เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

“เศรษฐกิจชุมชนคือเศรษฐกิจที่รอวันตาย” เป็นคำกล่าวหรือแนวคิดของทุนนิยมและสังคมนิยม ที่ไม่ได้มองข้ามความสำคัญของเศรษฐกิจชุมชน เพียงแต่เห็นว่าเป็นฐานการผลิต เครื่องมือการผลิตของระบบเศรษฐกิจมหภาค ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนในฐานะฐานรากอย่างจริงจัง

ขณะที่อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวอินเดียบอกว่า “เพื่อก้าวพ้นนิยายของการพัฒนา เราจะต้องมีระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเอง”

“นิยายการพัฒนา” ที่เขาพูดถึง คือ แนวคิดที่สร้างความฝันให้ประชาชน แบบ “สัญญา” ว่า “พรุ่งนี้รวย” เหมือนคนขายหวยที่บอกคนซื้อ ที่ซื้อเท่าไรก็ไม่ถูก แต่ก็ยังซื้อ

อมาตยาเซน บอกต่อไปว่า “เมื่อความฝันสิ้นสุดลง คนก็เริ่มค้นหาความจริงกันใหม่” เหมือนไปเลือกตั้ง เลือกพรรคไหนก็ไม่เคยทำให้หมดหนี้ มีแต่เพิ่ม  หมดรัฐบาลนี้ก็มีรัฐบาลใหม่มากับคำสัญญาประชานิยมชวนฝัน หว่านเสน่ห์หาเสียง

พรรคการเมืองไหนก็ไม่เคยคิดเรื่องการสร้าง “ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเอง” แม้จะพูดถึงเศรษฐกิจชุมชน แต่ไม่ใช้คำว่า “ระบบ” คงเพราะไม่เชื่อหรือไม่เข้าใจเรื่องแบบนี้

ลองพิจารณาประเทศเล็กๆ ในยุโรป สแกนดิเนเวีย อย่างเดนมาร์ก ที่พิสูจน์ว่า เศรษฐกิจของประเทศมีความมั่นคงเพราะมีเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง เหมือนเสาเข็มของตึก เป็น “ระบบ” การผลิต การแปรรูป การค้า การบริหารจัดการ ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม ธุรกิจ การบริการ โดย “ชุมชน” เป็นเจ้าของมากที่สุด

ขบวนการสหกรณ์ของเดนมาร์กมีพัฒนาการมากว่า 200 ปี ระบบทุนนิยมและสังคมนิยมที่เกิดตามมาก็ไม่สามารถ “ทำลาย” ระบบเศรษฐกิจชุมชน ยังมีการจัดการชีวิตของตนเองแบบบนฐานคิดของการพึ่งตนเอง ด้วยกลไก “สหกรณ์” ในรูปแบบต่างๆ จนไม่มีช่องว่างให้ค้าปลีกทุนนิยมยุคใหม่แทรกเข้ามาครอบงำได้

ปัจจัยสำคัญของระบบเศรษฐกิจชุมชนของเดนมาร์ก คือ คุณภาพคนที่ได้รับการศึกษาในรูปแบบ “การเรียนเพื่อชีวิต” เรียนเอาไปใช้วางแผนชีวิต พัฒนาตน พัฒนาอาชีพ ไม่ใช่เรียนเพื่อเอาไปสอบแล้วได้ใบประกาศ โดยเฉพาะ “การศึกษานอกระบบ” ที่โดดเด่นเป็นต้นแบบของการศึกษานี้ทั่วโลก

บ้านเรามีดิน มีน้ำ มีแดด มีคน แต่ไม่มีการจัดการให้เกิด “ระบบเศรษฐกิจชุมชน” มีแต่การผลิต มีแต่แรงงานเพื่อระบบเศรษฐกิจใหญ่ เต็มไปด้วยคนกลาง ทั้งพ่อค้า ข้าราชการ นักการเมือง ที่ต่างก็นำ “รายได้” ไปให้เศรษฐกิจของประเทศ ปล่อยให้ชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนายากจนซ้ำซาก

ทำนาก็เอาข้าวไปขายพ่อค้าที่มีโรงสี ที่ส่งต่อบริษัทใหญ่ขายในประเทศหรือส่งออก ผลผลิตทางการเกษตรทุกชนิดก็ไปในทำนองเดียวกัน ไหลไปสู่ส่วนกลางในระบบที่รวมศูนย์ผูกขาด

ข้าราชการก็เป็นตัวแทนอำนาจเพื่อการจัดการ นักการเมืองเมื่อได้เป็นรัฐบาลก็หว่านงบประมาณเป็นโครงการต่างๆ เพื่อให้เงินหมุนเวียน ทำให้เศรษฐกิจโต จีดีพีสูงขึ้น แต่ก็เหมือนมอร์ฟินบรรเทาความเจ็บปวด ต้องคิดโครงการใหม่แบบประชานิยมเรื่อยไป เศรษฐกิจชุมชนไม่ได้รอวันตาย แต่ตายสนิทไปนานแล้ว

