เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

ห้าร้อยปีหลังจากการค้นพบของโคเปอร์นิคัสว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางระบบสุริยะ แต่เป็นดวงอาทิตย์ ก็มาถึงยุค “พหุจักรวาล” (multiverse) ที่กำลังจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์และเกิดการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เกิดแนวคิดใหม่ที่แย้งเรื่องหลุมดำ เรื่องบิ๊กแบงก์ กำเนิดจักรวาลเดียว และกำเนิดชีวิต

ห้าร้อยปีก่อน ตอนที่โคเปอร์นิคัสเริ่มพูดเรื่องระบบสุริยะ ไม่มีคนสนใจและหาว่าบ้า เพราะขัดแย้งกับพระคัมภีร์ไบเบิล เป็นกาลิเลโอที่ทำให้เรื่องนี้เป็นที่รับรู้กันแพร่หลาย จนถูกศาสนจักรลงโทษ

แนวคิดปฏิวัติโลกครั้งสำคัญต่อมา คือ “กำเนิดสเปซีส์” ของชาร์ลส์ ดาร์วินเมื่อ 150 ปีก่อน ที่ถูกต่อต้านจากศาสนจักรและทั่วไปที่ไม่เชื่อว่าคนมาจากลิง จนมีผู้กล้าอย่างแตร์ฮาร์ด เดอ ชาร์แดง บาทหลวงเยซุอิตชาวฝรั่งเศสที่อธิบายเป็นภาษาเทวศาสตร์ แต่ก็ถูกต่อต้านและลงโทษ  กระนั้นต่อมาก็ได้รับการยอมรับกว้างขวาง

การเปลี่ยนกระบวนทัศน์และปฏิวัติวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นต้นศตวรรษที่แล้ว โดยทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ และทฤษฎีควันตัม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญทางเทคโนโลยี ที่ทำให้เรามีทีวี มีไอที มีมือถือ และสารพัดอย่างที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนและสังคมในปัจจุบัน

ไอน์สไตน์เปลี่ยนความคิดที่มีอิทธิพลต่อการมองโลกมองชีวิตมาหลายร้อยปีของนิวตันและเดการ์ต ที่บอกว่าจักรวาลเป็นเครื่องจักรใหญ่ที่มีกฎเกณฑ์สมบูรณ์ในตัว เราเพียงแต่ต้องค้นคว้าศึกษาให้เข้าใจกลไกเท่านั้น ไอน์สไตน์นำเราออกไปสู่จักรวาล และไม่ได้มองว่าทุกอย่างมีกฎเกณฑ์ที่ “ลงตัว” หมดแล้ว แต่ล้วน “สัมพัทธ์” (relative) และเวลาก็ไม่ได้เท่ากันทั้งหมดอย่างที่นิวตันบอก ขึ้นอยู่กับที่ไหนอย่างไร จึงมี “ที่เวลา” (spacetime)

การศึกษาจักรวาลตั้งแต่นั้นเปิดกว้าง มีการพัฒนากล้องโทรทรรศน์พลังสูง มีการ “ค้นพบ” ของนักฟิสิกส์บาทหลวงเลอแมตร์ ชาวเบลเยียม ที่บอกว่า จักรวาลไม่ได้หยุดนิ่ง แต่ขยายตัวด้วยความเร็วสูง และได้รับการยืนยันจากนักดาราศาสตร์อย่างเอ็ดวิน ฮับเบิล ที่พบกาแล็กซีอื่นๆ นอกจากทางช้างเผือก โดยภาพที่ได้จากกล้องฮับเบิลและเจมส์เวปป์ ทำให้เห็นไกลไปจน “สุดขอบฟ้า” 13,800 ล้านปีก่อน ที่ว่าเป็นจุด “กำเนิดเอกภาพ”

แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา คือ คำถามเรื่องบิ๊กแบงก์ เรื่องกำเนิดจักรวาล และเรื่องพหุจักรวาล คือไม่ได้มีจักรวาลเดียว และจักรวาล “ของเรา” ก็แตกออกมาจากจักรวาลอื่น

แต่เรื่องฟิสิกส์เข้าใจยาก (คนทั่วโลกรู้จักสมการ E=MC2 ของไอน์สไตน์โดยไม่รู้แปลว่าอะไร) แต่ที่ทำให้ผู้คนวันนี้สนใจและเข้าถึงเรื่องเหล่านี้เป็นภาพยนตร์ไซไฟ และมาร์เวลทั้งหลาย ที่ทำเงินอย่างถล่มทลาย โดยคนทั่วไปอาจจะคิดเพียงว่าเป็นหนังแอ็กชั่น ดราม่า สนุกตื่นเต้นเร้าใจเท่านั้น

เช่นเดียวกับภาพยนตร์ Everything Everywhere all at once ที่ชื่อไทยว่า ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส ที่ได้รางวัลออสการ์หลักทั้ง 7 เมื่อสัปดาห์ก่อน ยอดเยี่ยมทั้งภาพยนตร์, ผู้กำกับ, มิเชล โหย่ว ผู้แสดงนำชาวมาเลเซีย, คี ฮวน ควาน ผู้แสดงสมทบ อดีตชาวเวียดนามอพยพ ดาราเด็กน้อยในอินเดียนา โจนส์ เมื่อ 40 ปีก่อน

หนังเรื่องนี้ครบทุกรสชาติคล้ายอาหารไทยที่เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ทั้งแอ็กชั่น คอเมดี้ ดราม่า และไซไฟ ที่กวาดรางวัลในที่ต่างๆ ไปเกือบหมดก่อนจะมาที่ “อะคาเดมี” คนส่วนใหญ่คงดูสนุก เพราะฝีมือการแสดงกำลังภายในของมีเชล โหย่ว โด่งดังมานานแล้ว รวมทั้งคี ฮวน ควานก็ไม่ธรรมดา

