เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

ใกล้เลือกตั้ง เห็นนโยบายพรรคการเมืองข้างถนนเป็นตัวเลข โฆษณาว่าเป็น “สวัสดิการ” ก็แปลกใจว่า ตอนที่เป็นรัฐบาลทำไมไม่ทำ ไม่ว่ารัฐบาลก่อนหรือปัจจุบัน แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะทำตามสัญญา ไม่ใช่ “สัญญาประชารัฐ” แต่ “สัญญาประชาคม” (social contract) คนละเรื่องเลย

ความทุกข์ยากของประชาชนเห็นตำตาทุกวันในบ้านเมืองนี้ อยู่ที่ว่าอาจเห็นด้วยตา แต่ไม่เห็นด้วยใจ ไม่เข้าใจ เข้าไม่ถึงความทุกข์ยากและปัญหาที่แท้จริงของประชาชน เพราะถ้าเข้าใจลึกๆ ก็จะรู้สาเหตุที่แท้จริง และถ้ามีความจริงใจก็จะนำไปสู่การแก้ไขที่ตรงกับปัญหาและสาเหตุได้

แต่ที่ (ทำเป็น) มองไม่เห็นเพราะเป็นปัญหาระบบโครงสร้างที่มาจากแนวคิดอำนาจนิยม ที่เชื่อว่าอำนาจของตน ของกลุ่มตนจะแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ถ้าไม่ยึดอำนาจเข้ามา บ้านเมืองจะฉิบหายวายวอด แนวคิดที่เผด็จการทุกยุคสมัยทั่วไปใช้กัน ต่างกันแต่ว่า ประเทศที่เจริญพัฒนา เขาสรุปบทเรียนและไม่ให้เกิดซ้ำซาก

ประเทศพัฒนามากอย่างเยอรมนีที่นรกส่งฮิตเลอร์มาทำลาย แล้วสวรรค์ส่งอาเดเนาว์มาฟื้นฟู ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียที่ทหารเคยยึดอำนาจปกครองประเทศ เขาก็ยังสามารถให้ทหารกลับเข้ากรมกอง เป็นทหารอาชีพที่มีหน้าที่ป้องกันประเทศ ไม่ใช่มาเล่นการเมือง มีแต่พม่ากับไทยที่ไม่คิดเช่นนั้น

รัฐที่นิยมอำนาจมีกลไกในการบริหารจัดการด้วยอำนาจ ทำให้อยู่ยงคงกระพันด้วยความเป็นรัฐราชการ ที่หน่วยงานราชการคิดเหมือนผู้นำว่า ตนเองเป็น “เจ้าของ” อำนาจ ที่แต่ละกระทรวงแบ่งสันปันส่วน จึงแสดงอำนาจสั่งการและควบคุมแทนที่จะรับใช้ ส่งเสริมสนับสนุน เมื่อมีโอกาสจึงโกงกิน แม้แต่อาหารกลางวันเด็กครูบางคนยังเบียดบังแบบไร้มโนสำนึก ทั้งเวลาราชการ งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นภาษีของประชาชน

นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยใส่หน้ากาก จึงสวมบทบาทผู้มีอำนาจซ้อนอำนาจ เข้ามาบริหารจัดการงบประมาณ โกงกินไปกับข้าราชการและนักธุรกิจ เราจึงต้องเผชิญกับการโกงทั้งชาติตลอดมา การพัฒนาสะดุด ล่าช้า มีปัญหาเพราะการโกงกิน รถพังเพราะวิ่งบนถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ที่กินกันเป็นขบวน ทุกภาคส่วนก็เป็นเช่นนี้  ที่แฉกันไปมาในสภานั้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง ขั้วโลกเหนือโลกใต้ ทีใครทีมัน

ภาคประชาสังคมรณรงค์มานานหลายเรื่อง แต่ก็หายไปกับสายลม เพราะคนที่ควรฟังกลับทำหูทวนลม จึงไม่ได้ยิน หรือได้ยินก็ไม่ฟังเพราะไม่อยากเข้าใจ ขอยกมา 5 เรื่อง

หนึ่ง ผู้สูงอายุ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ให้สวัสดิการ 700-800 บาทต่อเดือน หรือที่สัญญาจะให้จากพรรคการเมือง คงเป็นการหาเสียงที่ดูดี และวิธีการในการจัดการปัญหาแบบสูตรสำเร็จในทุกอบต. เทศบาล ไม่ได้แตะปัญหาที่ทำให้เรายังเห็นคนแก่ถูกทอดทิ้งจำนวนมาก เป็นข่าวทีก็วิ่งที  แล้วรัฐบาลยังประกาศดังๆ ฟังดูดีว่า จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งๆ ที่เห็นเกลื่อนเมือง

ที่ไม่เป็นข่าว คนแก่ที่เก็บขวด ที่เอาผักสองสามกำเดินกระย่องกระแย่งไปขายตลาดนัด หรือถือตะกร้าใส่ขนม ข้าวต้มมัดไปขายตามสถานที่ราชการบ้าง แถวตลาด หรือตามหน้าร้านอาหารบ้าง ไม่เคยเห็นลดลง ที่เคร่งครัดดีนักก็เป็นการไล่จับคนขอทาน คนแก่เร่ร่อน นำไปไว้สถานสงเคราะห์ ไล่จับเหล้าเถื่อนเพราะมีรางวัล