ในความเป็นจริง ชุมชนท้องถิ่นไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนา “ระบบเศรษฐกิจ” สูงมาก ไม่ด้อยไปกว่าเมืองน้อยใหญ่ในแคว้นเอมิเลีย โรมาญา ของอิตาลี ที่พอๆ กับเดนมาร์ก ที่ได้ลบล้างคำกล่าวที่ว่า “เศรษฐกิจชุมชนคือเศรษฐกิจที่รอวันตาย”

รัฐบาลบ้านเราใช้ “มือที่มองไม่เห็น” ของระบบทุนนิยมเพื่อจัดการ “การกินการอยู่” ของ “ชาวบ้าน” คือระบบการค้าเสรี ที่ “เสรี” มากจนผูกขาด ที่ทำให้ร้านโชห่วยเล็กๆ ของชาวบ้านไม่อาจต้านทานการค้าปลีกของทุนใหญ่หลายเจ้าที่รุกลงไปถึงหมู่บ้านได้

ท้องถิ่นไทยเรามีสหกรณ์มากว่าร้อยปี มีกลุ่มเกษตรกร รวมหลายพัน มีวิสาหกิจชุมชนกว่า 70,000 กลุ่ม มีการผลิต การบริโภค แต่ไม่มีการจัดการให้เกิด “ระบบเศรษฐกิจ” เพราะไม่มีแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง มีแต่แผนสำเร็จรูป เป็นโครงการเบี้ยหัวแตก เพื่อของบประมาณจากรัฐที่อบต. เทศบาลทำตามสูตร

ถ้าทำ “แผนแม่บทชุมชน” ด้วยเครื่องมือ “ประชาพิจัย” ก็จะค้นพบ “ทุน” ท้องถิ่นที่มีค่ามากกว่า “เงิน” ทุนทรัพยากร ทุนทางปัญญา ทุนทางสังคม รายรับ รายจ่าย หนี้สิน จะพบแนวทางในการเพิ่มมูลค่า พัฒนาตลาดท้องถิ่น ไม่ใช่ขายผลผลิตให้พ่อค้าแม่ค้าไปส่งตลาดในเมือง แล้วคนจากหมู่บ้านก็ไปซื้อกลับมาขายบ้านตัวเอง หรือไม่ก็ซื้อจากรถพุ่มพวงที่ไปรับของมาจากตลาด ของที่เดิมก็มาจากหมู่บ้าน

ถ้ามีการจัดการให้เกิดการหมุนเวียนการซื้อขาย หรือการบริโภคในท้องถิ่นให้มากที่สุด เศรษฐกิจชุมชนก็จะเข้มแข็ง เกิดระบบที่ไม่ได้ปิดกั้นหมู่บ้าน แต่เชื่อมกันเป็นเครือข่ายกับหมู่บ้านตำบลอื่น แลกเปลี่ยนผลผลิต ไปจนถึงการวมกลุ่มกันเพื่อส่งออกไปยังตลาดใหญ่ หรือแม้แต่ส่งออกไปต่างประเทศอย่างที่เดนมาร์กทำ

การพัฒนาจิตสำนึกใหม่ให้ชุมชน มาจากกระบวนการเรียนรู้ จาก “ข้อมูล-ความรู้” ไปสู่การเกิดปัญญา คือการตกผลึกจนสรุปเป็นหลักการในการพึ่งพาตนเองด้วยระบบที่สร้างกันขึ้นมาในท้องถิ่น

พรรคการเมืองไทย รัฐบาลไทย สนใจแต่การแก้ปัญหาระยะสั้น เรื่องปากท้อง “การท่องเที่ยว” ว่าเป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวที่ยังทำงาน ทำรายได้เข้าประเทศ ละเลยสรุปบทเรียน 3 ปีที่มีโควิดว่า การพึ่งพาโลกาภิวัตน์นั้น มีความเสี่ยงและไม่ยั่งยืน มีจุดอับที่มองไม่เห็น อาจเกิดปัญหาหลายอย่างที่คาดไม่ถึง

เมืองจีนที่ได้กลายเป็น “โรงงาน” ใหญ่ของโลก ก็ยังหันมาเน้นการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ หรือ “พึ่งตนเอง” ให้มากที่สุด เพราะ “จีดีพี” ของจีนกว่าครึ่งหนี่งมาจากการใช้จ่ายของคนจีน 1,400 ล้านคน

ขณะที่คนไทยยังหวังแต่จะได้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 40 ล้าน มองข้ามคนไทย 65 ล้านคน ที่ใช้จ่ายทำให้เกิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 50 จีดีพี มากกว่ารายได้จากการท่องเที่ยว มากกว่าการลงทุนของเอกชน ของรัฐ