จริงๆ แล้ว ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้กวาดรางวัลไปทั่ว คงมีอะไรมากกว่านั้น ลึกๆ แล้ว หนังเรื่องนี้พูดเรื่อง “การแสวงหาความหมาย” จากชีวิตที่ไร้เหตุผล หรือชีวิตบัดซบ (absurd) ของผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ทำร้านซักผ้า ออกจากมิติธรรมดาและ “คนเดียว” ไปสู่พหุจักรวาล และเป็น “พหุบุคคล” ที่นับไม่ถ้วน ที่อาจนึกว่า “จำลอง” (simulation) หรือ “เสมือนจริง” แต่ก็ “จริง” ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “จิตสำนึก”

ผู้กำกับเชื้อสายจีนอย่าง ดาเนียล ควาน เลือกดาราเอเชีย เพราะต้องการสะท้อนปรัชญาตะวันออก ที่บอกอะไรที่นักปรัชญาเยอรมันสองคนที่มีแนวคิด “พลิกโลก” อย่างนิทเช่ ได้พูดไว้และคามูส์ได้นำไปสานต่อ กับไฮเดกเกอร์ที่เขียนและซาร์ตร์นำไปเสนอทั้งด้วยปรัชญาและนวนิยาย ทำให้คนเข้าถึงปรัชญายุคใหม่ที่เข้าใจยาก

หนัง ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส สะท้อนแนวคิดสุญนิยม (nihilism) ในเซนและพุทธมหายาน ว่าที่สุดชีวิตก็เป็น “มายา” ภาพลวงตา ที่จิตสำนึกถือว่า “จริง” สะท้อนให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็น “หนึ่ง” และสัมพันธ์กันหมด ไม่ต่างจากควันตัมฟิสิกส์ที่พูดถึง “การพัวพัน” (entanglement) ของสรรพสิ่ง (ปฏิจจสมุปบาท/อิทัปปจยตา)

ความจริง เรื่องไม่ได้ริ่มที่โคเปอร์นิคัส ถ้าอยากเข้าใจมัลติเวอร์สจริงๆ คงต้องกลับไปศึกษา 2,300 ปีก่อน ในยุคปรัชญากรีกโดยเฉพาะเดโมครีตุสที่พูดถึง “อะตอม” ซึ่งก็เป็นฐานคิดเดียวกันกับที่นักฟิสิกส์พูดเรื่องกำเนิดจักรวาล กำเนิดชีวิต และมัลติเวิร์ส

ต้องมีคนอย่างกาลิเลโอเพื่อยืนยันแนวคิดของโคเปอร์นิคัส  มีคนอย่างแตร์ฮาร์ด เดอ ชาร์แดง ยืนยันชาร์ลส์ ดาร์วิน  มีคามูส์ที่สื่อสารแนวคิดนิทเช่ด้วยการเล่าเรื่องตำนานซิซิฟุส ที่ถูกสาบให้เข็นหินขึ้นเขา ใกล้จะถึงทีไรก็กลิ้งลงมาเช่นนี้ชั่วนิรันดร์ วันหนึ่งก็มาคิดได้ว่า ทำอย่างไรจึงจะเข็นไป “อย่างมีความสุข” คำตอบของปรัชญาตะวันออก คือ “ปล่อยวาง” นั่นเอง เหมือนที่หลวงพ่อชาสอนว่า “หินหนักก็วางลง”

ถ้าอ่าน “นิทเช่” และ “ไฮเดกเกอร์” ให้ดี จะเห็นความคล้ายกับปรัชญาตะวันออก จึงไม่แปลกที่หนัง “ซือเจ๊ะ” สะท้อนปรัชญาที่คนตะวันตกคุ้นเคยจากแนวคิดของนักปรัชญาเยอรมันและฝรั่งเศสที่ได้กล่าวถึงข้างต้น

ไฮเดกเกอร์ทางปรัชญาเปรียบได้กับไอน์สไตน์ทางฟิสิกส์ แต่คนไม่เข้าใจ ต้องอ่านงานของซาร์ตร์จึงจะรู้ว่าปรากฏการณ์วิทยาที่พูดถึงเอกภาพของ “กาย-จิต” ของ “โลกภายนอก-จิตสำนึก” นั้นเป็นอย่างไร (แนะนำไปอ่านบทความ “ศาสตร์แห่งการตีความ” ของผู้เขียนในวารสารปราชญ์ประชาคม ที่หาอ่านได้ในกูเกิล)

ไปดูหนัง “ซือเจ๊” ลอง “ตีความ” ค้นให้ลึกลงไปจากพื้นผิวของแอ็กซั่นและไซไฟ อาจจะพบ “ดราม่า” ของชีวิตที่ไม่ได้ให้แต่ความสนุกอย่างเดียว แต่เข้าใจ “ความหมาย” ของชีวิต เหมือนที่ “ซือเจ๊” ได้พบ และอาจจะเข้าใจ “จิตสำนึก” ในปรัชญาของไฮเดกเกอร์ และคำว่า dasein ของเขา ที่อาจแปลว่า “การมีชีวิตอยู่ในโลก” หรือเข้าใจการอยู่เหนือทุกข์ได้อย่าง “อภิมนุษย์” ของนิทเช่ หรือปล่อยวางอย่าง “ซิซิฟุส” ของคามูส์