ทวี สุรฤทธิกุล

หลายคนฝันว่าเลือกตั้งแล้วจะดีขึ้น แต่ต้องระวังเหมือนกับที่พิเภกแก้ฝันให้ทศกัณฐ์

“ฝันนี้มิได้สถาพร จะร้อนทั่วลงกาอาณาจักร ทั้งพวกอสูรหมู่ยักษ์ จะซบพักตร์ร่ำร้องรักกันฯ”

โขนตอนนี้เป็นตอนที่นางสำมะนักขา น้องของทศกัณฐ์ได้ไปลักตัวนางสีดามาที่กรุงลงกา แล้วทศกัณฐ์ก็ฝันร้าย เรียกน้องชายคือพิเภกมาทำนายฝัน ซึ่งพิเภกก็ทายด้วยความซื่อสัตย์ในวิชาชีพการเป็นโหรว่า ทศกรรฐ์และพวกยักษ์จะเดือดร้อนเพราะนางสีดา จะพากันย่อยยับไปทั้งวงศ์ตระกูล ขอให้ส่งนางสีดาคืนให้พระรามเสีย ทศกัณฐ์โกรธพิเภกมาก ไล่เตะและตีพิเภก พร้อมกับขับไล่ออกไปจากกรุงลงกา โขนตอนนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “ขับพิเภก” แต่สมัยใหม่มาปรับชื่อให้ดูดีและเป็นเกียรติแก่พิเภกมากขึ้น ในชื่อว่า “พิเภกสวามิภักดิ์”

ที่ยกโขนตอนพิเภกสวามิภักดิ์นี้มาเทียบเคียงกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ ก็เพื่อจะบอกว่า “กูรู” จำนวนมาก โดยเฉพาะกูรูหรือผู้รู้ท่านที่เป็นกลางและมองการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยความเป็นธรรม เหมือนกับพิเภกที่ให้ความเห็นแก่ทศกัณฐ์อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งกูรูเหล่านี้ก็ได้เตือนแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังเลือกตั้ง

เรื่องแรก ท่านเตือนว่าอย่าไปเชื่อขี้ปากนักเลือกตั้ง เพราะส่วนมากจะโกหกหรือพูดเอาดีเข้าตัวด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งเรื่องนโยบายและการจัดตั้งรัฐบาล

เริ่มต้นทุกพรรคก็ล้วนแต่มีนโยบายที่สวยหรู หลายนโยบายทำไม่ได้ หรือถ้าทำไปแล้วก็จะมีผลเสียหายมากมายตามมา แต่ผู้เลือกตั้งก็ชอบได้ยินแต่ฝันสวย ๆ ซึ่งก็ตามมาด้วยความผิดหวังชอกช้ำทุกครั้ง

อีกส่วนหนึ่งเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ในเวลาที่หาเสียงก็แบ่งเป็นฟากฝ่าย ด้วยคาดหวังว่าพรรคนั้นจะได้ ส.ส.เท่านั้น พรรคนี้จะได้ ส.ส.เท่านี้ พอเลือกตั้งเข้ามาได้ตัวเลขก็อาจจะเปลี่ยนไป แผนการที่จะร่วมรัฐบาลก็อาจจะเปลี่ยนไป ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะเชื่อขี้ปากนักการเมือง เพราะในทางการเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้

เรื่องต่อมา ท่านเตือนว่าพวกที่เคยครองอำนาจมา 8 ปีกว่านั้น ยังคงต้องการที่จะมีอำนาจต่อไป เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง ก็อาจจะมีการ “คว่ำกระดาน” หรือหาเหตุล้มการเลือกตั้งก็ได้ อย่างที่มีข่าวจะยุบพรรคการเมืองบางพรรค หรือทำให้การเลือกตั้งวุ่นวายและเป็นโมฆะ

ที่น่าเศร้าใจก็คือพรรคการเมืองบางพรรคที่ได้รับเลือกตั้งมี ส.ส.เข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถที่จะได้เข้าร่วมเป็นรัฐบาล หรือถูกกีดกันออกไป ทั้งที่พรรคนี้เป็นความหวังของคนรุ่นใหม่หรือหมู่คนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง สิ่งนี้ก็จะกลายเป็น “โมเมนตัม” หรือ “พลังแกว่งไกว” นำไปสู่ความวุ่นวายภายหลังการเลือกตั้ง เพราะกูรูหลายท่านเชื่อว่าอำนาจการเมืองคงจะยังอยู่ในมือของกลุ่มคนเดิม ๆ เหมือนที่เคยเป็นมา

อีกเรื่องหนึ่ง ท่านเตือนว่าประชาชนก็ยังจะต้องเป็นเบี้ยล่างให้ช้างสารเขาชนกันต่อไป นั่นคือหลังเลือกตั้งประชาชนจะถูกแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย แล้วเอาประชาชนแต่ละฝ่ายมาทะเลาะกัน ให้ผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดนั้นได้มีอำนาจต่อไป โดยอาศัยประชาชนเป็นสะพานไต่ขึ้นสู่อำนาจอีกครั้ง

สิ่งนี้เรียกว่า “สำเหนียก” คือการรับรู้อันเกิดจากประสบการณ์ที่ได้รับ โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ทำให้คนไทยได้สำเหนียกว่า พวกเราจะเป็นเทวดาหรือเป็นที่รักของนักการเมืองก็เฉพาะแต่ในเวลาที่เขามาหาเสียง แต่หลังเลือกตั้งแล้วก็จะกลับไปเป็น “โนบอดี้” เช่นเดิมเหมือนทุกครั้ง เพราะนักการเมืองจะไม่เห็นความสำคัญของเราอีกต่อไป รวมถึงหากไปทวงสัญญาและบุญคุณต่าง ๆ นักการเมืองเหล่านั้นก็จะเอาหูทวนลม และมองข้ามหัวประชาชนไปอย่างที่เคยทำมาในทุกกาลสมัยนั้น

บทความนี้ก็เป็นความเห็นของอีกกูรูหนึ่ง ที่อยากจะทำตัวเป็นพิเภกที่เตือนทศกรรฐ์ คือเตือนผู้มีอำนาจที่กำลังคิดการใหญ่หลังเลือกตั้ง

ประการแรก ท่าน(ผู้ชนะเลือกตั้งและกำลังคิดจัดตั้งรัฐบาล)คงจะต้องมองย้อนไปก่อนการเลือกตั้ง ว่าได้พูดหรือสัญญาอะไรไว้กับประชาชนสักเล็กน้อย อย่างน้อยถ้าทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องให้คำอธิบายที่มีเหตุมีผล รวมถึงที่หากจะต้องตระบัดสัตย์ไปร่วมเป็นรัฐบาลกับใครที่เคยต่อต้าน ก็ต้องอธิบายเหตุผลว่าเป็นเพราะเหตุใด

ประการต่อมา ท่านจะต้องให้เกียรติกับคนไทย ด้วยการเปิดเผยความเคลื่อนไหว หรือการดำเนินการต่าง ๆ ในการจัดตั้งรัฐบาลให้โปร่งใส อย่าให้มีการไปทำ “ดีลลับ” หรือตกลงปลงใจกันโดยที่ประชาชนไม่ได้รับข้อมูล นั่นก็คือควรจะรับฟังเสียงประชาชนที่เขาอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพื่อรับไว้เป็นข้อพิจารณาในการจัดตั้งรัฐบาล และเพื่อไม่ให้ขัดกับกับความรู้สึกของประชาชน อันจะส่งผลต่อการบริหารประเทศภายหลังการเลือกตั้ง

พูดตรง ๆ ก็คือ จะได้ไม่เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน หรือเป็นเหตุให้หาเรื่องให้ทหารมาทำปฏิวัติ!

ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าทุกสิ่งทุกอย่างภายหลังการเลือกตั้งดำเนินไปอย่างโปร่งใส โดยนักการเมืองก็ต้องคอยรับฟังและสื่อสารกับประชาชน ความขัดแย้งดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีตก็น่าจะลดลง

ที่แนะนำอย่างนี้ก็เพราะที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจและนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไป มักจะถือความเห็นของตนเองเป็นใหญ่ โดยไม่ฟังกระแสสังคม เพราะหลังการเลือกตั้งแล้ว ผู้ชนะก็จะดีใจ ส่วนผู้แพ้ก็จะเสียใจ นักการเมืองที่ดีควรมีหน้าที่ในการสมานแผลสังคมหลังการเลือกตั้ง โดยการชื่นชมผู้ชนะ ในขณะเดียวกันก็ต้องปลอบประโลมผู้แพ้ แล้วสังคมก็จะไม่เกิดการร้าวฉาน หรือถ้ามีก็สามารถประสานคืนได้โดยง่าย

เลือกตั้งมาครั้งแล้วครั้งเล่า จึงควรเป็นบทเรียนแก่ทั้งผู้ลงคะแนนเลือกตั้งและผู้รับเลือกตั้ง ดังนี้