เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

คำว่า “เกรงใจ” และ “รักสันติ” ดูจะเป็นค่านิยมที่ชื่นชมและภูมิใจกันเองในบ้านเรา โดยไม่เชื่อมโยงกับความรุนแรงรายวันและปัญหาสารพัดในบ้านเมืองนี้ ที่ทีวีทุกช่องแข่งกันรายงาน เช่นเดียวกับการพูดถึง “คนดี” แบบโดดเดี่ยวของปัจเจก เหมือนลอยอยู่บนอากาศ

เรื่องใหญ่คือระบบโครงสร้างสังคมไทยที่เป็นปัญหา ทรุดโทรมและกำลังพังทลาย มาดูว่าคนไทยเกรงใจรักสันติจริงหรือ ก็คงใช่เฉพาะกับบางคนและบางครั้งเท่านั้น กับคนที่รู้จัก เพื่อน ญาติพี่น้อง คนที่มีความสัมพันธ์อันดี มีบุญคุณต่อกัน เรียกว่าความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์

ไม่เช่นนั้นก็ไม่เกรงใจรักสันติ  อย่างที่เห็นจราจรบนถนน ในคอนโดฯ บ้านจัดสรร นึกว่าบ้านฉันจะทำอะไรก็ได้ ปล่อยให้หมาเห่าหนวกหูเพื่อนบ้าน ปล่อยไปขี้หน้าบ้านคนอื่น เลี้ยงสัตว์ในชุมชน ส่งกลิ่นเหม็นก็ไม่เห็นเกรงใจใคร เปิดทีวีวิทยุ ร้องเพลง เฮฮาปาร์ตี้ก็เผื่อคนอื่น จอดรถไม่ดับเครื่องยนต์ในที่จอดรถหรือใกล้ร้านใกล้บ้านใครก็ไม่สนใจว่าควันพิษจะไปเข้าปอดใคร

เราพูดเรื่องเกรงใจกับรักสันติแบบปลอบใจตัวเอง โดยไม่โยงไปถึงเรื่อง “สิทธิเสรีภาพ” และ “วินัยชีวิต” ที่ควรเป็นพื้นฐานให้ “เกรงใจ” และ “รักสันติ” ที่เกิดจาก “จิตสำนึก” ที่เป็น “คุณค่า” ไม่ใช่เพราะความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ที่เป็น “มูลค่า”

ถ้ามีจิตสำนึกเรื่องสิทธิเสรีภาพ ก็จะรู้ “หน้าที่”  แต่สังคมไทยเรียกร้องให้คนทำหน้าที่ (โดยไม่ให้สิทธิ) ตำหนิว่าเรียกร้องสิทธิ แต่ไม่ทำหน้าที่ ก็ในเมื่อสังคมไทยไม่สร้างจิตสำนึกเรื่องสิทธิเสรีภาพ โครงสร้างไม่เอื้อ ไม่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ มีแต่ประชาธิปไตยแบบไปเลือกตั้ง ผู้แทนฯไม่ได้มาจากสัญญาประชาคม หรือฉันทานุมัติของประชาชน ส่วนใหญ่มาจากการซื้อเสียงและโกงการเลือกตั้ง แล้วเข้ามาถอนทุน

จิตสำนึกในสิทธิเสรีภาพทำให้คนเคารพกฎหมาย เคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ จะ “เกรงใจ” และ “ให้เกียรติ” คนอื่น “ตามหน้าที่” เหมือนที่อยากให้เขาทำกับเรา จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพราะสันติเป็นจิตสำนึก มาจากข้างใน ไม่ใช่จากความสัมพันธ์ดีเพราะมีผลประโยชน์

ความเกรงใจและรักสันติในระบบอุปถัมภ์ สัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ ละเมิดสิทธิ์ จึงก่อมลพิษที่ร้ายแรง เป็นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ความรุนแรง และปัญหาต่างๆ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทั้งสังคม ทั้งส่วนรวมและส่วนตัว อย่างมลพิษในอากาศ ที่มาจากการทำการเกษตร อุตสาหกรรม การเผาป่า นาสวน และเรื่องอื่นๆ

มลพิษทางเสียงทำให้เกิดโรคประสาท เหมือนยังก้าวไม่ข้ามสังคมโบราณที่อยู่บ้านเปิด เสียงจากวัดจากบ้านผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ตีห้าก็ถือว่าปลุกให้ตื่นไปทำงาน พอบ้านจัดสรรมาอยู่ใกล้ก็เกิดปัญหา เพราะคนละวิถีชีวิต คนซื้อรถใหม่ก็ไปติดตั้งเครื่องเสียงไปไหนก็เปิดดัง ใครๆ ก็จะได้ฟังด้วย ดูก็เป็นเรื่องตลก แต่ก็เป็นความข้ดแย้งทางวัฒนธรรม ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน  หรือในสถานที่อย่างสนามบิน มลภาวะทางเสียงน่าอายต่างชาติที่ขำว่า แม้แต่ทางเดินสายพานยังต้องแจ้งว่า สิ้นสุดแล้ว  ที่สิงคโปร์สนามบินเขาเงียบสนิท ใช้เสียงยามฉุกเฉิน

