เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กระทรวงศึกษาธิการพยายามพัฒนาการศึกษา แต่จะเรียกว่า “ปฏิรูป” ได้จริงๆ ก็คงต่อเมื่อได้ปรับ “กระบวนทัศน์” แล้วเท่านั้น ถ้ายังคิดเหมือนเดิม ใช้สำนวนเพราะๆ อย่างไรก็เป็นเพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่เท่านั้น ถ้านับความพยายามปรับเปลี่ยนลักษณะนี้น่าจะมีมาหลายครั้งแล้ว ขอเอ่ยถึงเพียง 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อประมาณเกือบ 40 ปีก่อน ตอนที่รัฐบาลไทยขอกู้เงินจากธนาคารโลกเพื่อทำ “โรงเรียนชุมชน” นับเป็นความคิดที่น่าสนใจมาก แต่ไปๆ มาๆ เงินหมดก็เลิก ไม่มีอะไรต่อเนื่อง ครั้งที่สอง เมื่อสัก 20 ปีก่อน มีความพยายามส่งเสริมการศึกษาท้องถิ่น กระจายอำนาจให้โรงเรียน พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมของแต่ละแห่ง ให้มีวิชาการศึกษาท้องถิ่นโดยให้โรงรียนพัฒนาเนื้อหาและจัดกระบวนการเรียนรู้เอง ไปๆ มาๆ กรมวิชาการต้องกลับไปทำหลักสูตรให้เหมือนเดิม ครั้งที่สาม “เด็กเป็นศูนย์กลาง” เมื่อสิบกว่าปีมานี้เอง แต่ก็คงเกิดความมึนงงเหมือนสองครั้งก่อนเรื่อง “ชุมชน” และ “ท้องถิ่น” คราวนี้เรื่อง “เด็ก” ก็คงไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ครูบางคนนึกว่าให้เด็กเรียนเอง ครูไม่ต้องทำอะไร จนมีการแซวกันว่า ไม่ใช่ “ไชล์เซนเตอร์” แต่เป็น “ควายเซนเตอร์” มากกว่า ยุค คสช. มีการนำข้อมูลเปรียบเทียบกับประเทศทั่วโลกมาแสดงให้เห็นว่า เด็กไทยเรียนมากแต่รู้น้อย (เพราะสอนมากแต่เรียนน้อย) เรียนทั้งวันแล้วยังต้องทำการบ้านอีก วันหยุดก็ต้องไปเรียนพิเศษ เรียนแบบเอาเป็นเอาตาย แต่วัดผลความรู้แล้วได้เกือบที่โหล่ทุกที แพ้แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านที่ไทยชอบดูถูก การลดเวลาเรียนจะไม่เพิ่มเวลารู้ถ้ายังคิดเหมือนเดิม อาจจะลดเวลารู้ด้วยซ้ำ เพราะมีเวลาเรียนแบบเดิมน้อยลง ส่วน “กิจกรรม” ที่นำมาทำกันตอนบ่ายก็กลายเป็นเพียง “ติ่ง” ที่เอามา “เสริม” จนอาจเป็นเพียงการ “ฆ่าเวลา” ไม่ได้ถือว่าเป็นสาระสำคัญหรือเนื้อหาที่ต้องบูรณาการเข้ากับการเรียนรู้ทั้งหมด ทำไมเราไม่คิดว่า กิจกรรมหรือการปฏิบัติเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุด พ่อแม่ปู่ย่าตายายบรรพบุรุษของเราก็ถ่ายทอดสืบทอดภูมิปัญญากันมาด้วยการปฏิบัติ ไม่มีห้องสี่เหลี่ยมให้สอนหนังสือสอนวิชา การเรียนแบบวันนี้ทำให้ได้ข้อมูลมากและอาจได้ความรู้มาก แต่ไม่เกิดปัญญา เพราะปัญญามาจากการตกผลึกที่มาจากการปฏิบัติ เรียนรู้จนรู้แจ้งเห็นจริง จนสรุปเป็นหลักการ เป็นปรัชญา คำเดียวกับปัญญานั่นเอง ยิ่งวันนี้มีอินเตอร์เน็ท นักเรียนหาข้อมูลได้มากกว่าครู และถ้าหากเชื่อมข้อมูลเป็นก็จะได้ความรู้มากกว่าครูด้วยซ้ำ ครูวันนี้จึงมีความรู้ “แค่หางอึ่ง” ไม่ควรเป็นผู้สอนวิชาอีกต่อไป แต่เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ เป็นโค้ช เป็นพี่เลี้ยง เป็นเหมือนไม้ค้ำต้นไม้ให้เติบโตแข็งแรง ลมพัดมาก็ไม่ล้ม การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยการให้ความสำคัญกับกิจกรรมจึงควรเป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา ทำอย่างไรให้มีการปฏิบัติเพื่อเรียนรู้ ไม่ใช่เรียนรู้เพื่อปฏบัติ และไม่แยกกิจกรรมกับการเรียนรู้ออกจากกัน ไม่แยกการเรียนจากชีวิตจริง สิ่งที่ดร.