แสงไทย เค้าภูไทย

ช่วงนี้การกวาดต้อนส.ส.และตัวเก็งที่จะได้รับเลือกตั้งครั้งใหม่เริ่มซาลง น่าจะเหตุผลว่า ลงตัวกันเกือบหมดทุกพรรคแล้ว แต่มีใครคิดบ้างว่า คนที่เคยได้รับเลือกเป็น ส.ส.คราวที่แล้ว เมื่อย้ายพรรค คะแนนเสียงดั้งเดิมอาจไม่ตามมาเลือกอีก โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่อายุได้เกณฑ์มีสิทธิเลือกตั้ง

ทุกวันนี้ไทยเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ก็จริง แต่คนรุ่นเก่าสูงวัยที่มักจะฝังใจเลือกพรรคเก่าแก่ร่วมวัย ร่วมสมัยเริ่มร่อยหรอล้มหายตายจากไปมากแล้ว

ทิ้งลูกหลานและคนรุ่นใหม่รับภาระแทน

แยกแยะตามวัย จะพบว่า จำนวนประชากรไทยมากสุดอยู่ในช่วงวัย 25-54 ปี 29.84 ล้าน ( รวมทั้ง 2 เพศ ) คิดเป็น 45.10 % ซึ่งเป็นช่วงอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งเต็มรุ่น

รองลงมา ช่วงอายุ 1-14 ปี 16.49 % ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง อันดับ 3 คือช่วงอายุ 55-64 ปี 12.73 % และสุดท้าย ช่วงอายุ 65 ขี้นไป 12.73 %

จะเห็นได้ว่า ช่วงวัยที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นวัยรุ่น หรือเจน Y เจน X ซึ่งมีการรับรู้ข่าวสารบ้านเมืองและเป็นผู้มีการศึกษาสูง

คนกลุ่มวัยนี้ มักจะเป็นตัวของตัวเอง การตัดสินใจเลือกผู้แทนราษฎรก็มักจะตัดสินใจเอง ยากแก่การโน้มน้าวหรือซื้อเสียงได้

เพราะฉะนั้น ส.ส.หรืออดีต ส.ส.ที่เคยเป็นตัวเก่ง ตัวเก็งที่แจกกล้วย แจกค่าหัวให้ย้ายพรรคด้วยสนนราคา 5-10-30 ล้านนั้น  อย่าคิดอย่าหวังว่าเมื่อเปลี่ยนพรรคใหม่แล้ว ยังจะได้รับความนิยมเหมือนยังอยู่พรรคเดิม

การเลือกตั้งนั้น คะแนนเสียงที่ได้มาแบ่งเป็น 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือ คะแนนนิยมในพรรคหรือฅัวหัวหน้าพรรค ที่เรียกว่า คะแนนพรรค

อีกด้านหนึงคือคะแนนนิยมในตัวบุคคล คือตัวส.ส.หรือว่าที่ ส.ส.ที่ประชาชน ชาวบ้าน ชาวเมือง ชาวจังหวัดนั้นๆนิยมชมชอบโดยเฉพาะ อย่างที่ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับมาถล่มทลายในช่วงเลือกตั้ง ผู้ว่าการกรุงเทพมหานครเป็นต้น

สำหรับพรรคการเมืองที่ครองใจประชาชนนั้นคะแนนพรคคจะมีสัดส่วนมากกว่าคะแนนบุคคล

อย่างในอดีต ทศวรรษก่อนๆ คนที่อยากเป็น ส.ส.ภาคใต้มักจะแย่งกันเข้าพรรคประชาธิปัตย์ที่เสมือนเป็นพรรคประจำภาคใต้

ความนิยมในปชป.นั้น  ครั้งนั้นเปรียบเปรยกันว่า เอาเสาไฟฟ้ามาปิดเบอร์ ปชป. คนก็เลือกเสาไฟฟ้า

แต่เดี๋ยวนี้ไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ปชป.เสื่อมเสียจนคนเก่าคนแก่ของพรรคกระโดดหนีกันไปอยู่พรรคอื่นๆแบบเลือดไหลไม่หยุด

เหตุผลคือ ความนิยมต่อพรรคหืดแห้ง ทั้งนี้สมัยรุ่งโรจน์ประชาชนนิยมมากๆนั้น ปชป.เป็นฝ่านค้าน อภิปรายแต่ละครั้ง ดุเด็ดเผ็ดมัน ฟังกันสะใจ

พวกที่ย้ายพรรคไปอยู่พรรคอื่นจึงต้องตระหนักเอาไว้ว่า  ไปแล้วอาจไม่ได้กลับเข้าสภาฯอีก

เพราะพรรคเจ้าของพื้นที่ที่ตนจากมาย่อมจะต้องหาทางแก้เผ็ด หาตัวเด็ดๆมาลงสู้เพื่อรักษา พื้นที่

อีกทางหนึ่ง ประชาชนในพื้นที่ ก็อาจจะแก้แค้นหรือสั่งสอนอดีต ส.ส.ผู้นั้นด้วย เพราะพวกเขาเลือกเหล่านั้นเข้ามาก็เพื่อให้เป็น ส.ส.ในสังกัดพรรคที่เขาชื่นชอบ

อย่างไรก็ดี ตัวแปรสำคัญที่สุดก็คือ ช่วงวัยหรืออายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

อย่างที่นำมาให้เปรียบเทียบกันนั้น คนหนุ่มคนสาวยุคนี้มีสมอง มีความรู้ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง กระแสพรรคหรือตัวบุคคลไม่สามารถครอบงำหรือจูงใจได้

จะเห็นได้ว่าพรรคของคนรุ่นใหม่อย่างพรรคก้าวไกลนั้น กลายเป็นพรรคที่แซงพรรคเก่าๆขึ้นมาอย่ารวดเร็ว ก็ด้วยแรงส่งจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งวัยหนุ่มสาวจนถึงกลางคนที่มีการศึกษาสูง

เพราะฉะนั้น ที่ซื้อตัวกันไปนั้น ต้องตระหนักในกระแสนิยมของคนรุ่นใหม่ให้จงหนัก

ระวังเงินหลักล้านๆที่ซื้อส.ส.ตัวเต็งมาเข้าคอกนั้น จะเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า