เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

คุณสมบัติขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตให้อยู่รอดในโลกวันนี้มีอย่างน้อย 2 ประการ คือ หนึ่ง “อ่านออกเขียนได้หลายด้าน” (multiple literacy) สอง “คิดเป็นนามธรรมได้” (abstract thinking) เป็นสองด้าน หรือสองหน้าของเหรียญเดียว

อ่านออกเขียนได้เบื้องต้น คือ “ภาษาแม่” ของตนเอง และ “ภาษาอังกฤษ” ซึ่งถือว่าเป็นภาษาสากล การมีเครื่องแปลช่วยได้บ้าง โดยเฉพาะยามจำเป็น แต่ภาษาไม่ใช่สิ่งของหรือ “ของตาย” แต่เป็นรูปแบบชีวิต เป็นวิธีคิด เป็นวัฒนธรรม เป็นศาสตร์และศิลป์ที่สะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และจิตวิญญาณ

การรู้ภาษาอังกฤษไม่ใช่เพียงเพื่อจะได้ไปเที่ยวต่างประเทศ แต่เพื่อจะได้ไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง “ขาดทุน” ที่อ่านไม่ออก ฟังไม่รู้เรื่อง เพราะภาษาอังกฤษเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราวันนี้จนเป็นเรื่องปกติแล้ว ไปตามถนนหนทาง ป้ายต่างๆ มีอังกฤษ เปิดทีวี มือถือ ก็เจอภาษาอังกฤษเต็มไปหมด

อ่านออกเขียนได้อย่างที่สอง คือ “ภาษาดิจิทัล” ที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ มือถือ โซเชียลมีเดีย ไม่ใช่โทรออกรับเข้า เล่นเกม ดูหนังดูละครได้อย่างเดียว ไม่รู้จักใช้หาข้อมูลข่าวสารความรู้ที่มีประโยชน์

คลังสมองของโลกอยู่ในมือของเราแล้ว ถ้ารู้จักสืบค้นหาข้อมูล เราจะได้คำตอบแทบทุกเรื่องที่อยากรู้ ได้เทคนิคโนว์ฮาวที่ต้องการ ได้ “ครู” ได้ “โรงเรียน” ที่สอนทุกอย่างที่อยากเรียน อยากรู้ อยากทำ อย่างทำอาหาร แค่เปิดยูทูบก็หาได้ทุกสูตรอาหารไทยและเทศ ทั้งท้องถิ่นที่กินได้อร่อยดีทั้งนั้น อาหารสุขภาพดีมีเต็มไปหมด

รู้จักใช้มือถือ ใช้คอมพิวเตอร์ ก็เรียนรู้ ฝึกฝนตนเอง ให้เป็นนักกีฬาเก่งๆ อย่างจูเลียส เยโก นักพุ่งแหลนชาวเคนยา ที่ได้แชมป์โลกเมื่อปี 2015 ที่บอกว่า เรียนรู้จากยูทูบ

อ่านออกเขียนได้อย่างที่สาม คือ วิทยาศาสตร์ ความรู้ขั้นพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เชื่ออย่างมีเหตุมีผล มีหลักฐาน มีข้อพิสูจน์ เพราะโลกที่ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนอย่างท่วมท้นในสื่อใหญ่น้อย โซเชียลมีเดีย มีจริงมีเท็จ  มีทฤษฎีสมคบคิดที่แยบยล แยกแยะยาก ถ้ามีความรู้ก็จะไม่ถูกหลอกง่ายๆ ไปเสียทุกอย่าง

คิดเป็นวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่เพียงแต่รู้เรื่องฟิสิกส์ ชีววิทยา แต่รวมถึงศาสตร์ทุกแขนง แยกให้ออกว่าอะไรเป็น “วิทยะ” อะไรเป็น “ไสยะ”

อะไรเป็น “วิทยาศาสตร์” อะไรเป็น “ศิลปศาสตร์” ไม่ใช่ยึดหลักวิทยาศาสตร์แบบสุดโต่งที่สรุปว่า อะไรที่อธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ไม่ควรพูดถึงและ “เชื่อ” (ให้เสียเวลา)  ซึ่งพวกปรัชญาปฏิฐานนิยมที่ชื่นชมวิทยาศาสตร์เคยประกาศไว้ แต่สุดท้ายก็ยอมเลิกพูด เพราะชีวิตมีอะไรมากมายที่อธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ไม่ได้

คนที่คิดสุดโต่งมักจะผลักทุกอย่างที่อธิบายไม่ได้ให้เป็นเรื่อง “งมงายไสยศาสตร์” ไปหมด  การมีความรู้พื้นฐานหรืออ่านออกเขียนได้ทางวิทยาศาสตร์จึงต้องรู้จักแยกแยะด้วย เพราะวัฒนธรรมมนุษย์ที่สืบทอดกันมาล้วนปะปนระหว่างความรู้กับความเชื่อ จนบางครั้งพบว่า คนเราอยู่ด้วยความเชื่อมากกว่าความรู้ด้วยซ้ำ

