ทวี  สุรฤทธิกุล

เล่าเรื่องการหาเสียงยุคเก่า แต่เมื่อมาถึงยุคไซเบอร์ก็ยังต้องอาศัย “หลักการเก่า ๆ” นั้นอยู่ดี

ตั้งชื่อบทความว่า “หาเสียงยุคใหม่ที่ดูดี” แต่ท่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มา อาจจะบอกว่าน่าจะชื่อ “การหาเสียงยุคเก่าเอามาปรับใช้ใหม่” มากกว่า ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะผู้เขียนต้องการให้เป็นเช่นนั้น

หลักการทั้ง 3 ข้อที่ผู้เขียนจะขอเรียกว่า “หลักการหาเสียงฉบับคึกฤทธิ์” อันประกอบด้วย 1. รู้ซึ้งถึงแก่นแกนสังคมใหญ่ 2. เข้าใจกลุ่มย่อยอันหลากหลาย และ 3. เปิดขยายเข้าไปนั่งในหัวใจผู้คน ยังถือได้ว่าเป็น “หัวใจหลัก” ในการหาเสียงเลือกตั้งมาทุกยุคทุกสมัย โดยจะขอยกตัวอย่างการหาเสียงในการเลือกตั้งที่กำลังเป็นอยู่ โดยมีพรรคที่กำลังหาเสียงในแนวนี้อยู่หลายพรรค แต่ว่าน่าจะผิดเพี้ยนหลักการไปพอสมควร โดยเฉพาะการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล

ทั้งสองพรรคมีจุดเด่นอยู่ที่หลักการข้อที่ 3 คือมีความสามารถในการเข้าไปนั่งในหัวใจผู้คน

พรรคเพื่อไทยนั้นคือพรรคที่มีดีเอ็นเอของพรรคไทยรักไทยที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2543 แต่ก็มีนโยบายที่ “จับใจ” มวลชนได้ทั้งประเทศ โดยพรรคไทยรักไทยได้ทำให้คนเล็กคนน้อยที่เรียกในยุคนั้นว่า “รากหญ้า” เกิดความรู้สึกว่าพวกเขา “มีความสำคัญ” หรือเป็นประชาชนที่รัฐบาลมองเห็น “เงาหัว”

นโยบายของพรรคไทยรักไทยทำให้เกิดสิ่งที่ท่านอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เขียนเป็นทฤษฎีที่เรียกว่า “สองนคราประชาธิปไตย – คนชนบทตั้งรัฐบาล คนเมืองล้มรัฐบาล” ที่สุดคนเมืองก็แพ้คนชนบทเพราะเลือกตั้งทุกครั้งคะแนนคนในชนบทก็ให้แก่พรรคไทยรักไทยมากกว่าพรรคอื่น ๆ มาโดยตลอด

ถึงขนาดที่กล้าประกาศว่า ในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ พรรคเพื่อไทยก็จะ “แลนด์สไลด์”

แต่ถึงแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส.เข้ามามากที่สุด แต่ก็เชื่อกันว่าจะตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่ก็มีทีท่าว่าอาจจะมีใบสั่งจากแดนไกล ให้พรรคเพื่อไทยประนีประนอมกับทหาร เพื่อแลกกับเสียง ส.ว.มาสนับสนุนนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

แต่นั่นแหละคือ “จุดดับ” เพราะพรรคเพื่อไทยเองอาจจะถึงขั้นพรรคแตก เพราะทหารและ ส.ว.คงไม่ให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตีกับพรรคเพื่อไทย แต่พวกที่อยากร่วมรัฐบาลในพรรคเพื่อไทยก็มีอยู่มาก ซึ่งก็ต้องทะเลาะกับพวกที่อยากให้ได้ทั้งเป็นรัฐบาลและมีคนของพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี

นี่เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ให้ความสำคัญกับ “หลักการคึกฤทธิ์” ในข้อแรก คือไม่ยอมรับว่า “แกนหลักของสังคมไทย” คืออะไร ซึ่งก็คือทหาร และทหารนั้นก็โยงใยมีอิทธิพลกับทุกองคาพยพ ทั้ง “บนและล่าง” ซึ่งถ้านายทักษิณยอมรับหลักการข้อนี้ก็คงไม่ต้องมีอันระเห็จไปอยู่ต่างแผ่นดิน จึงน่าประหลาดใจว่านายทักษิณคงจะยอมรับหลักกาข้อนี้แล้วกระมัง จึงมีทีท่าว่าจะยอมลดราวาศอกให้กับทหาร

