ทวี สุรฤทธิกุล

“ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” ตั้งรัฐบาลคราวนี้อาจจะยาก แต่ก็ต้องผ่านไปด้วยดี

ขึ้นอยู่กับ “น้ำหน้า” คือหน้าตาของ ส.ส. ว่าจะได้มาจากพรรคไหน เป็นจำนวนเท่าใด และใครจับมือกับใคร กับ “ราคา” คือการทำหน้าที่ของ ส.ว. ว่าจะเลือกกระทำยังไง เอาใจผู้มีอำนาจ หรือเอาใจประชาชน

ตอนนี้ในทุกพื้นที่สื่อล้วนพูดถึง “ผลการเลือกตั้ง” ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร พรรคไหนจะได้ ส.ส.มากน้อยไหร่ รวมทั้งที่พูดถึง “การจัดตั้งรัฐบาล” ว่าจะออกมามีหน้าตาอย่างไร ด้วยกระบวนการอย่างไร ซึ่งกูรูส่วนหนึ่งท่านวิเคราะห์ว่า อาจจะเป็นไปอย่างยากลำบาก จนถึงจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

ส่วนตัวผู้เขียนนั้นมองว่า แม้จะยากแต่สุดท้ายก็ต้องตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นให้ได้

ก่อนอื่นมาดู “หน้าตา ส.ส.” กันก่อน

ถ้าจะพิจารณาจากโพลต่าง ๆ ความโน้มเอียงถึงจำนวน ส.ส.ที่จะได้มามากที่สุดก็คือพรรคเพื่อไทย ที่ว่ากันว่าอาจจะมีจำนวนเกิน 200 คน ตามมาด้วยพรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย ที่น่าจะได้พรรคละเกิน 100 คน

3 พรรคนี้ก็ได้ ส.ส.กว่า 400 คนเข้าไปแล้ว

ที่เหลือคือพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ จะมี ส.ส. ระหว่าง 20 - 40 คน แล้วคงจะมีเหลืออีกไม่เกิน 20 ที่นั่งให้พรรคเล็กพรรคน้อยอีกสักไม่เกิน 4 - 5 พรรค

ส.ส.จากพรรคต่าง ๆ จำนวนราว 10 - 11 พรรคนี้ แบ่งเป็น 2 พวก

พวกหนึ่ง คาดว่าจะมีการจับมือกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ แต่อาจจะมีเสียงไม่ถึง 250 จึงอาจจะต้องหาพรรคเล็กเข้ามาอีกสัก 20 - 30 คน หรือถ้าพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.ไม่ถึง 200 คน นอกจากพรรคพลังประชารัฐแล้ว ก็อาจจะต้องดึงพรรค “อยากร่วมรัฐบาล” มาอีกสักหนึ่งพรรคใหญ่ ซึ่งก็จะเหลือแต่พรรคภูมิใจไทย เพราะพรรคก้าวไกลได้ประกาศแล้วว่า “มีลุงไม่มีเรา” จึงไม่น่าจะมาร่วมได้

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีพรรคประชาธิปัตย์ที่จ้องอยากเป็นรัฐบาลอยู่อย่างตาเป็นมันเหมือนกัน ก็อาจจะยอม “เสียอุดมการณ์(ซึ่งไม่มีเหลือแล้ว)เพื่อชาติ” ทำทีอิดออดย่องมาร่วมรัฐบาลด้วยก็ได้

ดังนั้นก็จะเหลือ ส.ส.อีกพวกหนึ่งไปทำหน้าที่ฝ่ายค้าน โดยมีพรรคก้าวไกลเป็นผู้นำ และมีพรรครวมไทยสร้างชาติ “จำใจ” ต้องเป็นฝ่ายค้านนั้นรวมอยู่ด้วย

ตามสูตรนี้ ว่ากันว่าลุงป้อมน่าจะได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยให้กระทรวงสำคัญ ๆ เว้นแต่กระทรวงกลาโหม ให้พรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยไปแบ่งกัน แต่ดูท่าพรรคเพื่อไทยน่าจะได้กระทรวงดี ๆ ไปมากกว่า เพราะพรรคภูมิใจไทยอาจจะต้องยอมเพื่อให้ได้ร่วมรัฐบาลอยู่ด้วยนั่นเอง

แต่สูตรนี้ต้องเกิดจากการที่ลุงป้อมสามารถเอาเสียงของ ส.ว.มาตั้งนายกรัฐมนตรีให้ได้นั้นเสียก่อน ซึ่งพรรคเพื่อไทยไม่มี นี่เองที่เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแก่ลุงป้อม