 มลพิษทางกลิ่นทำลายบรรยากาศที่อยู่อาศัย การท่องเที่ยว เดินทางไปเขาใหญ่ จะได้กลิ่นขี้หมูขี้ไก่โชยมาตั้งแต่มวกเหล็ก กลางดงไปจนถึงปากช่อง เข้าไปเขาใหญ่ไม่ลึกนัก ก็จะอบอวลไปด้วยกลิ่นจากฟาร์มใหญ่ ทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งๆ ที่เต็มไปด้วยรีสอร์ต โรงแรม บ้านพักอาศัย  ร้องเรียนไปทีกลิ่นก็หายที นี่เมืองท่องเที่ยว ที่พักผ่อน ที่อ้างว่ามีโอโซน อากาศดีติดอันดับโลก  เรื่องแปลกแต่จริง

มลพิษทางสายตาก็น่าพูดถึง ป้ายโฆษณาที่เต็มถนนในกรุงเทพฯ ไม่ใช่แต่ก่อนการเลือกตั้ง มีตลอดปีทั้งภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหวจอใหญ่ติดฝาตึก ไม่เกรงใจคนเดินถนน คนขับรถ และผู้อยู่อาศัยตึกใกล้ๆ รวมทั้งป้ายที่รกสายตาของทางหลวงและหน่วยงานต่างๆ อย่างป้ายเขตปลอดอาวุธ เขตเคร่งครัดจราจร เลอะไปหมด แปลว่าเขตอื่นคงไม่เคร่ง  ป้ายสถานที่ใครมีเงินไปให้ทางหลวงก็ปักให้ ที่เขาใหญ่ สองข้างทางจึงเต็มไปด้วยป้ายโรงแรมรีสอร์ต์ ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ป้ายบอกทางไปที่กลายเป็นโฆษณา

การที่คนละเมิดกฎหมาย ไม่มีจิตสำนึกเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไม่เห็นแก่ส่วนรวม เห็นประโยชน์ส่วนตนและคนที่ให้คุณแก่ตน โครงสร้างสังคมก็ส่งเสริม กล้าทำผิดกฎหมายได้เพราะสามารถใช้เงิน ใช้อำนาจเส้นสายไม่ถูกดำเนินคดี เหมือนที่วิพากษ์กระบวนการยุติธรรม ว่าคุกมีไว้ขังคนจน

ระบบโครงสร้างสังคมไทยเป็นพิษ ไม่เปิดโอกาสให้คนเท่าเทียมกัน มีการคอร์รัปชันนโยบาย มีการใช้อำนาจบริหาร ครอบงำสังคม ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ไม่กระจายอำนาจ ผูกขาดทรัพยากร คนจนไม่ใช่เจ้าของที่ เป็นเพียงผู้อยู่อาศัยที่เขาจะสั่งให้ย้ายไปอยู่ที่ไหนก็ได้ จะทำอะไรตรงนั้นก็ได้โดยไม่เกรงใจคนที่อยู่มานาน

เมืองไทยมีกฎหมายหลายพันฉบับที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา รัฐบาลนี้เคยบอกว่าจะยกเลิกหรือแก้ แต่ก็ไม่ได้ทำ  มีกฎหมายเต็มเมือง แต่ก็มีปัญหาการบังคับใช้ ปัญหากระบวนการยุติธรรม

ระบบโครงสร้างสังคมไทยเป็นปัญหาเพราะอยู่บนฐานอำนาจ ไม่ใช่บนฐานสิทธิเสรีภาพของ “พลเมือง”  ซึ่งยังเป็น “ประชาชน” ผู้ถูกปกครอง โดยผู้ปกครองที่มีอำนาจในรัฐบาล ราชการ ที่ยังเป็น “เจ้าคนนายคน” จนชาวบ้านอยากให้ลูกเรียนสูงเพื่อสิ่งนี้ ไม่ใช่ไปทำไร่ทำนา ที่นอกจากไม่พออยู่พอกินแล้วยังถูกปกครอง ถูกกดขี่ข่มเหง เอาเปรียบจากคนที่มีอำนาจทางสังคมเศรษฐกิจอีก

กฎหมาย วินัยชีวิต สิทธิเสรีภาพ ไปด้วยกัน “พัวพัน” กัน (แบบภาษาฟิสิกส์) คงต้องสรุปอย่างที่รุสโซว่า “คนเกิดมาเสรี แต่ทั่วไปเต็มไปด้วยพันธนาการ”  เขาคือเจ้าของอมตวาจา “สัญญาประชาคม” และ “เสรีภาพ เสมอภาพ ภราดรภาพ” อันเป็นฐานคิดสำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส

เมืองไทยต้องรออีกนานกว่าจะวิวัฒนาไปสู่ “ประชาธิปไตย” แต่คงไม่ถึงหลายล้านปีเหมือนที่ได้ใช้เพื่อมาเป็นคนยืนสองขา และคิดเป็น (homo sapiens) หรือต้อง “รื้อสร้างใหม่” เหมือนพวกโพสต์โมเดิร์นบอก เพื่อจะได้สังคมโครงสร้างใหม่ ที่คนเคารพสิทธิเสรีภาพ เกรงใจ รักสันติ ด้วยจิตสำนึกใหม่