เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com พระนามของพระองค์ คือ พลังแห่งแผ่นดิน คือ จิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้สังคมไทยอยู่ได้ รอดพ้นจากภยันตราย ปัญหาอุปสรรคนานัปประการตลอด 70 ปีที่ผ่านมา ทรงฟื้นฟูน้ำเพื่อชโลมดินที่แตกระแหง แห้งแล้งให้กลับชื่นฉ่ำด้วยการจัดระบบน้ำ ห้วยหนอง คูคลอง แม่น้ำ ทางน้ำ เหมืองฝาย แก้มลิง อ่างเก็บน้ำ เขื่อนใหญ่น้อย จนถึงการทำฝนเทียม แม้มีน้ำแล้วแต่ไม่สะอาด ทรงค้นคิดประดิษฐ์เครื่องมือเพื่อทำให้น้ำสะอาดด้วยเทคโนโลยีที่เรียบง่าย ทรงฟื้นฟูป่าแบบบูรณาการ แก้ไขต้นตอของการตัดไม้ทำลายป่า ให้ราษฎรมีอาชีพ มีรายได้ด้วยการเกษตรผสมผสาน การปลูกพืชผัก ปลูกกาแฟ ให้มีการตลาดคอยสนับสนุน ให้ช่วยกันอนุรักษ์ป่า โดยปล่อยให้ป่าที่เสื่อมโทรมฟื้นตัวเอง เพียงไม่ไปตัดไม้อีกและช่วยกันป้องกันไฟป่าเท่านั้น ทรงฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรมจนไม่มีใครต้องการและคิดว่าแก้ไขไม่ได้ให้กลับฟื้นคืนมา กลายเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร เป็นศูนย์ศึกษาและพัฒนาไปทั่วทุกภาคของแผ่นดิน เพราะดินจะเป็นอย่างไรก็ “ชั่งหัวมัน” ใช้ความรู้วิชาการเข้าช่วย ดินที่ตายไปแล้วก็กลับคืนชีพและให้ชีวิตแก่ผู้คนได้ ทรงฟื้นฟูการเกษตรด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ จัดระบบการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้มีอาหารพอเพียงเลี้ยงชีพได้ และมีรายได้เพียงพอเพื่อพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ทรงเชื่อมสานความสามัคคี แก้ไขความแตกแยกจากความขัดแย้งทางการเมือง ยุติความรุนแรงนองเลือด ภาพสองนายพลแทบพระบาทในเหตุการณ์พฤษภามทมิฬ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 และทรงสอนตลอดเวลาให้ทุกคน “รู้รักสามัคคี” ให้แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดย “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โดยการแก้จากรากฐาน ไม่ใช่ที่ปลายเหตุ พระราชภารกิจนับไม่ถ้วน โครงการพระราชดำริเกือบ 5,000 โครงการ ล้วนมีรากฐานจากพลังปัญญาอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ “ปัญญา” มีที่มาและความหมายเดียวกับ “ปรัชญา” คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นศาสตร์ของพระราชานั่นเอง ทรงสอนให้เดินทางสายกลาง รู้จักพอ พอดี พองาม ความสมดุล ความลงตัว เป็นคนดี มีคุณธรรม มีมัชฌิมาปฏิปทา หนทางไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก เพื่อความอยู่ดีมีสุข นี่คือข้อแรกของเศรษฐกิจพอเพียง คือ “พอประมาณ” ทรงสอนให้เรารู้จักเรียนรู้ ใช้ความรู้ใช้วิชาการในการดำเนินชีวิต การทำมาหากิน ไม่ว่าอาชีพใด ไม่ทำเพราะเห็นคนอื่นทำ ทำไปเพราะ “คิดว่า เข้าใจว่า หวังว่า” แบบคาดเดาเอาเอง ทรงสอนให้ทำแบบ “รู้ว่า” นั่นคือข้อที่สองของเศรษฐกิจพอเพียง คือ “มีเหตุมีผล” ทรงสอนให้อยู่อย่างมีเป้าหมาย มีแบบมีแผน มีระบบการจัดการตนเอง ระบบการจัดการองค์กร การจัดการชุมชน การจัดการสังคม เพราะการมีระบบแบบแผนทำให้ “มีภูมิคุ้มกัน” อะไรเกิดขึ้นก็ไม่กระทบ หรือจากมากเป็นน้อย การดำเนินชีวิตด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องง่ายในโลกวันนี้ที่ส่งเสริมการกินการใช้แบบไร้ขีดจำกัด เพราะมุ่งเน้นที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือ GDP มากกว่าความสุขมวลรวมประชาชาติหรือ GDH ด้วยเหตุดังนี้ พระองค์จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” เพื่อสอนให้เรามี “ปัญญา ความกล้าหาญ และความเพียรทน” เยี่ยงพระมหาชนก ขณะที่เรือสำเภากำลังจะล่ม คน 700 คนมัวแต่นั่งอ้อนวอนเทวดาให้มาช่วย สุดท้ายตายหมด พระมหาชนกเอาน้ำมันมาทา แล้วว่ายไปในมหาสมุทร “แม้ไม่เห็นฝั่งก็ยังว่ายต่อไป” ทรงสอนว่า ในชีวิตคนเรา ทำอะไรก็แล้วแต่ แม้ไม่รู้ว่าจะได้ผลตอบแทนอะไร ไม่รู้ว่าจะแพ้หรือชนะ ได้หรือเสีย กำไรหรือขาดทุน ถ้าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งถูกต้องดีงาม ก็ขอให้ทำเถิด “ช่วยตัวเองก่อน แล้วพระจะช่วยท่าน” ดังที่นางมณีเมขลา เทวดามาช่วยนำพระมหาชนกขึ้นฝั่งในท้ายที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทางเดินทางไปทั่วแผ่นดิน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา ทรงเป็นนวัตกร ผู้ทรงค้นคิดสิ่งใหม่ๆ ทรงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทรงสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั้งแผ่นดินให้เดินตามรอยพระบาท มีจิตอาสา คิดถึงคนอื่น คิดถึงส่วนรวม พระองค์เสด็จไปไหนในชนบท ตามทุ่งนาป่าเขา บนดอย ทรงโน้มพระองค์ลงถามทุกข์สุขของผู้คน ไม่ว่าคนแก่คนเฒ่า คนพิการ ที่มารอเฝ้ารับเสด็จในชุมชนหมู่บ้านด้วยพระเมตตาที่ประชาราษฎร์สัมผัสได้ ทรงมีกล้องถ่ายรูปและแผนที่เป็นสัญลักษณ์และเครื่องมือหลักเพื่อเข้าใจเข้าถึงภูมิทัศน์ เพื่อจะได้แนะนำแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสม ทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและแหลมคม แต่วิสัยทัศน์บ้านเมืองของพระองค์ท่าน ไม่ได้มาจากภาพที่ถ่ายถ่ายและแผนที่ แต่มาจาก “พระทัย” อันยิ่งใหญ่ที่ทรงเปี่ยมด้วยเมตตา และความปรารถนาให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะคนยากคนจนได้มีทางออกในการทำมาหกินให้พอเพียงเลี้ยงชีพได้ พระองค์เสด็จสวรรณคต แต่พระองค์ยังคงอยู่คู่แผ่นดินนี้ และด้วยพระบารมีอันมากล้น ขอให้เราชาวประชาได้นำมรดกทางปัญญาอันยิ่งใหญ่ที่ทรงมอบให้มาสืบทอดด้วยการปฏิบัติ ขอให้จิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระผู้ทรงเป็นพลังแห่งแผ่นดิน เยียวยาความแตกแยกของผู้คน ให้กลับมาคืนดี เป็นพี่น้องกัน สมานฉันท์ ให้อภัย ร่วมมือกันพัฒนาบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขเทอญ