ทิ้งเกษตรกร ที่เป็นรากฐานดั้งเดิมของเศรษฐกิจสหรัฐ

บิล เกตส์ล  แม้จะทำเงินเข้าสหรัฐจากเครือบริษัทของเขามหาศาล แต่เมื่อข้ามล้ำเส้นมายังภาคเกษตรกรรมอย่างไม่ถูกต้อง ก็ถูกเล่นงานเหมือนกัน

ต่างจากที่รัฐบาลไทย ที่เคยมีดำริให้ต่างชาติซื้อที่ดินไทยได้ด้วยเงื่อนไขการลงทุน 40 ล้าน ได้ 1ไร่ โดยไม่ระบุว่าที่ดินแบบไหน  ซื้อที่นา ไร่ สวนหรือที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม

น่าเห็นใจบิล เกตส์ เหมือนกัน เป็นอเมริกันแท้ๆ แต่ซื้อที่ดินบนแผ่นดินอเมริกาโดยเสรีไม่ได้