แต่การเมืองไทยไม่ได้มีอะไรตรงไปตรงมาเสมอไป ส.ว.เองก็ “เปลี่ยนนาย” ได้เสมอ ตัวอย่างคือการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ มาเป็น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2523 ก็เพราะ “ข้อมูลใหม่” ที่ทำให้ “ส.ว.เปี๊ยนไป” หรือพลเอกเปรมเองในตอนท้าย ๆ ของการครองอำนาจ ใน พ.ศ. 2531 ก็ถูก “ฎีกา 99 นักวิชาการ” นำร่องให้ลงจากอำนาจ ทั้งนี้ว่ากันว่าป๋าก็พอรู้แล้วว่า  “ลูก ๆ ป๋า” ในฝ่ายทหารและวุฒิสภานั้นเอาใจออกห่าง ตั้งแต่ที่มีความขัดแย้งกันหนักขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่าง จปร.รุ่น 5 กับรุ่น 7 ที่สุดหลังเลือกตั้งในปี 2531 เมื่อพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ไปขอให้เป็นนายกฯ ท่านก็บอกว่า “ผมพอแล้ว”

เป็นไปได้ว่า ส.ว.ชุดนี้ที่ทั้งลุงป้อมและลุงตู่ได้แต่งตั้งมากับมือ ก็อาจจะ “เปี๊ยนไป” ได้เหมือนกัน คืออาจจะไม่อยู่ในการกดปุ่มของทั้งสองลุงนั้นแล้วก็ได้

นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า “ราคา ส.ว.” คือ ส.ว.จะทำหน้าที่ของพวกเขาอย่างไร?

ถ้า ส.ว.จะเล่นตามกติกาอย่างตรงไปตรงมา ก็ต้องสนับสนุนฝ่ายที่มีเสียงข้างมากให้ได้เป็นรัฐบาล นั่นก็คือต้องเลือกคนจากที่ฝ่ายที่รวมกันได้เสียงข้างมากนั้นนำเสนอ

ทีนี้ฝ่ายที่มีเสียงข้างมากเกิดเป็นพรรคเพื่อไทย ที่มีปัญหากับหลาย ๆ สถาบัน รวมถึงทหารนั้นด้วย คนที่มาร่วมกับพรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่พลเอกประวิตร ก็อาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากทหาร ซึ่งทหารก็มีเสียงข้างมากอยู่ในวุฒิสภา ทีนี้ก็จะตั้งนายกรัฐมนตรีไม่ได้

กูรูบางท่านจึงกลับไปมองที่ลุงตู่ ว่าอาจจะเป็น “ตาอยู่หยิบชิ้นปลามัน” แม้พรรครวมไทยสร้างชาติจะได้ ส.ส.มาน้อยนิด แต่อย่างน้อยก็คาดหวังว่าน่าจะเกิน 25 คน และสามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้

แต่ถ้าพรรครวมไทยสร้างชาติได้ ส.ส.ไม่ถึง 25 คน ก็จะเกิด “เด้ดล็อค” คือตั้งนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ทีนี้ก็มีคนมองถึง “รัฐบาลสมานฉันท์” หรือ “รัฐบาลก้าวข้ามความขัดแย้ง” อย่างที่บางพรรคฝันหวานไว้ ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีก็กลับมาที่ลุงป้อมนั้นอีก ซึ่งก็อาศัย ส.ว.เป็นเส้นเลือดสุดท้ายเช่นเดิม

แต่ยังมีกูรูท่านหนึ่งที่ผู้เขียนไม่ขอเอ่ยนาม(เพราะท่านไม่อยากเด่นไม่อยากดัง) ท่านบอกว่าให้จับตาดู “เสี่ยหนู” คุณอนุทิน ชาญวีรกูล เอาไว้ บางที “ราชรถ” อาจจะทับเท้าเสี่ยหนูจนต้องกระโดดเข้าทำเนียบก็ได้ ซึ่งกูรูท่านนี้มองด้วย “ทฤษฎีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์” ที่อำนาจและผลประโยชน์ต่าง ๆ นั้นไม่เข้าใครออกใคร ภาษาชาวบ้านก็คือ “ใครมีอำนาจ เขาก็จะไปด้วยกับผู้มีอำนาจนั้น”

เสี่ยหนูนั้นมีทั้งอำนาจการเมือง ที่พรรคภูมิใจไทยก็ได้ ส.ส.มาก ส่วนตัวเสี่ยหนูและอีกหลาย ๆ เสี่ยในพรรคภูมิใจไทยก็ “พึ่งได้ ใจถึง” จึงดูมีภาษีและ “ออร่า” งดงามเป็นพิเศษ

คิดอย่างนี้แล้วก็ให้อิจฉา ส.ว.ทั้งหลายมาก ๆ เพราะอาจจะเล่นตัวได้กับทุกพรรคและทุกฝ่าย

ถึงตอนนั้นจะเรียกเอา “สวรรค์วิมาน” อะไร ๆ ก็ได้