เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

การแพทย์ยุคใหม่พบว่า สาเหตุของความเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ของคน คือ “ความชรา” เมื่อเซลล์แก่ตัว ทรุดโทรม เสียหาย ไม่แก้ไข หรือตายไปแล้วไม่เกิดใหม่มาทดแทนอย่างเพียงพอ แต่เมื่อพบวิธีฟื้นฟูเซลล์สำคัญได้ คนก็กลับเป็นหนุ่มเป็นสาวได้อีก ต่อไปคนคงจะอายุยืนอย่างมีคุณภาพเกินร้อยปี

แต่นั่นเป็นสาเหตุความเจ็บไข้ได้ป่วยของผู้ใหญ่ ขณะที่สาเหตุใหญ่ของเด็ก เยาวชน คนหนุ่มคนสาว คนที่ยังไม่ถึงวัยชรา คือ “โรคอ้วน” ที่ไม่ใช่ “ความอ้วน” ที่ดัชนีมวลกาย (BMI) 25-30 ถ้าเกิน 30 คือโรคอ้วน (วิธีหาดัชนีมวลกาย คือนำส่วนสูง x ส่วนสูงไปหารน้ำหนัก ต่ำว่า 25 ปกติ ต่ำกว่า 18 ผอมเกินไป)

เมื่อไม่นาน เกิดประเด็นขึ้นมาที่สหรัฐอเมริกา เรื่อง “ยาและผ่าตัด” เด็กอเมริกันเป็นโรคอ้วนถึง 15 ล้านคน ซึ่งเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิต และโรคร้ายอื่นๆ เมื่อโตขึ้น อเมริกันอะคาเดมีที่เกี่ยวกับเด็กออกมาบอกว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ เพื่อลดน้ำหนัก แก้โรคอ้วนไม่ได้ผลก็ควรใช้ยาและผ่าตัดช่วย ไม่ปล่อยให้เด็กต้องเจอปัญหาหนักกว่านี้ในอนาคต

ที่เป็นประเด็นเพราะพ่อแม่เด็กอ้วนที่พยายามแก้ปัญหาโดยการปรับพฤติกรรมของลูกเห็นว่า ข้อเสนอ “ยากับผ่าตัด” จะลดทอนความพยายามแก้ปัญหาโดยการปรับพฤติกรรมและไลฟส์สไตล์ของครอบครัวที่มีลูกอ้วน ซึ่งผลก็ออกมาเช่นนั้นจริง

แม้แต่โรงเรียนหลายแห่งก็ยังลดชั่วโมงพลศึกษา และกิจกรรมที่ให้เด็กได้ออกกำลังกาย เพราะถือคติว่า “หมอเป็นเทวดา ยาเป็นของวิเศษ” เป็นธุระของพ่อแม่ที่จะดูแล แม้ยายังมีราคาแพง และหายาก เพราะคนต้องการมาก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งๆ ที่ขณะนี้ประกันสุขภาพยังไม่ครอบคลุม

นับเป็นความสำเร็จของแพทย์พาณิชย์อเมริกันที่เคยได้ผลกับการประกาศลดคอเลสเตอรอลจาก 250 ลงไปที่ 200 ทำให้รวยจากการขายยาสตาตินไม่รู้อีกกี่ล้านล้าน คราวนี้เรื่องการลดน้ำหนักและแก้โรคอ้วน บอกว่า “ความอ้วน” เป็น “โรคทางกาย” ไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ มาจากพันธุกรรมและฮอร์โมน เป็นเหตุผลที่คนทั่วไปเชื่อและรีบซื้อยาหาหมอ เพราะง่ายกว่าการปรับพฤติกรรม เปลี่ยนไลฟ์สไตล์

เมื่อถูกประท้วง บรรดาคุณหมอก็ออกมาบอกว่า ไม่ได้แย้งกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ ขอให้ทำก่อนเถิด ถ้าไม่ได้ผลค่อยมากินยาหาหมอผ่าตัด

นอกนั้น คุณหมอยังสำทับอีกว่า โรคอ้วนในเด็กอย่าได้รีรอ เพราะจะส่งผลเสียต่ออนาคตของเด็ก จะมีปัญหาต่อการพัฒนาสมอง การเรียนรู้ เสี่ยงเป็นเบาหวานและโรคร้ายอื่นๆ  แล้วคุณหมอก็เสนอว่านอกจากยากิน ยังมียาฉีดที่ให้เด็กอายุ 12 ขึ้นไป ฉีดได้ทุกอาทิตย์ อายุ 13 ขึ้นไปผ่าตัดได้ แล้วก็มีการแสดงผลลัพธ์ว่า การวิจัยในเด็กเยาวชนที่กินยาผ่าตัด ทำให้ลด “มวลกาย” ได้ 16% ในเวลาไม่กี่เดือน ยิ่งทำให้คนเชื่อมากขึ้น

