เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

เมื่อก่อนนี้วันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ทางการของไทย มาเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคม เมื่อปี 2484 ในสมัยจอมพล.ป.พิบูลสงคราม ด้วยเหตุผลเพื่อให้ “เป็นสากล”

ถึงกระนั้น คนไทยก็ยังฉลอง “ตรุษสงกรานต์” ด้วยความหมายที่ลึกกว่าการเล่นน้ำสาดน้ำที่ทำกันเลยเถิดอย่างทุกวันนี้  เป็นประเพณีที่เป็นรากเหง้าของวิถีชีวิต ไม่ต่างจาก “ตรุษจีน” ที่ไม่ว่าเศรษฐกิจการเมืองเปลี่ยนไปอย่างไร “วัฒนธรรม” ดั้งเดิมก็ยังอยู่

เคยบอกฝรั่งว่า ถ้าคุณเข้าใจคอนเซปต์ “เวลา ที่ ผี ขวัญ” คุณจะเข้าใจวัฒนธรรมไทย คนไทยเราลองนำ “สี่คำ” นี้มาถอดรหัสสงกรานต์ น่าจะเห็นหลายอย่างมากกว่าการเล่นน้ำ

ความคิดเรื่อง “เวลา” ของคนไทย คนเอเชียดั้งเดิมเป็น “วงกลม” ที่หมุนเวียนไม่รู้จบ ต่างจากเวลาของคนตะวันตกที่มีเริ่มต้นและมีสุดท้าย มีสร้างโลก สิ้นโลก คนตะวันออกเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เห็นชีวิตและเวลาหมุนเวียน ทุกวันมีพระอาทิตย์ขึ้นและตก  มีกลางวันกลางคืน มีฤดูกาล มีเดือน มีปี ไม่มีสิ้นสุด

Mircea Eliade นักมานุษยวิทยา เรียกว่า “ตำนานแห่งการกลับมาเป็นนิรันดร์” (Myth of Eternal Return) ซึ่งมีอยู่ในสังคมบุพกาลทั่วโลก

สงกรานต์คือเวลาเริ่มต้นศักราชใหม่ ชีวิตใหม่ คนไทยกลับไปบ้านเกิด “ที่” ตนเองเกิด เป็น “ศูนย์กลางจักรวาล” ของตน ที่มีชุมชน สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ สายน้ำ ทุ่งนา ป่าเขา  เป็นโลกที่ให้ชีวิต เลี้ยงดูตนมา

เขาสัมพันธ์กับทุกแห่งเหมือนว่ามี “จิตวิญญาณ” เรียกว่า “ผี” จึงมีผีไร่ ผีนา ผีป่า ผีเขา นางไม้ แม่ธรณี แม่โพสพ แม้แต่วัวควาย เกวียน ข้าวของเครื่องใช้ประกอบอาชีพก็มี “จิตวิญญาณ” ที่เขาจะประกอบพิธีกรรม “สู่ขวัญ” เพราะคนมีจิตวิญญาณ มีขวัญ เมื่อสัมพันธ์กับอะไร สิ่งนั้นก็มีจิตวิญญาณ มีขวัญด้วย มีขวัญของจักรวาลที่ผสานทุกสิ่งเข้าด้วยกันให้เป็นหนึ่ง ตามอิทธิพลความเชื่อของพราหมณ์ ที่พระพรหม คือวิญญาณแห่งเอกภพ

ช่วงสงกรานต์คนไทยกลับไปบ้านเกิด ไปกราบพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ผู้ให้ชีวิตตนมา กลับคืนสู่รากเหง้า เพื่อฟื้นฟูชีวิต จะได้กลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยพลังใหม่ในเมืองกรุง ต่างถิ่นต่างที่ที่ตนอยู่

การฉลองสงกรานต์ การขอพลังชีวิต ต่ออายุ เป็นการฉลองการเริ่มต้นรอบใหม่ของชีวิต จึงมีการกินดื่ม การละเล่น รวมทั้งการ “เล่นน้ำ” ที่ได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่สุดของสงกรานต์ไป โดยละเลยคุณค่าความหมายที่แท้จริงของน้ำที่เป็นสัญลักษณ์ของ “ความอยู่เย็นเป็นสุข” ที่เราใช้ “รดน้ำดำหัว” และ “สรงน้ำพระ”

การคืนสู่รากเหง้าไม่ใช่การกลับไปหาอดีตแบบ “วันวานยังหวานอยู่” แต่หมายถึงการกลับไปค้นหา “ตัวตน” ของเราในอดีต เป็นใครมาจากไหน เข้าใจประเพณีวัฒนธรรม คุณค่าต่างๆ ที่หลอมรวมมาเป็นเรา เพื่อจะได้เข้าใจตนเองในปัจจุบัน นำสิ่งดีๆ ในอดีตมาฟื้นฟูปรับประยุกต์ให้เป็นรากฐานดีงามสำหรับวันนี้

การคืนสู่รากเหง้าควรมีรากฐานจากการถอดรหัสหาคุณค่าที่ลึกลงไปจากพื้นผิว ไม่เช่นนั้น สงกรานต์ที่ใช้โปรโมตการท่องเที่ยวก็จะเหลือแต่ความสนุกสนานของการเล่นน้ำสาดน้ำ

สงกรานต์ควรเป็นโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในประเพณีพิธีกรรมต่างๆ จนซาบซึ้งในคุณค่าความหมายที่ได้จากการสัมผัสกับ “จิตวิญญาณ” ของชุมชน ของผู้คนที่เริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างมีความสุข

การเน้นแต่เรื่องเศรษฐกิจ รายได้ ทำให้ละเลยกระบวนการถอดรหัสภูมิปัญญา ทำให้ได้แต่ความผิวเผิน เปลือกกระพี้ แทนที่จะส่งเสริม กลับทำลายคุณค่าของวัฒนธรรม ดังกรณี “การขายวัฒนธรรม” ท้องถิ่นต่างๆ ที่เน้นแต่รูปแบบภายนอก ไม่ว่าการแห่เทียนเข้าพรรษา ไปจนถึงผีตาโขน

ความหมายของสงกรานต์ คือ “ความสัมพันธ์” ที่มาจาก “ความผูกพัน” ระหว่างคนกับพ่อแม่พี่น้อง ชุมชน ระหว่างคนกับธรรมชาติ ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ สามมิติที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวที่แสดงออกทางพิธีกรรม สัญลักษณ์ และกิจกรรมต่างๆ

รัฐบาลที่เห็นคุณค่าความหมายของเทศกาลสงกรานต์ จะเสนอแนวทางให้สังคมร่วมกันทำบางอย่างที่จะลดภาพของสงกรานต์คือ “การสาดน้ำ” ลงบ้าง ทำพิธีรดน้ำดำหัวตัวแทนผู้อาวุโสทั้งคนไทย คนต่างชาติ และนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่งดงามและมีความหมาย

ความเย็นของน้ำ ความงามของดอกไม้ บรรยากาศของความสุขสดชื่น สะท้อนวิถีไทย น้ำใจคนไทย เพียงแต่ไม่ควรกำหนดให้หน่วยงานราชการ ททท. อบต. เทศบาลไปทำ “ตามคำสั่ง” “ตามงบประมาณ” จนแข็งกระด้าง ไร้ชีวิตและจิตวิญญาณของสงกรานต์

ถ้าชุมชนท้องถิ่นริเริ่มทำกันเอง ร่วมกับหน่วยงานที่จัดการท่องเที่ยวที่เข้าใจเรื่องนี้ ก็น่าจะดีกว่า เหมือนการจัดไปร่วมทอดกฐิน ผ้าป่า ไปร่วมงานวัดงานบุญ แต่ด้วยจำนวนคนไม่มากจนพิธีกรรมถูกบิดเบือน เหมือนที่คนลาวไม่สบายใจกับนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่หลวงพระบาง ที่บริษัททัวร์จัดให้นักท่องเที่ยวไปใส่บาตรพระตอนเช้า วุ่นวายจนกลายเป็นกิจกรรมที่ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่ได้ทำด้วยใจ สนใจแต่ถ่ายภาพไว้อวดเพื่อน

การท่องเที่ยวหมู่ไม่เหมาะกับการไปร่วมประเพณีพิธีกรรมที่มีความละเอียดอ่อน นี่เป็นจุดอ่อนของการท่องเที่ยวไทยที่ใช้ซอฟต์เพาเวอร์ดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่จัดการไม่เหมาะสม ก็คงได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ขาดมิติทางจิตใจและสังคม

ถ้าเดือนเมษายนทุกปี มีการรณรงค์ให้ประชาชนเรียนรู้เรื่อง “น้ำ” วิธีการประหยัด จัดการน้ำ และมีการออมน้ำ ออมเงินเข้ากองทุนเพื่อท้องถิ่นที่ขาดแคลนน้ำ น้ำดื่มที่สะอาด น้ำใช้เพื่อการบริโภค การเกษตร ก็ได้ทั้งความรู้ ได้น้ำ ได้ทุน ได้ความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทั้งชาติ

การทำโครงการเช่นนี้เป็นการผนึกพลังใจ พลังความคิดเพื่อการส่งเสริมให้มีน้ำบริโภคอย่างพอเพียง เพราะตั้งแต่นี้ไป โลกจะร้อนขึ้นทุกปี และจะพบวิกฤติน้ำแสนสาหัสอย่างแน่นอน