ทวี สุรฤทธิกุล

เมื่อระบบพรรคไม่มีความสำคัญ การเมืองไทยก็ยังเป็นระบบ “ตัวใครตัวมัน” ต่อไป

พัฒนาการของพรรคการเมืองไทยที่ผู้เขียนพรรณนามาทั้งหมดนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะนำมาใช้พยากรณ์การเมืองไทยในการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ว่า น่าจะมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่สัก 3 เรื่อง

หนึ่ง การเลือกตั้งก็ยังคงเป็นระบบ “หลายพรรค” ซึ่งจะแตกต่างจากระบบหลายพรรคเมื่อการเลือกตั้งในปี 2562 อยู่มาก เพราะในปี 2562 มีพรรคใหญ่ที่เกิดใหม่ขึ้น 1 พรรค คือพรรคพลังประชารัฐ มีพรรคเก่าที่ยังแข็งแกร่งอยู่คือพรรคเพื่อไทย และที่อ่อนกำลังลงไปคือพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่เกิด “พรรคสำคัญ” ขึ้นหลายพรรค ในฟากฝ่ายที่หนุนอำนาจเก่าก็คือพรรคภูมิใจไทย ส่วนในฟากฝ่ายที่ต่อต้านอำนาจเก่าก็คือพรรคอนาคตใหม่ ที่ต่อมาได้ถูกยุบพรรคไปก็ได้เปลี่ยนเป็นพรรคก้าวไกล นอกจากนั้นก็มีพรรคเล็กพรรคน้อยอีก 10 กว่าพรรค ที่เกือบทั้งหมดก็มุ่งหวังที่ค้ำจุนฝ่ายอำนาจเก่าทั้งสิ้น

แต่ระบบหลายพรรคในการเลือกตั้งครั้งต่อไปนี้ น่าจะเหลือพรรคใหญ่เพียงพรรคเดียวคือพรรคเพื่อไทย โดยคำว่า “พรรคใหญ่” ในที่นี้หมายถึงพรรคที่คาดว่าจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยยังมีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นพอสมควร โดยพรรคที่ “เคยใหญ่” อื่น ๆ อย่างพรรคพลังประชารัฐนั้นกำลังอยู่ในภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด เช่นเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ก็มีเลือดไหลออกอยู่เรื่อย ๆ ส่วนพรรคภูมิใจไทยน่าจะเรียกว่า “พรรคกำลังใหญ่” เพราะกำลังเบ่งกล้ามมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาพรรคอย่างไม่ขาดสาย ในขณะที่พรรคก้าวไกลก็ยังต้องรอกระแส “ชังตู่ชูสามกีบ” ที่น่าจะเป็นได้ยาก รวมถึงพรรคเล็กพรรคน้อยต่าง ๆ ก็ยังมีอยู่ในจำนวนที่อาจจะไม่มากเท่าเดิม เพราะส่วนหนึ่งน่าจะถูกดูดเข้าพรรคที่เป็นแกน ๆ เหล่านั้นไปบ้าง ทั้งนี้พวกที่ยังเหลืออยู่ก็จะเป็นพวกที่ไม่มีใครเอา หรืออยากเสี่ยงดวงเบียดแทรกเข้ามาในสภาได้อีกครั้ง

สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติที่หลายคนมองว่า “มาแรงมาก” ผู้เขียนกลับมองว่าก็น่าจะสู้พรรคอย่างพรรคเพื่อไทยหรือพรรคภูมิใจไทยไม่ได้ รวมถึงก็สู้พรรคเก่า ๆ อย่างพรรคประชาธิปัตย์นั้นไม่ได้เช่นกัน เหตุผลก็คือพรรคนี้มีการรวมตัวกันค่อนข้างหลวม คนที่คาดหวังว่าจะเป็นหัว คือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ขอเป็นแค่ “ตาอยู่” คอยหยิบชิ้นปลามัน ในขณะที่หัวหน้าพรรคที่ชื่อนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ชื่อชั้นในทางการเมืองก็ยังเทียบพรรคการเมืองอื่น ๆ ไม่ได้ แม้แต่จะเทียบกับคุณพิธา ลื้มเจริญรัตน์ โดยพิจารณาจากความมีชื่อเสียงในหมู่ผู้เลือกตั้ง พรรคนี้จึงเหมือน “จรวดมิสไซล์หลายหัวรบ” ที่อาจจะมีบางหัวรบที่กระสุนด้าน หรือหวังมาเข้าพรรคนี้เพียงเพื่อหากระสุนเพิ่มเติมเท่านั้น แต่ที่แน่ ๆ คือมาเข้าพรรคนี้หวังจะได้มีตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ “ประยุทธ์” ซึ่งก็น่าจะอยู่ในตำแหน่งได้อีกไม่เกิน 2 ปี (ตามที่กำหนดวาระไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ให้อยู่ติดต่อกันเกิน 8 ปี)

