ทวี สุรฤทธิกุล “ดั่งฟ้าดับ โลกสิ้น แผ่นดินถล่ม ไทยวิโยค โศกตรม สุดเหลือที่ จะอยู่กัน ต่อไป อย่างไรดี วันพรุ่งนี้ ที่ไม่มี พ่อหลวงไทย” ผู้เขียนได้อ่านกลอนนี้จากโซเชียลมีเดียเมื่อหลายวันก่อน ในบรรยากาศของความโศกเศร้าที่มากมายเกินกว่าจะพรรณาได้ ในการเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ยิ่งนับวับที่ผ่านไปก็จะยิ่งมีความโศกาอาลัยเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณตามจำนวนเวลาที่ผ่านไปนั้น ผู้เขียนได้เปิดชมละครเรื่อง “สี่แผ่นดิน” จากสถานีโทรทัศน์ PPTV ในเวอร์ชั่นที่สร้างโดยหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล (พ.ศ. 2546) เมื่อหลายคืนก่อน ทำให้นึกถึงบรรยากาศในยุคก่อนที่คนไทยต้องสูญเสียพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่ง “สมเด็จพระปิยมหาราช” รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าคงจะเป็นบรรยากาศที่สะท้อนความรู้สึกเดียวกันกับคนไทยทั้งประเทศในเวลานี้ สังคมไทยสมัยนั้นยังไม่มีกิจการสื่อสารมวลชนจำพวกหนังสือพิมพ์ วิทยุ และทีวี ที่ทันสมัยอย่างในสมัยนี้ ซึ่งก็คงไม่ต้องไปพูดถึงสื่อคอมพิวเตอร์จำพวกอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ที่ถือว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ของคนในทุกวันนี้ไปแล้ว ดังนั้นการสื่อสารในข่าวสารเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์จึงมีลักษณะที่เป็น “ปากต่อปาก” ที่ชาวบ้าน “โจษขาน” กันต่อๆ ไปเป็นหลัก จึงน่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยสภาพของการสื่อสารที่ต้องกระทำด้วยตัวบุคคลต่อบุคคลอันยากลำบากดังกล่าว แต่คนไทยในครั้งกระนั้นก็รับทราบถึงพระราชจริยวัตรและพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้อย่างลึกซึ้ง ดังที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินได้พรรณาไว้ ในเรื่องสี่แผ่นดินในฉากที่แม่พลอยออกจากบ้านถนนสาธร(ปัจจุบันให้เขียนว่าสาทร)มาที่ถนนราชดำเนิน เพื่อเฝ้ารับขบวนพระบรมศพจากพระราชวังดุสิต มาประดิษฐานที่พระที่นั่งดุสิตมหาประสาทในพระบรมมหาราชวัง แม่พลอยเห็นผู้คนแต่งดำไปหมดทั่วทั้งถนนและทุกบ้านเรือน บรรยากาศอึมครึมซึมเศร้าทั่วทุกอณูอากาศ ดังที่แม่พลอยบอกว่า “ไม่มีเสียงอื่นๆ เลยในวันนั้น ทุกถิ่นที่เงียบสงบไปสิ้น แต่ถ้าลองตั้งใจฟังดีๆ แล้ว ก็จะได้ยินเสียงสะอึกสะอื้นดังระงมอยู่ทั่วไป คือเสียงสะอื้นไห้ที่ออกมาจากหัวใจของทุกๆ คน” เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินขึ้นสู่รัชกาลที่ 6 ความเศร้าโศกก็ไม่ได้หายไป เพียงแต่ถูกกลบทับด้วย “ความหวัง” ที่จะได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขใต้พระบรมโพธิสมภารของรัชกาลต่อมา แม้สิ้นรัชกาลที่ 7 และสุดท้ายรัชกาลที่ 8 ที่แม่พลอยพูดอย่างน่าสงสารว่า “ทรงพระเยาว์เหลือเกิน” ซึ่งก็คงเป็นด้วยความรู้สึกของผู้หลักผู้ใหญ่ในวัยของแม่พลอย และในเย็นวันนั้นเอง(ที่รัชกาลที่ 8 สวรรคต)แม่พลอยขณะไปนั่งที่ท่าน้ำ กำลังเหม่อมองน้ำในคลองที่กำลังไหลรี่ลดลงเพราะเป็นช่วงน้ำลด “หัวใจแม่พลอยก็หลุดลอยสิ้นไปกับสายน้ำในคลองนั้น” นับเป็นฉากจบที่ให้ความรู้สึกแสนงดงาม เพราะหมดลมหายใจไปพร้อมกับการได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่ทำให้แม่พลอย “ได้รับความสุขร่มเย็น” มาถึง 4 รัชกาลนั้น ผู้เขียนเล่าถึงเรื่องสี่แผ่นดินในฉากที่แม่พลอยในฐานะตัวแทนของคนไทยที่รักพระมหากษัตรย์มากๆ คนหนึ่งได้แสดงความรู้สึกต่อการสูญเสียในหลวงพระองค์แล้วพระองค์เล่า ก็เพียงเพื่อต้องการจะบอกว่าคนไทยในขณะนี้ที่เราต้องสูญเสีย “ในหลวงภูมิพล” ก็คงจะมีความรู้สึกไม่ต่างจากแม่พลอย คนไทยกับในหลวงมีความใกล้ชิดกันอย่างที่สุด เหมือนครั้งที่คนไทยในยุคแม่พลอยได้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระมหากษัตริย์ทรงโน้มพระองค์ลงมาให้ราษฎรได้สัมผัส เช่นเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯในยุคที่เพิ่งผ่านมา ที่ได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนคนไทยในทุกถิ่นที่ เกิดความแนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่เพียงแต่ในทางสายเลือดที่เกิดมาร่วมชาติร่วมแผ่นดิน แต่เพราะได้ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมสร้าง ร่วมพัฒนา และเป็นที่พึ่งที่หวังให้แก่คนไทยในทุกๆ ด้าน ในวันนี้ “วันที่คนไทยไม่มีในหลวงภูมิพล” เราก็คงมีความเศร้าโศกเสียใจอย่างสุดพรรณา แต่สิ่งหนึ่งที่คนในยุคแม่พลอยเมื่อครั้งที่สิ้นแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงได้ร่วมกันสร้างขึ้นนั้นก็คือ “ความหวัง” ในอันที่เราจะได้ช่วยกันนำเอา “ความรู้สึกดีๆ ครั้งที่ยังมีพระองค์ท่าน” มาเป็น “พลัง” ที่จะทำให้ประเทศไทยของเรานี้เดินหน้าต่อไป สังคมในเวลาต่อมาของแม่พลอยก็ต้องผ่านวิกฤติต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และที่ร้ายแรงที่สุดก็คือการสิ้นพระชนม์ของในหลวงถึง 4 พระองค์ในเพียงชั่วชีวิตเดียวของแม่พลอย แต่คนไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่รวมถึงแม่พลอยนี้ก็ยัง “ยืนหยัด - แข็งแกร่ง” ช่วยกันนำพาให้ประเทศไทยมีความวัฒนาก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ ข้าพระพุทธเหล่าปวงไทยขอถวายสักการะรำลึกพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้แด่พระบูรพมหากษัตริย์ทุกแผ่นดินที่ผ่านมา ให้ทรงสถิตย์ยังฟากฟ้าสวรรคาลัย ปกป้องคุ้มครองโพยภัย คุ้มเกล้าคุ้มกระหม่อมคนไทยไปชั่วกาลปาวสานต์ และขอน้อมเกล้าฯถวายพระพรให้พระมหากษัตริย์ในแผ่นดินใหม่ ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญให้ความสุขความร่มเย็นแก่ปวงชาวไทยตลอดไป