นี่คือปัญหาของสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้นำที่ประเทศทั่วโลกเดินตาม ด้วยตัวเลขที่มหาวิทยาลัยซีราคิวส์ของนิวยอร์กบอกเมื่อปี 2016 ประมาณว่าทั่วโลกมีเด็กเป็นโรคอ้วน 124 ล้านคน เทียบกับ 11 ล้านคนในปี 1975  เด็กอเมริกันเป็นโรคอ้วนมากกว่าประเทศอเมริกาเหนือและยุโรป

เด็กอเมริกัน 1 ใน 5 เป็นโรคอ้วนเพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่สนใจเรื่องสุขภาพ ไม่ปรับไลฟ์สไตล์ กินอยู่ตามกระแสค่านิยมสังคมบริโภค เห็นโฆษณาบ้าเลือดทุกวัน อาหารขยะเอย เครื่องดื่มเต็มไปด้วยน้ำตาลสารพิษ

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่กินดีแต่มีปัญหาคนเป็นโรคอ้วนถึง 1 ใน 3 ของประชากร โดยเฉพาะสตรีอเมริกันเป็นโรคอ้วนถึง 100 ล้านคน คนอเมริกันกว่าครึ่งหนึ่งน้ำหนักเกิน (BMI มากกว่า 25)

สามปีที่โควิดระบาด คนอยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน เรียนที่บ้าน กินนอน น้ำหนักขึ้นกันถ้วนหน้า แล้วยังมีแอพอาหารที่พัฒนาขึ้นมาจนยากจะต้านทานความสะดวกสบายในการกินการดื่มได้

ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีแต่ที่สหรัฐอเมริกา บ้านเราก็ไม่แตกต่าง คนไทยไล่หลังอเมริกันมาติดๆ “เดินตามก้นอเมริกา จึงเป็นโรคอ้วนกันถ้วนหน้า” ด้วยปัญหาสุขภาพและปัญหางบประมาณสาธารณสุขที่ตามมา

ที่เกาหลีมีการวิจัยผลกระทบของคนน้ำหนักเกินและโรคอ้วนว่า ไม่ได้มีผลต่อหัวใจ โรคเบาหวานและอื่นๆ อย่างเดียว ที่สำคัญกระทบต่อสมอง พัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก คนอ้วนเสี่ยงที่จะเป็นอัลไซเมอร์มากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า คนอ้วน 1 ใน 3 ตายด้วยโรคความจำเสื่อม (dementia)

คนอเมริกันรักสุขภาพบอกว่า “เราแพ้การรบ แต่ไม่แพ้สงคราม” และมุ่งมั่นรณรงค์ให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินการอยู่ดูแลสุขภาพ แม้ไม่ง่าย และคนส่วนใหญ่ “ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา” แต่หลายประเทศทั่วโลกก็เกิดกระแสสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คงห็นผล อย่างน้อยน้ำตาลได้ฉายาเป็นตัวร้าย และลดการบริโภคลง

เหตุผลของสำนึกสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศอย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และหลายประเทศในยุโรปที่อยู่อันดับต้นๆ ของคนสุขภาพดี เพราะนโยบายดูแลสุขภาพของประชาชนแบบ “สร้างนำซ่อม” เพราะซ่อมราคาจะแพงมาก สู้ส่งเสริมสุขภาพด้วยมาตรการต่างๆ ดีกว่า คนสุขภาพดี นอกจากไม่เสียงบประมาณแล้ว ยังได้คนที่มีคุณภาพในสังคม ไม่ใช่เต็มไปด้วยคนขี้โรค เป็นสังคมป่วยที่ต้องรักษาแพง

เด็กเม็กซิโก ละตินอเมริกา เด็กเล็กน้ำหนักเกินถึงร้อยละ 80 แล้วต่อถึงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ รัฐบาลพยายามเร่งแก้ไข อินเดียเช่นเดียวกัน สังคมตื่นตัวและวิพากษ์วิจารณ์รัฐว่า ไม่สนใจส่งเสริมสุขภาพ ไม่ลงทุนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ อีกไม่นาน เด็กที่เป็นโรคอ้วน 1 ใน 10 ของโลกจะเป็นเด็กอินเดีย

สิงคโปร์มีนโยบายชัดเจนในการป้องกันโรคอ้วน ส่งเสริมเรื่องอาหาร ไลฟ์สไตล์ สิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสวนและต้นไม้ ทางเดิน ทางวิ่ง ทางจักรยาน กำหนดค่าน้ำตาลในอาหารเครื่องดื่มอย่างเคร่งครัด

บ้านเราทะเลาะกันแต่เรื่องกัญชาที่กลายเป็นปัญหาการเมือง แต่สุขภาพประชาชนสำคัญกว่า ใหญ่กว่ากัญชาและการเมืองกลับสนใจน้อย ถ้าจริงจังกับนโยบาย “สร้างนำซ่อม” ที่ประกาศมานาน เรื่องกัญชาคงไม่มาก่อนสุขภาพ เพราะเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