วิทยาศาสตร์มีหลักตรรกะแบบหนึ่งที่อ้างว่าเป็น “ความรู้” แต่วิถีชีวิตบนฐาน “ความเชื่อ” ของชาวบ้าน มาจากฐานคิดเรื่อง “ความหมาย” มากกว่า “ความรู้” ชาวบ้านเชื่อเรื่องผี ผีไร่ ผีนา ผีป่า ผีเขา แม่โพสพ แม่ธรณี และอื่นๆ เพราะผีมี “ความหมาย” ต่อชีวิตของพวกเขา  คนละตรรกะกับวิทยาศาสตร์ คนละวิธี “พิสูจน์”

ด้านที่สองของเหรียญชีวิตวันนี้ คือ การคิดเป็นนามธรรม (abstract thinking) มีความจำเป็นต้องใช้ “คำ” ที่เป็น “คอนเซปต์” ที่แปลกันว่า มโนภาพ มโนทัศน์ หรือความคิดรวบยอด แล้วแต่จะแปล ถ้าไม่มีความรู้พื้นฐาน หรือรู้คำเหล่านี้น้อย ก็ต้องใช้เวลาอธิบายกันยาว เพราะต้องยกรูปธรรม ยกตัวอย่างมากมายมาประกอบ

วันก่อน อ่านเรื่องที่แชร์กันในโซเชียลมีเดีย คำถาม-ตอบของคุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ เรื่องความทุกข์ของลูกกตัญญู ถามยาวและตอบยาว น่าสนใจ จึงได้เขียนตอบเพื่อนที่แชร์เรื่องนี้มาในไลน์ว่า “คำหลักในเรื่องนี้มี เพียง 3 คำ คือ คุณภาพชีวิต, การต่ออายุ และการยื้อความตาย”  ไม่ได้เขียนอะไรอีก เพื่อนคงนำไปคิดต่อเอาเอง แต่ถ้าพบกันก็จะคุยเรื่องนี้ยาวๆ ได้ เป็นการ “อภิปราย” ขยายความ

คิดเป็นนามธรรมได้ เท่ากับมีเครื่องมือในการทำความเข้าใจกับเรื่องราวและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถคิดสรุปรวบยอด เพราะคอนเซปต์ คือ เครื่องมือเพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างความรู้ เหมือนวิศวกรที่มีเครื่องมือสร้างบ้าน ถ้ามีเพียงมีดกับค้อน ก็คงสร้างกระท่อมน้อยปลายนาได้ แต่สร้างบ้านหลังใหญ่ไม่ได้

คอนเซปต์ คือ เครื่องมือเพื่อให้คิดเป็น ยิ่งรู้จักคอนเซปต์มากและชัดเจน ก็เหมือนมีเครื่องมือดี ถ้าเป็นมีดก็คม ผมจึงได้ให้นักศึกษาใน “มหาวิทยาลัยชีวิต” เรียน “ร้อยคำที่ควรรู้” ให้อาจารย์ผู้สอนให้นักศึกษาเรียนอย่างน้อย 40 คำสำคัญที่ผมคัดเลือกให้

ที่มาสาเหตุที่เขียนหนังสือเล่มเล็ก “ร้อยคำที่ควรรู้” ฉบับกระเป๋านี้ เพราะวันหนึ่งไปหมู่บ้าน พูดคำว่า “องค์รวม” ก็มีชาวบ้านสูงวัยท่านหนึ่งถามว่า “องค์รวมนี่พระวัดไหนอาจารย์”

นักศึกษา “มหาวิทยาลัยชีวิต” ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ ผู้นำชุมชน ได้ยินได้อ่านคำศัพท์จากทางราชการบ่อยๆ ไม่ค่อยเข้าใจ อย่างคำว่า บูรณาการ องคาพยพ องค์รวม ประชาสังคม ธรรมาภิบาล โลกาภิวัตน์ คำที่คุ้นเคยแต่อธิบายไม่ได้อย่าง บริบท ศักยภาพ แวดวงธุรกิจก็พูดคำว่า พลวัต พลังร่วม (synergy) คลัสเตอร์ เป็นต้น

การเรียนรู้คอนเซปต์ คือ เรียนปรัชญาพื้นฐานนั่นเอง รู้จักวิธีคิดแบบต่างๆ รู้ว่าคิดแบบองค์รวม แตกต่างจากคิดแบบแยกส่วน แบบกลไก แบบลดทอน อย่างไร จะได้เข้าใจว่า สุขภาพองค์รวมคืออะไร ระบบนิเวศ การพัฒนายั่งยืน คำในตระกูลเดียวกัน เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของโลก ทั้งทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และทางสังคมอย่างไร  ทั้งนี้โดยไม่ต้องลงรายละเอียดถึงสำนักปรัชญาต่างๆ เลยก็ได้

สรุปว่า ถ้าเรา “อ่านออกเขียนได้หลากหลาย” และคิดเป็นนามธรรมได้ เราจะได้ “สามัญสำนึก” (คอมมอนเซนส์) เป็นพื้นฐาน มีข้อมูลความรู้พอประมาณ ก็จะได้กรอบ เกณฑ์ วิธีคิดที่เป็นภูมิคุ้มกันขั้นจำเป็น เพื่อรู้เท่าทันและเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต อยู่รอดได้ในโลกที่วุ่นวายและซับซ้อนนี้