สอง คนชายขอบ คนยากจน ไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีที่ดินทำกิน ชาวเขาชาวดอย คนไม่มีสัญชาติไทยทั้งๆ ที่เกิดที่นี่และกำลังจะตายที่นี่ บางคนรอมาจนแก่เฒ่า ก็ให้รอต่อไป อ้างปัญหาความมั่นคงและเหตุผลมากมาย ไม่เห็นพรรคการเมืองไหนแตะต้องปัญหานี้ แม้แต่ตัวแทนคนชายขอบ เข้าสภาก็เหมือนถูกปิดปาก พอถูกชาวบ้านร้องเรียน เรียกร้อง ก็อ้างว่าดำเนินการแล้วดำเนินการอยู่ รอต่อไป

สาม เศรษฐกิจนอกระบบ การประกอบการเล็กๆ ในหมู่บ้าน ชุมชนแออัด หาบเร่ สี่แยก รถเข็น ร้านค้าร้านอาหารเล็กๆ ทั้งหลายมีสัดส่วนอย่างน้อยร้อยละ 30 ของจีดีพี แทนที่จะมีนโยบายช่วยให้เข้าสู่ระบบ กลับยินดีปรีดากับคำชื่นชมของฝรั่งต่างชาติที่เห็นว่า เป็นเสน่ห์ เป็นซอฟต์เพาเวอร์ สตรีทฟู้ด คำเท่ๆ ที่พยายามกลบเกลื่อนความทุกข์และหนี้สินของคนทำอาหารและขายของข้างถนน ตลาดนัด

สี่ ระบบเศรษฐกิจชุมชน ไม่มีใครแตะเรื่องนี้ เพราะเห็นชุมชนเป็นเพียงฐานการผลิตให้เศรษฐกิจใหญ่ ชาวบ้านเป็นแรงงาน เป็นกรรมกร เป็นคน “รับใช้” ระบบ ไม่ใช่คน “สร้าง” ระบบ ทั้งๆ ที่ถ้าหากมีการส่งเสริม พวกเขามีศักยภาพที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเองได้  และจะแก้ปัญหาตนเองและบ้านเมืองได้

อุตส่าห์ผ่านกฎหมายวิสาหกิจชุมชน และมีกลุ่มชาวบ้านไป “ลงทะเบียน” (ไม่ใช่จดทะเบียน เพราะไม่มีสถานะนิติบุคคล) ตั้งเกือบ 80,000 กลุ่ม ก็กลายเป็นเพียงดอกไม้ในแจกัน ประดับโต๊ะทำงานของราชการเท่านั้น ไม่ได้สร้างเศรษฐกิจชุมชนตามเจตนารมณ์ดั้งเดิมที่ภาคประชาสังคมเป็นผู้เสนอกฎหมายนี้

ห้า การศึกษา ที่ประกาศเรื่องการปฏิรูปมาไม่รู้กี่สิบปี ก็เหมือนใส่เกียร์ถอยหลัง ไม่ใช่เดินหน้า สาละวันเตี้ยลง นักการเมืองมองกระทรวงนี้เป็นเกรดต่ำ รายได้ไม่ดี อย่างมากก็เป็นหัวคะแนนตอนเลือกตั้ง คนได้เป็นรัฐมนตรีก็เพื่อตอบแทนที่เสียสละเพื่อพรรค ให้มีรูปไปติดฝาบ้าน แค่นั้นจริงๆ เพราะไม่เห็นมีแนวคิด นโยบายอะไรที่สะท้อนสติปัญญาของคนเข้ามากำกับนโยบายของกระทรวงนี้

มีอย่างน้อย 3 เงื่อนไขให้บ้านเมืองเจริญพัฒนา หนึ่ง แก้ปัญหาคอร์รับชันทุกระดับ ไม่ใช่ท่องแต่คำว่า ธรรมาภิบาล แต่ไม่ลงมือทำจริง จึงมีปัญหาโกงกินทั้งในระบบโครงสร้างและนโยบายและในการปฏิบัติ โดยนักการเมือง ข้าราชการ และผู้ประกอบการ  สอง ลดจำนวนและขนาดของหน่วยงานราชการลง ปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ ไม่ผูกขาดอำนาจแต่กระจายอำนาจไปให้ภาคประชาสังคม ชุมชน ท้องถิ่นจัดการตนเอง

หน่วยงานราชการทำหน้าที่ส่งเสริมเหมือนประเทศพัฒนาทั้งหลาย ที่ก้าวข้ามเศรษฐกิจรายได้ปานกลาง ได้เพราะปฏิรูประบบการบริหารบ้านเมืองโดยภาคประชาสังคม โดยราชการหนุนช่วย ไม่เป็นอุปสรรคเสียเอง

สาม ทหารกลับกรมกอง ให้สังคมก้าวข้ามกับดัก “ประชาธิปไตยปานกลาง” หรือ “พอกะเทิน” เสียที