กระแสเรื่อง “รัฐบาลก้าวข้าม(ความขัดแย้ง)” จึงดูท่าว่ากำลังจะมาแรงในขณะนี้

สำหรับพรรคก้าวไกล นอกจากจะได้เข้าไปนั่งในหัวใจของคนรุ่นใหม่มาตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2562 ได้ดีพอสมควรแล้ว ยังเป็นพรรคที่พยายามใช้หลักการคึกฤทธิ์ในข้อ 2 คือเข้าใจในกลุ่มที่หลากหลาย อย่างนโยบายที่พรรคนี้เน้นและนำมาใช้ในการหาเสียงครั้งนี้ 3 เรื่อง “การปฏิรูปทหาร สุราพื้นบ้าน และสมรสเสมอภาค” ซึ่งเจาะกลุ่มคนเกลียดทหาร คนที่รักเสรีภาพ และคนหลากหลายทางเพศ  หรือกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ตามลำดับ โดยพยายามถึงขั้นที่จะเข้าไปนั่งในหัวใจของผู้คนทุกกลุ่มเหล่านั้น อันเป็นหลักการคึกฤทธิ์ในข้อ 3

แต่ว่าพรรคก้าวไกลก็ยังมองข้ามความสำคัญของ “แกนหลักของสังคมไทย” โดยมีเรื่องที่คนที่ไม่ชอบพรรคก้าวหน้าเชื่อว่าพรรคนี้มีแนวคิดเชื่อมโยงกับพวกล้มสถาบัน รวมถึงพรรคนี้คิดจะทำลายจารีตหรือองค์กรที่คร่ำครึต่าง ๆ เช่น ระบบราชการ อย่างเรื่องที่โจมตีข้าราชการบำนาญว่าเป็นช้างป่วย เบียดบังเงินทองของประเทศเอาเปรียบคนกลุ่มอื่น ๆ รวมถึงการปฏิรูปทหารก็คงต้องกระทบกับ “อำมาตย์” ทั้งหลายโดยตรง

เมื่อกลางสัปดาห์ ฟังคุณพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกลให้สัมภาษณ์สื่อบางคน ยังยืนยันว่า “มีลุงไม่มีเรา” นันก็คือพรรคนี้พร้อมจะแตกหักกับแกนหลักที่ยึดครองประเทศอยู่นี้ และพร้อมจะเป็นฝ่ายค้านแม้ว่าจะได้เสียงข้างมาก

สำหรับผู้เขียน เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะเป็น “การดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของอำมาตย์” คือทหารน่าจะต้องต่อสู้กับพวกนักเลือกตั้งนั้นอย่างหนัก ซึ่งบางทีอาจถึงขั้น “กลืนเลือด” แลกกับเกียรติยศบางอย่าง ซึ่งจะขอเอาไปอธิบายในสัปดาห์ต่อไป

 

 

สัปดาห์นี้คงต้องปิดท้ายตามสัญญาที่บอกว่า คือ “ไม้เด็ด” ในการหาเสียง ตามชื่อของบทความชุดนี้ “การเลือกตั้งครั้งใหม่ให้ดูดี” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร และหลายท่านก็คงจะพอทราบบ้างแล้ว

เทคนิคนี้สืบเนื่องมาจากแนวคิดแบบไทย ๆ คือ “ความเป็นญาติย่อมเป็นที่อุปการะอย่างยิ่ง”

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ลักษณะเด่นของสังคมไทยคือความเป็นพวกพ้อง และพวกพ้องที่แข็งแกร่งที่สุดก็คือ “เครือญาติ” ดังนั้นตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงแล้ว ที่เรามีระบอบการปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก” จนถึงสมัยที่ทหารครองเมืองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายพลผ้าขาวม้าแดง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ใช้นโยบายแบบที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “พ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการ” หรือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่คนไทยนิยมเรียกท่านว่า “ป๋า” หรือแม้แต่พวกทหารใหญ่ ๆ ในยุคนี้ก็กลายสภาพเป็น “ลุง” ไปแล้วทุกคน

การหาเสียงแบบที่ทำให้ผู้เลือกตั้งยอมรับได้ว่า ผู้สมัครคือ “ญาติที่แท้จริง” นี่แหละที่จะทำให้ผู้สมัครคนนั้นได้เปรียบเหนือผู้อื่น และประสบชัยชนะในการเลือกตั้งได้อย่างง่ายดาย  

เวลาที่ท่านพูดคำว่า “สวัสดีครับพ่อแม่พี่น้องที่เคารพรัก” ก็ขอให้เป็นอย่านั้นจริง ๆ ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง