เสือตัวที่ 6

การแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ยังคงขับเคลื่อนความพยายามอย่างเข้มข้นของทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการต่อสู้กับรัฐที่ดูเสมือนว่าก้าวย่างของฝ่ายต่อสู้กับรัฐยังคงก้าวนำฝ่ายรัฐอย่างต่อเนื่องเสมอมาอยู่ 2 – 3 ก้าวเป็นอย่างน้อย ในขณะที่ฝ่ายรัฐยังคงวาดฝันว่ากระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยความรุนแรงจากการใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นกันโดยเฉพาะฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เป็นฝ่ายกระทำต่อเจ้าหน้าที่รัฐเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม ด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐกับฝ่ายขบวนการแห่งนี้ยังคงมีความหวังแม้เป็นเพียงแสงสว่างเล็กๆ ที่ปลายอุโมงค์ในการแสวงหาแนวทางยุติรุนแรง สร้างพื้นที่ปรึกษาหารือ ใช้การเมืองหาทางออก ตามวิถีทางสันติวิธี และล่าสุดกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างคณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลไทย (PEDP-RTG) กับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นความคืบหน้าที่ดีที่ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลง และความเข้าใจร่วมกันเพื่อสร้างแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบองค์ร่วม (Joint Comprehensive Plan towards Peace, JCPP) ซึ่งเป็นตัวกำหนดทิศทางสำหรับปี 2566-2567 โดยมองว่า JCPP เป็น Road Map ที่แสดงให้เห็นว่า มีแสงสว่างเล็กๆ ที่ปลายอุโมงค์แห่งความหวังเพื่อสันติภาพสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของไทย เป็นความคาดหวังที่มีโอกาสทำให้ความขัดแย้งนี้จะสิ้นสุดลงได้ด้วย

พลเอก ศ.ตันศรี ดาโต๊ะ ศรี ปังลีมา ทีเอส ซุลกิฟลี บิน ฮัจญี ไซนัล อาบีดีน ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุขจากมาเลเซีย จะมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่รัฐบาลไทย และประชาคมปาตานี ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง และ ฝ่ายมาเลเซียคาดหวังว่า การเจรจาจะได้บรรลุแนวทางแก้ไขอันยุติธรรม อย่างยั่งยืน พร้อมยืนยันด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า ที่ผ่านมา ได้พยายามช่วยสร้างสันติภาพในภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังมีความหวัง และมั่นใจ ว่า วิธีการตามความเห็นชอบรวมของทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหา ควรเป็นวิธีปฏิบัติของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และส่วนได้ส่วนเสีย ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องการเน้นก็คือ การสร้างสันติภาพมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับมนุษยธรรม ดังนั้น ทุกฝ่ายควรพยายามขยายการมีส่วนร่วม ในสภาพแวดล้อมของแต่ละฝ่าย เพื่อบรรลุสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายจะสามารถเป็นผู้ชนะได้ (Win-Win) เป้าหมายการพูดคุยคือการมุ่งปรับเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ของกลุ่มผู้เห็นต่างระหว่างกัน จากการใช้ความรุนแรงมาสู่การต่อสู้ด้วยสันติวิธีผ่านการพูดคุยสันติสุข สันติภาพคือเป้าหมายของกระบวนการแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น มุ่งที่จะหาทางออกที่เป็นที่ยอมรับได้ของทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่สันติสุขของสังคมอย่างยั่งยืน ทุกฝ่ายต้องเห็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แสวงหาทางออกของการสนองตอบความต้องการของแต่ละฝ่ายด้วยกระบวนการพูดคุย และยอมรับว่า ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งประเภทไหน ก็ตาม ไม่อาจจะสิ้นสุดด้วยการใช้ความรุนแรง อย่างสุภาษิตมลายู บอกว่า Menang jadi arang, kalah jadi abu (ชนะก็เป็นถ่าน ชนะก็เป็นเถ้า) การแสวงหาทางออกด้วยการพูดคุยเพื่อตอบสนองความต้องการของทั้งสองฝ่ายแบบชนะทั้งคู่ (Win-Win) จะนำไปสู่สันติสุขอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

ปัจจุบันการพูดคุยกำลังเข้าสู่ขั้นตอนของการถกแถลงประเด็นสำคัญ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ประเด็นคือ 1. การลดความรุนแรง 2. การปรึกษาหารือสาธารณะ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ เช่น รูปแบบการบริหารพื้นที่ อัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น เศรษฐกิจและการพัฒนา ความยุติธรรมและกระบวนการทางกฎหมาย และการศึกษา ซึ่งประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ได้ถูกเห็นชอบ ให้เป็นประเด็นที่ต้องถูกถกแถลงในเอกสารหลักการทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยเพื่อสันติสุข (General Principles of the PDP) สำหรับกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ นั้น จะต้องได้รับความร่วมมือในการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ มากขึ้น นั่นก็หมายความว่าการดำเนินงานในระดับปฏิบัติให้บรรลุแผนงานตางๆ เหล่านั้น ยังต้องใช้ศักยภาพในระดับสูงของทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะการเอาจริงเอาจังของระดับขับเคลื่อนในทางปฏิบัติที่มีความประสานสอดรับกันอย่างเข้มข้น

ในขณะที่ นายอุสตาซอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยบีอาร์เอ็น ปาฐกถาพิเศษ โดยมีสาระสำคัญว่า ทุกเชื้อชาติที่มีอยู่บนหน้าแผ่นดินต้องการที่จะอยู่อย่างเท่าเทียมกันกับเชื้อชาติอื่น ๆ ในสภาวะแห่งความสงบสุข สันติ และปลอดภัย บนพื้นฐานและคุณค่าความเป็นมนุษยชาติที่มีอารยะและการเคารพซึ่งกันและกัน ดังนั้นการกดขี่ในทุกรูปแบบความโหดร้าย การละเมิดสิทธิมนุษยชนใด ๆ และการล่าอาณานิคมในทุกรูปแบบ จะต้องถูกกำจัดให้หมดไปในโลกนี้ ข้อตกลงในการเจรจาครั้งล่าสุดนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพปาตานี โดยเฉพาะกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยรัฐบาลไทยตกลงที่จะแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งเป็นความขัดแย้งนองเลือดในปาตานีด้วยสันติวิธี หรือด้วยการแก้ปัญหาทางการเมือง นี่คือจุดเริ่มต้นในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ ซึ่งรัฐบาลไทยเห็นพ้องและยอมรับว่าขบวนการปลดปล่อยปาตานี เป็นศัตรูทางการเมือง ไม่ใช่ในฐานะขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือผู้ก่อการร้าย หรือผู้ก่อกวนสันติภาพ ทั้งหมดนี้คือกระบวนการความก้าวหน้า ที่ยังคงมีลักษณะเป็นนามธรรม ซึ่งจำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้นจริงและพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมหรือเป็นจริงในภาคปฏิบัติ นี่คือขั้นตอนเริ่มต้นในกระบวนการเจรจา ที่เพิ่งเริ่มเป็นก้าวแรกในรอบทศวรรษ แต่สิ่งที่ซ่อนเร้นในกระบวนการเจรจา สามารถสร้างเครื่องมือการรื้อฟื้นการสร้างเอกลักษณ์ และเพิ่มพูนเกียรติยศของชาติ นั่นเป็นหนึ่งในเบื้องหลังแนวคิดของการเจรจาต่อรอง

ทั้งหมดทั้งปวงสะท้อนวิธีคิดและความคาดหวังของแต่ละฝ่ายที่ซ่อนปมซ่อนเงื่อนของการพูดคุยสันติภาพที่แตกต่าง อาทิ ฝ่ายรัฐเห็นว่าเป็นกระบวนการพูดคุยสันติสุข ในขณะที่ฝ่ายขบวนการเรียกว่าการเจรจาสันติภาพ ฝ่ายรัฐเห็นว่าเป็นการพูดคุย ในขณะที่ฝ่ายขบวนการเห็นว่าเป็นการเจรจาต่อรอง ฝ่ายรัฐเห็นว่าเป็นสันติภาพบนพื้นฐานของความเป็นเอกภาพของดินแดน ในขณะที่ฝ่ายขบวนการเป็นว่า เป็นสันติภาพบนพื้นฐานของเอกลักษณ์เฉพาะตนและเกียรติยศของชาติตามที่พวกเขาต้องการ ฝ่ายรัฐเห็นว่าเป็นความสำเร็จบนก้าวแรกแห่งแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ในขณะที่ฝ่ายขบวนการแห่งนี้เห็นว่า ยังคงเป็นนามธรรมที่ต้องต่อสู้อีกยาวไกลจนกว่าจะถึงปลายอุโมงค์ในรูปแบบที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนให้ความคาดหวัง