เกริก มีมุ่งกิจทำที่สระแก้ว และกำลังแพร่หลายไปทั่วประเทศ คือ ปฏิบัติเพื่อเรียนรู้ ลงมือทำการเกษตรแล้วหาข้อสรุปทุกวันว่า ทำไปแล้วได้บทเรียนอะไร ทำไมเผาถ่านแล้วได้ขี้เถ้า ทำไมไม่มีน้ำส้มควันไม้ ดร.เกริกโด่งดังในโลกออนไลน์เพราะช็อคผู้คนว่า ทำเกษตรได้เงินวันละสองหมื่นก็ทำได้ แต่ยังขาดประโยคสำคัญต่อไป คือ “ถ้าลงมือปฏิบัติและเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงๆ ” (ไม่ใช่นั่งฝันเอา) การเรียนด้วยกิจกรรมคงไม่ใช่แค่ “อาชีวะ” แต่โรงเรียนประถมมัธยมทั่วไปก็ทำได้ อยู่ที่ว่า ครูคิดแบบบูรณาการเป็นหรือไม่ เชื่อมโยงกิจกรรมกับแนวคิดทฤษฎีต่างๆ ได้หรือไม่ ถ้าเริ่มจากกิจกรรมเด็กก็สนุก เรียนจากชีวิตจริง จากธรรมชาติ จากกิจกรรม คนที่เอา “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” มาใช้น่าจะยังคิดเหมือนเดิมว่า เวลาเรียนหมายถึงการนั่งในห้องสี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นการคิดแบบแยกส่วน ไม่เข้าใจ “องค์รวม” ไม่เข้าใจ “บูรณาการ” ที่ไม่แยกระหว่างการเรียนรู้กับชีวิต การปฏิบัติกับการเรียนแนวคิด ไม่ได้แยกห้องเรียนสี่เหลี่ยมกับห้องเรียนชีวิต นอกห้องหรือในห้องก็เรียนได้ทั้งนั้น แล้ว “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” แปลว่าอะไร ความจริง ตั้งกรอบเกณฑ์ตัวชี้วัดให้โรงเรียนต่างๆ ไปทำเลยก็ได้ว่า กิจกรรมการเรียนรู้ที่ควรทำไม่ว่าตอนเช้าหรือตอนบ่ายมีอะไรบ้าง เช่น เด็กไทยทุกคนต้องว่ายน้ำเป็น, เด็กไทยทุกคนต้องมีความรู้ความสามารถพื้นฐานในศิลปะป้องกันตัว, เด็กไทยทุกคนต้องปลูกพืช ปลูกผัก ทำอาหารสุขภาพเป็น, เด็กไทยทุกคนต้องรู้วินัยจราจร ฯลฯ แล้วเชื่อมโยงกับหลักการทฤษฎีวิชาต่างๆอย่างไร โรงเรียนสามารถสร้าง “ฐานเรียนรู้” สัก 12 ฐาน 15 ฐาน พร้อมรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ ที่เป็น “ตัวนำ” ไปสู่การเรียนรู้จักทำ รู้จักคิด โดยไม่ต้องแยกว่าตอนเช้าอยู่ห้องเรียน ตอนบ่ายอยู่นอกห้อง ความจริง หลายโรงเรียนก็กำลังทำหลายอย่างเพื่อพัฒนา “ทักษะชีวิต” และการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม แต่ก็เป็นเพียงโรงเรียนที่มีครูที่เข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นมาตั้งแต่โรงเรียนชุมชน การศึกษาท้องถิ่น เด็กเป็นศูนย์กลางแล้ว คือมีครูเก่งๆ อยู่จำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ทำได้ แต่นโยบายใหญ่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน แล้วจะปฏิรูปการศึกษาไปได้อย่างไร เด็กไทยไม่ได้โง่ตั้งแต่เกิด แต่ระบบการศึกษามีปัญหา การเรียนแบบท่องจำไม่ได้ช่วยให้คิดเป็น การศึกษาแบบนี้ไม่มีทางผลักดันให้สังคมไทยไปถึง 4.0 ได้ เห็นว่าอยากหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เอาให้หลุดจากกับดักการศึกษาแบบนี้ก่อนเถิด นี่คือหลุมดำของการพัฒนาจริงๆ