สอง พรรคที่จะชนะเข้ามาเป็นเสียงข้างมากคงจะได้แก่พรรคเพื่อไทย เพราะมีฐานเสียงแน่นหนาในหลาย ๆ พื้นที่ พร้อมด้วยการบรรจุกระสุนสู้เต็มอัตราศึก ที่กล้ายิงอย่างชัดเจนกว่าทุกพรรค แต่การจัดตั้งรัฐบาลก็จะเป็นเหมือนเมื่อปี 2562 ที่พรรควุฒิสภาจะเป็นเสียงชี้ขาด จึงทำให้พลเอกประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีดังเดิม เว้นแต่จะมีปรากฏการณ์ “เปลี่ยนม้าศึก” อย่างในสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่วุฒิสมาชิกที่เคยหนุนพลเอกเกรียงศักดิ์ เกิดได้ “ข้อมูลใหม่” เปลี่ยนใจมาสนับสนุนพลเอเปรม ติณสูลานนท์ ที่สำคัญพรรคที่ได้เสียงมากที่สุดในพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล น่าจะได้แก่พรรคภูมิใจไทย แต่ด้วย “ความนอบน้อม” จึงยอมก้มหัวให้พลเอกประยุทธ์ แต่พรรคนี้ก็ยังจะเกาะกุมกระทรวงถุงเงินถุงทองไว้ดังเดิม ทั้งนี้อาจจะเป็นไปได้ว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล อาจจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ครบวาระ 8 ปีในปี 2568 หรือมิฉะนั้นก็ “หักเหลี่ยมโหด” ชิงเอาเสียเลยในภายหลังการเลือกตั้งนั้นเลย ด้วยการแปลงโฉมตัวเองให้เป็น “ข้อมูลใหม่” ที่ผู้คนต้องมาสนับสนุนอย่างไม่มีทางเลี่ยง รวมถึงที่อาจจะมี “ใบสั่ง” ให้พรรคต่าง ๆ ที่อยากเป็นรัฐบาล สนับสนุน “นายทหารคนใหม่” แทนที่พลเอกประยุทธ์ ที่อาจจะอยู่ในสภาพ “บ้อลัก” ไร้สมรรถภาพ หรือกำลังเสื่อมบารมีนั้นด้วย ทั้งนี้พรรควุฒิสภาก็จะยังคงเป็นหลักให้กับทุกรัฐบาลนั้น

สาม พรรคเพื่อไทยจะยังคงเป็นผู้นำฝ่ายค้านที่น่าจะอ่อนกำลังลง ร่วมกับพรรคก้าวไกลและแนวร่วมอื่น ๆ ที่น่าจะได้เสียงน้อยลงกว่าเดิม เพราะผลงานในสภายังไม่เป็นที่ประทับใจของบรรดาแฟนคลับ ที่อาจจะเปลี่ยนใจหันไปเชียร์พรรคใหม่ ๆ ในแนวทางนี้บางพรรค ซึ่งเวลานี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะตั้งขึ้นมา ซึ่งก็คงไม่ทันที่จะลงเลือกตั้งในครั้งที่จะมาถึงนี้ โดยเฉพาะถ้าหากมีการยุบสภาในช่วงก่อนที่จะสภาจะครบวาระในเดือนมีนาคมปีหน้า ดังนั้นพรรคการเมืองที่จะลงเลือกตั้งจึงต้องรีบเปิดตัว ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวของพรรคหลัก ๆ หลาย ๆ พรรคในเวลานี้ และก็คิดว่าน่าจะมีการยุบรวมพรรคเล็ก ๆ บางพรรคเพื่อความอยู่รอด โดยที่อาจจะไม่มีพรรคเล็กใหม่ ๆ เกิดขึ้น เว้นแต่พวกที่อยากเด่นดัง “เสนอหน้า” มาสร้างสีสันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าตัวแปรที่สำคัญ นอกจาก “หัวกระสุน” (คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี) กับ “กระสุน” (ปัจจัยที่จะใช้ทุ่มเอาชนะเลือกตั้ง)แล้ว อีกตัวแปรหนึ่งที่มีบทบาทยิ่งใหญ่เสมอในการเลือกตั้งก็คือ “กระแส” ทั้งนี้กระแสเดิมที่ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายที่เชียร์ลุงตู่ได้ ส.ส.เข้ามาเป็นกอบเป็นกำก็เป็นด้วย “ความสงบจบที่ลุงตู่” แต่พอมาถึงวันนี้กระแสที่มาแทนที่คือ “เบื่อตู่ที่อยู่ทน” คือความนิยมของพลเอกประยุทธ์นั้นได้ลดลงไปมาก เช่นเดียวกันทางเลือกอื่นในฝ่ายลุงตู่ก็ดูไม่กลมเกลียวกันนัก เพราะบิ๊กป้อมก็ทำท่าว่าอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง ในขณะที่มีฐานที่ไม่แข็งแรงพอทั้งในสภาและรัฐบาล โดยเฉพาะวุฒิสมาชิกน่าจะเป็นของบิ๊กตู่นั้นเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ก็ถึงเวลาที่จะต้องมีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกอีกรอบหลังจากเลือกตั้ง ส.ส.ไม่นาน ก็ยิ่งต้องสนับสนุนคนที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีชัวร์ ๆ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่แน่ว่าจะเป็นใคร เพราะนายกรัฐมนตรีและพวก “อำมาตย์” เท่านั้นที่จะเป็นผู้จัดการในเรื่องตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภานี้ได้

ส่วนกระแสของฝ่ายที่ไม่เอาบิ๊กตู่ตอนนี้ก็ยังเงียบ ๆ เว้นแต่จะมี “ความซวย” มาเยือนบิ๊กตู่ ที่ทำให้บารมีดับวูบไปในทันที หรือมี “เรื่องมหัศจรรย์” เกิดขึ้นกับฝ่ายต้านลุงตู่ ทั้งที่มีคนสร้างกระแสขึ้น ซึ่งในโลกดิจิทัลสมัยนี้สามารถทำได้ง่าย ๆ หรือมี “บุญญาธิการ” สร้างวีรบุรุษขึ้นมาได้ ก็น่าจะทำให้ “พลิกฟ้า พลิกแผ่นดิน” ได้เช่นกัน

จะเป็น “วีรบุรุษม้าหลากสี” หรือ “วีรสตรีม้าขาว” ก็น่าเป็นไปได้ เพราะก็เคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศของเรา