เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

ถ้าหนุ่มใน “กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่” เกิดในยุคนี้ และมีทัศนคติเป็นบวกต่อ “ความหิว” อย่างหลายคนในปัจจุบัน อาจจะไม่เกิดโศกนาฏกรรมที่เป็นตำนานดังกล่าว

โลกเปลี่ยนไป คนส่วนใหญ่คาดไม่ถึงว่า วันหนึ่ง การอดอาหารจะกลายเป็นปัจจัยเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ เป็น “ยารักษาโรค” “ลดน้ำหนัก” ที่ได้ผลยั่งยืน แบบมีวิทยาศาสตร์ยืนยัน จนกำลังแพร่หลายไปทั่วโลก

ความจริง มีการทดลองในหนูมานานแล้ว ให้หนูกลุ่มหนึ่งอดอาหาร กินแต่น้อย อีกกลุ่มหนึ่งไม่อด กินมาก ปรากฏว่า หนูที่อดอาหาร แข็งแรง ไม่เป็นโรค อายุยืน กลุ่มที่กินมาก ป่วย แก่ง่าย ตายเร็ว

มีการศึกษาชีวิตสัตว์ พฤติกรรมการกินการอด ไม่แต่หมีที่จำศีล 6-7 เดือน สัตว์อย่างเสือ สิงโต ก็ไม่ได้ล่าหากินเหยื่อทุกวัน เช่นเดียวกับมนุษย์ในอดีตที่ออกล่าสัตว์ ไม่ได้กินอาหารวันละ 3 มื้อ พร้อมเบรคของว่างอย่างวันนี้ มีวันที่มีกินและวันอด ก็ดูเหมือนจะเจ็บป่วยน้อยกว่าคนในยุคที่มีกินอย่างล้นเหลืออย่างในปัจจุบัน

การอดอาหารสำหรับคนสมัยก่อนไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เป็นเรื่อง “ธรรมดา” หาได้ก็กิน หาไม่ได้ก็อด เราจึงไม่เห็นคนอ้วนในยุคบุพกาล ความทันสมัยทำให้คนน้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วนและหลายโรค เริ่มยุคอุตสาหกรรมยุคที่มีเงินซื้อได้ทุกอย่าง อยากกินอะไรก็ไปตลาด ไม่ต้องไปไล่ล่าหาให้เหนื่อยอีก คนจึงหาเงินกันเอาเป็นเอาตาย หลายคนจึงตายสมอยาก เพราะทำงานหนักหรือกินมากเกินไป

การอดเป็นระยะ (Intermittent Fasting : IF) คือการอด 16 ชั่วโมง กินระหว่าง 8 ชั่วโมง กิน 2 มื้อ เช่น มื้อเช้ากับมื้อเที่ยง หรือมื้อเที่ยงกับมื่อเย็น หรือถ้าปรับจาก 16/8 เป็น 18/6 หรือมากกว่าก็ยิ่งดี บางคนทานอาหารเช้า 7-8 โมง อาหารเที่ยงบ่ายโมง โดยระหว่างมื้อจะไม่ทานอะไรอีกเลย ยกเว้นดื่มน้ำ และน้ำชา กาแฟ

การอดแบบ IF มีหลายแบบ ทั้งแบบที่ได้กล่าวมาข้างต้น หรือแบบอดทั้งวัน สัปดาห์ละหนึ่งหรือสองวัน หรือวันเว้นวัน หรือมากกว่านั้นในแต่ละเดือน มีข้อมูลหาได้ในเน็ต

มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์เรื่อง “การกินตัวเองของเซลล์” (Autophagy) ที่ได้รางวัลโนเบลเมื่อปี 2016 โดยชาวญี่ปุ่นชื่อ โยชิโนริ โอซุมิ ซึ่งพบว่ามีกลไกที่ทำลายและรีไซเคิลของเสียระดับเซลล์ภายในร่างกาย กลไกนี้จะทำงานเมื่อมนุษย์ทำการอดอาหารเป็นเวลาระยะเวลาหนึ่ง

คำกล่าวคนโบราณบ้านเราที่ว่า “กินน้อยตายยาก กินมากตายไว” ไม่ใช่พูดเล่น ได้รับการยืนยันทางการวิจัยว่า  ยิ่งกินมาก ก็ยิ่งทำให้ร่างกายสร้างอนุมูลอิสระ และทำให้เกิดภาวะที่ทำความเสียหายต่อเซลล์ ดีเอ็นเอ และร่างกายโดยรวม  ที่เรียกว่า “ความเครียดอ็อกซิเดชั่น” (oxidative stress)  

นี่คือภาวะและกระบวนการที่กระตุ้นให้ดีเอ็นเอ โปรตีน และเยื่อหุ้มเซลล์ในร่างกายอักเสบและเสียหาย เมื่อเกิดการอักเสบเรื้อรัง เซลล์ก็จะเริ่มเสื่อมและไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยการเสื่อมของเซลล์จะนำไปสู่ความผิดปกติและความเสี่ยงของโรคที่เพิ่มขึ้น อย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคสมองและระบบประสาท อย่างโรคพาร์กินสัน และโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เซลล์ผิวหนังเสื่อม  มีปัญหา หน้าตาดูแก่กว่าวัย

งานวิจยพบว่า การอดอาหารระยะสั้นลดภาวะดังกล่าวได้ดี และช่วยให้ร่างกายมีเวลาซ่อมแซมฟื้นฟูตัวเอง  เกิดฮอร์โมนเติบโต (growth hormone) ที่มีความสำคัญในการชะลอวัย เพราะคนอายุมากขึ้น ฮอร์โมนนี้จะลดน้อยลง ผิวหนังจะเหี่ยวย่น ฮอร์โมนนี้ช่วยเผาผลาญไขมัน เพิ่มกล้ามเนื้อ

การทำการอดเป็นระยะ (IF) ลดน้ำหนักได้ดีแบบยั่งยืน เพราะควบคุมอินซูลิน การกินทุกครั้งจะเรียกให้เกิดอินซูลิน ซึ่งทำหน้าที่นำน้ำตาลจากเลือดไปยังเซลล์ แต่เมื่อเซลล์มีเต็มแล้วก็เกิดการดื้ออินซูลิน ทำให้น้ำตาลยังอยู่ในเลือด และที่สุดเมื่อกินไม่หยุด โดยเฉพาะน้ำตาลและแป้ง ก็นำไปสู่โรคเบาหวานและโรคอื่นๆ

การแพทย์วันนี้พบว่า การอดเป็นระยะช่วยให้ลดน้ำหนัก และรักษาเบาหวานได้ แม้ว่าวงการแพทย์ทั่วไปอาจจะยังไม่ “ยอมรับ” เรื่องนี้ และยังถือว่า เบาหวานเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ต้องพึ่งหมอพึ่งยาไปตลอดชีวิต

นี่ก็เป็น “ตำนาน” และ “เรื่องเล่า” ที่ครอบงำผู้คนจนยากจะปลดปล่อยได้ อิทธิพลของธุรกิจยาและธุรกิจการแพทย์นั้นยิ่งใหญ่ด้วยผลประโยชน์มหาศาล

เบาหวานนี่เรื่องใหญ่ หากเปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตก็จะเปลี่ยน ถ้าเชื่อว่าเบาหวานรักษาได้ และทำการอด ลดน้ำตาล ลดแป้ง ดูแลอาหาร ออกกำลังกาย เบาหวานหายได้ น้ำหนักก็ลดลง  ความเสี่ยงต่อโรคร้ายอื่นๆ ก็ลดลง

ความจริง การกินน้อยครั้งไม่เกิดปัญหา โดยกินวันละสองหรือหนึ่งครั้ง กินให้อิ่ม การกินมากครั้งแม้ครั้งละน้อยก็เป็นปัญหา เพราะกินแต่ละครั้งจะเพิ่มอินซูลิน เกิดอนุมูลอิสระที่สร้างความเสียหายต่อเซลล์

ปัญหาใหญ่ คือ ทำอย่างไรให้คนเกิดสำนึกในเรื่องกินให้เป็น กินให้พอดี ในสังคมบริโภคที่กระหน่ำด้วยโฆษณาบ้าเลือด ทำให้อยากกินอยากดื่มไปหมด จนหลายคนเสพติดการกิน ซึ่งเป็นการเสพติดที่ไม่ได้รุนแรงน้อยกว่าการเสพติดอย่างอื่นเลย

คนไทยกว่าครึ่งจึงน้ำหนักเกิน (BMI ดัชนีมวลกายเกิน 25) หนึ่งในสามเป็นโรคอ้วน (BMI เกิน 30) เป็นเบาหวานประมาณ 5 ล้านคน แต่ที่ไม่รู้ ไม่ไปตรวจอีกเท่าไร โดยเฉพาะคนที่ใกล้จะเป็นเบาหวาน (prediabetic (100-125) กลุ่มนี้ไม่ดูแลตัวเอง ไม่นานก็เป็นเบาหวาน (น้ำตาล 126+)

คนไทยเราโชคดีที่มีอาหาร มีผักผลไม้ดีมีคุณค่ามากมาย แต่โชคร้ายที่เต็มไปด้วยสารพิษ  และผู้บริโภคก็ไม่เลือกอะไรที่ดีต่อสุขภาพ หรือทานมากเกินไป

ทัศนคติปรับได้ สมัยก่อนเคยคิดกันว่า คนอ้วนคือคนสุขภาพดี เด็กอ้วนพีชนะประกวด เป็นเถ้าแก่ร่ำรวย ต้องมีพุง วันนี้ความอ้วนกับพุงเป็นสัญญาณของโรค  คนทั่วโลกปรับทัศนคติเรื่อง “การอด” เพื่อสุขภาพกันแล้ว จะได้ไม่แก่ง่าย ไม่ตายเร็ว อายุยืนอย่างมีคุณภาพ