ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ยังคงนับว่าเป็นกระแสทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ในระดับ “ปรากฏการณ์” อันน่าทึ่งในพื้นที่ที่ดูเหมือนถูกนำเสนอแต่ปัญหาความไม่สงบเป็นด้านหลัก สำหรับแหล่งท่องเที่ยวน้องใหม่ที่มาแรงอย่างยิ่งช่วงที่ผ่านมา ถึงขั้นทำให้ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นที่รู้จักและเป็นที่จดจำของผู้คนทั่วประเทศ ในฐานะทำเลที่ตั้งของ “ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง” ซึ่งถูกกล่าวถึงกันในวงกว้างไม่เฉพาะเพียงในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ขยายปริมณฑลแห่งการรับรู้ไปทั่วประเทศ และกระจายสู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดเด่นเรื่องการเป็น “ทะเลหมอก 4 ฤดู” แห่งเดียวของประเทศไทย ที่ผู้มาสัมผัสไม่ว่าจะเป็นวันเวลาใด ก็สามารถสัมผัสทะเลหมอกได้แทบทุกคราครั้งไป กล่าวได้ว่า ปัจจุบันหากใครเป็นนักท่องโลกโซเชียลมีเดีย (Social Media) อย่างน้อยคงต้องผ่านหูผ่านตา ได้ยินหรือเห็นภาพกันมาบ้างแล้ว ตราบกระทั่งขณะนี้ ด้วยจุดเริ่มแรกจากการกล่าวขวัญถึงความงดงาม จากภาพของกลุ่มนักเดินทางจากทั่วสารทิศที่เดินทางมาสัมผัสเที่ยวชม กระแสทะเลหมอกอัยเยอร์เวง กำลังจะได้รับการพัฒนาก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะทั้งชุมชน หน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการดูแลรับผิดชอบพื้นที่แห่งนี้ ประกาศจับมือกันวางแผนจัดทำ “ระเบียงกระจก” หรือ “สกายวอร์ค (Sky Walk)” ที่ยื่นไปในอากาศแบบที่เรียกได้ว่าเป็นสถิติ “ยาวที่สุดในโลก” ด้วยงบประมาณกว่า 90 ล้านบาท หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วคนอัยเยอร์เวงหรือชุมชนคิดได้อย่างไรต่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่อีกครั้งคำถามนี้ถูกเฉลยโดย อารี หนูชูสุข ซึ่งสื่อมวลชนตั้งสมญานามให้ว่า “ปลัดนักอนุรักษ์ผืนป่าฮาลา-บาลา” แห่งองค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง แกนนำสำคัญที่จับมือกับชุมชนจุดกระแสทะเลหมอกจนติดตลาด บอกเล่าว่า จากการประชาคมของชาวตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ตั้งปี 2542 จนถึงปัจจุบัน ทุกครั้งจะพบว่า ปัญหาลำดับที่ 1 ของที่นี่ คือ ปัญหาเศรษฐกิจ อันได้แก่ ปัญหาสิทธิที่ทำกินและปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ แทนที่จะเป็นปัญหาความไม่สงบซึ่งรั้งท้ายไปอยู่ลำดับที่ 5 นั่นจึงทำให้เกิดการริเริ่มหาแนวทางกระตุ้นตำบลที่ตั้งอยู่แสนห่างไกลกรุงเทพมหานคร กว่า 1,300 กิโลเมตร แต่มีชายแดนติดมาเลเซียถึง 2 ฝั่ง ทั้งทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ด้วยการแสวงหาจุดแข็ง คือ การมีต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ งดงาม พรั่งพร้อมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวอันซีนกว่า 33 รายการ มาเป็นจุดขายสำคัญ เพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้ามาสัมผัสพื้นที่ ภายใต้วิสัยทัศน์ “อเมซอนแห่งอาเซียน” คือ ภายในปี 2562 ตำบลอัยเยอร์เวง จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ “ระดับอาเซียน” ทั้งนี้พิจารณาจุดเด่นของพื้นที่โดยรวมจะพบว่า จากบ่อน้ำร้อนนากอ น้ำตกเฉลิมพระเกียรติฯ ร.9 มาสู่ผืนป่าฮาลา-บาฮาลา สู่หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 เรื่อยมาจนกระทั่งมาจุดติดที่ “ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง” ได้รับการการันตีด้วยสื่อทุกช่องในประเทศที่ส่งทีมนักข่าวภาคสนามมาลงสัมผัสพื้นที่ว่า สถานที่แห่งนี้สวยงามจริงๆ ดังจะเห็นจากสถิตินักท่องเที่ยวมาเยือนตำบลอัยเยอร์เวงในรอบปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม พ.