แสงไทย เค้าภูไทย

เงินดิจิทัลยังเป็นประเด็นใช้หาเสียงของเพื่อไทย และเป็นประเด็นโจมตีของฝ่ายตรงข้าม ขณะที่มีข้อชี้แจงเรื่องบาทดิจิทัลที่จะนำออกใช้สิงหาคมนี้กับการก้าวย่างสู่ความเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มตัวของไทย

ยุคนี้เป็นยุคดิจิทัลอะไรๆก็ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกันหมด เศรษฐกิจจึงกลายเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ในอีกไม่นานคนไทยจะได้ใช้เงินบาทดิจิทัลควบคู่กับบาทธนบัตร ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มตัว

เศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) คือรูปแบบของเศรษฐกิจที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใช้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีซึ่งมีอินเตอร์เน็ตเป็นหลักเป็นเครื่องมือในการประกอบกิจกรรมหรือประกอบการ

เพราะใช้อินเตอร์เน็ตเป็นหลัก จึงมีการเรียกชื่ออื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารที่อาศัยระบบอินเตอร์เน็ตในการดำเนินการ เช่น Internet Economy, Web Economy, Cryptoeconomy เป็นต้น

ตอนนี้กิจกรรมที่เข้าข่าย Web Economy ที่สุดคือ E-Commerce คือค้าขายออนไลน์ ที่สินค้ามีขายกันตั้งแต่รถยนต์ไปจนปลาเค็ม

คนไทยทุกวันนี้รู้จักการใช้งานอินเตอร์เน็ตกันเป็นอย่างดี  แค่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเครื่องเดียว ก็ย่อโลกทั้งโลกมาไว้ในมือถือ

จะดูหนังฟังเพลง อะไร คุยกับเพื่อนทั้งแบบโทรศัพท์ โทรในไลน์ เฟซบุ๊ก  เห็นหน้ากันสดๆ ส่งคลิปวิดีโอแก่กันหรือแชร์ในไลน์ ในเฟซบุ๊ก ฯลฯ

การมาของอินเตอร์เน็ตกลายเป็นการลบล้างระบบและกิจกรรมพื้นฐานของมนุษย์ในหลายๆด้าน

โทรศัพท์บ้านแทบจะเลิกใช้กัน หนังสือพิมพ์กระดาษคนอ่านลดลงกว่าค่อน ต้องนำขึ้นมาเป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ จนคาดว่าจะสูญพันธุ์ในไม่เกินทศวรรษ

เงินกระดาษหรือธนบัตร(Fiat Money) จะเป็นแค่สิ่งอ้างอิง ในอนาคตคนไทยจะแทบไม่ได้แตะต้องเงินกระดาษหรือเหรียญโลหะ ซึ่งขณะนี้มีการจับจ่ายซื้อหาสินค้ากันด้วยกระเป๋าเงิน “เป๋าตัง” ในโครงการคนละครึ่งที่ดำเนินกันมาถึงเฟส 6 แล้ว

เป๋าตังผูกกับ G –wallet ผู้เข้าร่วมโครงการนำเงินที่ใส่เข้ามาในเป๋าตังหรือ G-wallet ไปซื้อสินค้าจากร้านที่เข้าร่วมโครงการได้โดยไม่ต้อง “ควัก”แบงก์ ควักเหรียญจากกระเป๋าสักบาท สักสลึง

แค่ใช้สมาร์ทโฟนสแกนกับเครื่องของร้านค้าหรือสแกนคิวอาร์โค้ดก็สามารถจ่ายโอนเงินจากเป๋าตังไปให้ร้านหรือคนขายได้

เมื่อคนไทยทุกระดับ “เล่นเป็น” กับการซื้อขาย จ่ายโอนผ่านระบบดิจิทัลได้เช่นนี้ จึงไม่เป็นการยากเย็นอันใดที่ธนาคารกลาง(ธปท.)จะสร้างเงินดิจิทัลหรือ CBDC (Central Bank Digital Currency) ขึ้นมาตามโครงการอินทนนท์ที่เรียกว่าเงินบาทดิจิทัล ซึ่งแต่เดิมตั้งเป้าหมายนำออกใช้ปลายปีที่แล้ว แต่ยังขลุกขลักอยู่ จึงเปลี่ยนมาเป็นออกใช้สิงหาคมนี้

ทั้งนี้ธปท.ได้ทำ  ID E-wallet โดยเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลในบัตรประชาชน เป็น“เป๋าตังดิจิทัล”คล้ายกันกับ G-wallet ของผู้ที่ได้รับเงินคนละครึ่งและบัตรสวัสดิการ

หากดำเนินการได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ไทยก็จะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เป็นสังคมโลกไร้เงินสด

แต่ไม่ว่าจะสถานะใด ไทยก็ยังคงเป็นประเทศที่มีส่วนหนึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรม เนื่องจากสินค้าส่งออกสำคัญๆยังเป็นสินค้าเกษตรอยู่เช่นข้าว  ยางพารา น้ำตาลทราย และที่กำลังเด่นดังอยู่ก็คือทุเรียน

แม้วันนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะเติบโตถึงปีละ 7% มีมูลค่า 619,200 ล้านบาทแต่ก็ยังไม่ล่วงล้ำพื้นที่เกษตรมากมายนัก

อุตสาหกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนเติบโตโดดเด่นในเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยก็คือการบริการทางการเงิน (Fin Tech) เทคโนโลยีสุขภาพ (Health Tech) และเทคโนโลยีด้านการศึกษา (Ed Tech)

มองกันว่าไทยจะเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลสมบูรณ์แบบในราวทศวรรษหน้า เป็นสังคมไร้เงินสด บัญชีเงินฝาก มีแต่ตัวเลข แสดงบนจอสมาร์ทโฟนซึ่งปัจจุบันนี้ก็เป็นเช่นนั้นแล้ว ที่การทำธุรกรรมทุกอย่างผ่านสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว

ยังกังขากันอยู่ว่า ก่อนถึงวันนั้นปีนั้น สมาร์ทโฟนจะเปลี่ยนแปลงไปถึงไหนจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรเพราะพัฒนาการของมันคงไม่หยุดยั้งอยู่เท่านี้

จากโทรศัพท์เคลื่อนที่โบราณที่ต้องหิ้วกันราวกับแบตเตอรี่รถบยนต์ย่อลงมาเป็นมือถือที่เรียกกันว่าสากกะเบือ

จนถึงวันนี้มีจอ มีกล้องถ่ายรูปถ่ายวิดีโอ ขนาดเล็กลงมาอยู่ในอุ้งมือ

ลองจินตนาการดูว่า อีกสิบปีข้างหน้ามันจะเป็นซูเปอร์สมาร์ทโฟนหน้าตาแบบไหน ?