ศ.2559 มีอัตราเพิ่มเป็นจำนวนกว่า 180,000 คน มากน้อยอยู่ที่ข่าวลือและสื่อทีวีจะมาทำรายการประชาสัมพันธ์ ซึ่งหากคิดเฉลี่ยนักท่องเที่ยวมาพักโฮมสเตย์ มาทานข้าวยำ โรตี กาแฟโบราณ เช่า รถรถ เช่าเรือ เล่นเรือคายัค ที่มีมากกว่า 120 ลำ บนสายน้ำปัตตานีที่ไม่เคยเหือดแห้งเพราะตั้งอยู่บนพื้นที่บริเวณเหนือเขื่อนบางลาง คิดแค่หัวละ 100 บาท ก็สามารถนำเงินเข้ามาพื้นที่ถึงมือประชาชนโดยตรงถึง 18 ล้านบาท ยังไม่นับผลพลอยได้ที่ห้องหับโรงแรม ที่พักนักท่องเที่ยวในตัวเมืองเบตง ซึ่งกลับมาคึกคักตลอดทั้งปี จากปีละ 350,000 คน ขึ้นเป็น 600,000 คน ภายในปี 2559 ถือเป็นทางเลือกสำคัญที่ทำให้เมืองเบตงถูกเลือกเป็นหนึ่งใน “เมืองต้นแบบ” เบตง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของรัฐบาลปัจจุบัน จากที่ องค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง องค์กรท้องถิ่นเล็กๆ แต่ชอบคิดใหม่ และคิดใหญ่ๆ ได้วางแผนและแนวทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการของบฯ กลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จนสามารถร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ป่าไม้เดิม) สร้างหอชมวิว อาคารละหมาด และห้องน้ำ จนเกิดเป็นกระแส ต่อมาในโอกาสที่รัฐบาลเปิดโอกาส ประกอบกับทั้งทางจังหวัด และ นายดำรง ดีสกูล นายอำเภอเบตงนักพัฒนาขวัญใจมวลชน คอยให้กำลังใจ ส่งเสริมสนับสนุน องค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง จึงได้เสนอแนวทางทำโครงการศึกษาและออกแบบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทะเลหมอกอัยเยอร์เวง เพื่อหวังจะพลิกโฉมหน้าทะเลหมอกอัยเยอร์เวง รวมถึงเมืองเบตง ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับภูมิภาคอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2562 ทั้งนี้เพราะ องค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง มีแนวคิดหรือหลักการสำคัญที่ใช้ในการบริหารจัดการมาตลอดก็คือ โครงการทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ (Hierarchy of Needs Tseory) ของ มาสโลว์ (Abeaham Maslow) คือ (1) มนุษย์ความต้องการทางกาย ประชาชนต้องการรายได้เพื่อเลี้ยงปากท้อง เลี้ยงครอบครัวให้อยู่รอด ในขณะที่ นักท่องเที่ยวต้องการผ่อนคลาย พักผ่อน หลักหนีความจำเจแสวงหา สิ่งที่ตื่นเต้น เงียบ สงบ (2) นักท่องเที่ยวต้องการความปลอดภัยในขณะการท่องเที่ยวและพักผ่อน ประชาชนก็ต้องการการเหลียวแล สนใจจากราชการ จึงต้องทำการท่องเที่ยว (3) มนุษย์มีความต้องการทางสังคม ทั้งประชาชนและนักท่องเที่ยวมีความต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์ หรือพบปะเพื่อนใหม่ที่อบอุ่นและน่ารักขณะท่องเที่ยว (4) ประชาชนต้องการพัฒนาคุณค่าตนเอง ด้วยการเผยแพร่รู้วัฒนธรรม ประเพณี ของท้องถิ่นให้เป็นที่ยอมรับของคนภายนอก ในขณะนักท่องเที่ยวก็ต้องการเรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่นที่ไปท่องเที่ยว และ (5) ประชาชนต้องการความสำเร็จ ในการประกอบกิจการด้านการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวก็ต้องการเสริมสร้างประสบการณ์จากการท่องเที่ยวมาเติมเต็มให้กับชีวิต สำหรับตัวชี้วัดหรือเครื่องชี้วัดหรือเป้าหมายความสำเร็จของโครงการนี้นั้น เป้าหมายระยะสั้นก็คือ องค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง มีแบบแปลนก่อสร้างพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มาตรฐานและเป็นที่ดึงดูด เป้าหมายระยะกลาง คือ การที่แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ได้รับการพัฒนายอย่างได้ระดับมาตรฐานปลอดภัย และเป้าหมายระยะยาว ก็คือ นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวในพื้นที่ และประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน แผนจัดทำ “ระเบียงกระจก” หรือ “สกายวอร์ค (Sky Walk)” ที่ยื่นไปในอากาศแบบที่เรียกได้ว่าเป็นสถิติ “ยาวที่สุดในโลก” ยาวกว่าระเบียงแก้วของจีนประมาณ 2.5 เท่า และมีทะเลหมอกอยู่ใต้เท้าตลอดปี ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยผ่านการออกแบบระดับมาตรฐานมืออาชีพ มีการวางแผนปฏิบัติงานไว้เรียบร้อยแล้ว จึงนับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะมาเสริมสร้างจุดแข็ง-จุดขายให้กับพื้นที่ กลายเป็นแลนด์มาร์ค (Landmark) สำคัญ ซึ่งท้ายที่สุด สิ่งที่ผู้เขียนได้รับทราบข้อมูลจาก อารี หนูชูสุข ปลัด อบต.อัยเยอร์เวง คือ การวาดหวังว่าโครงการที่เอื้อต่อประชาชนโดยตรง ไม่ว่าดำเนินการอยู่แล้วหรือจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตต่อไป สามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ เอื้อประโยชน์ เพื่อให้เกิดความอยู่ดีมีสุข ก่อให้เกิดรายได้ เกิดการมีส่วนร่วม สร้างคุณประโยชน์อย่างยั่งยืนแก่ประชาชน