เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

ถ้ารัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลอยากเปลี่ยนประเทศไทยให้ดีขึ้นด้วยแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย ต้องเปลี่ยนระบบการศึกษา เปลี่ยนวิธีคิดของคน ไม่เช่นนั้น จะมีคนอยากกลับไปอยู่ในยุคกรีก ที่อยากได้ “ราชาปราชญ์” อยากได้ “คนดี” ปกครองบ้านเมือง คนดีแต่ระบบเลว สังคมจะดีได้อย่างไร

โสคราติสกับเพลโตไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตยที่สมัยนั้นเป็นแบบ “ทางตรง” ผู้ชายทุกคนเป็น “ส.ส.” เพลโตว่า คนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ ไปตัดสินใจเรื่องสำคัญทางการเมืองไม่ได้ จะเกิดอนาธิปไตยวุ่นวายโกลาหล

แต่นั่นคือสังคมกรีกเมื่อกว่าสองพันปีก่อน สามร้อยปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยได้ “เกิดใหม่” ในรูปแบบ “ตัวแทน” ซึ่งก็ไม่ได้มีคนมีความรู้และคุณธรรมเสมอไป แต่ประชาธิปไตยก็ค่อยๆ เติบโต อย่างที่เห็นในประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก ที่ไม่ยอมให้มี “ราชาปราชญ์” หรือ “คนดี” คนเดียวปกครองบ้านเมือง

อย่างไรก็ดี มีการเสนอสังคมในอุดมคติ หรือ “ยูโทเปีย” กันตลอดมา ตั้งแต่โทมัส โมร์ ของอังกฤษเมื่อสามสี่ร้อยปีก่อน รวมทั้งท่านพุทธทาสที่เสนอ  “ธัมมิกประชาธิปไตย”

ท่านให้เหตุผลว่า “ประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนเห็นแก่ตัว ประชาชนบ้าๆ บอๆ ก็ฉิบหายหมด” แล้วท่านก็เสนอว่าประชาธิปไตยที่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่คือ “ธัมมิกประชาธิปไตย” คือประชาธิปไตยที่ประกอบด้วยธรรม 

คำถามคือ จะไปถึงสังคมประชาธิปไตยในอุดมคติได้อย่างไร  กรุงโรมไม่ได้สร้างในวันเดียว ประเทศพัฒนาแล้วล้วนมีการต่อสู้กว่าจะมาถึงประชาธิปไตยในปัจจุบัน ฝรั่งเศสใช้เวลาเกือบร้อยปีตั้งแต่ปฏิวัติ 1789 เพื่อจะก้าวสู่ความเป็นสาธารณรัฐและเป็นประชาธิปไตย  แอฟริกาใต้ใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะได้ความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพสำหรับคนผิวสี คนส่วนใหญ่ของประเทศที่ถูกคนผิวขาวส่วนน้อยกดขี่

เนลสัน แมนเดลา ผู้นำขบวนการปลดแอกกู้ชาติ ต่อสู้ทุกรูปแบบ ติดคุก 27 ปี กว่าจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรก บอกว่า  “ประชากรที่มีการศึกษา รู้แจ้ง และได้รับข้อมูลข่าวสาร คือ หนึ่งในหนทางที่ดีที่สุดในการส่งเสริมประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง” “อาวุธที่มีพลังมากที่สุดเพื่อการเปลี่ยนโลก คือ การศึกษา”

หลายทศวรรษที่ผ่านมา มีแผนการ “ปฏิรูปการศึกษา” เกือบทุกรัฐบาล แต่ก็เหมือนลมพัดมาก็ผ่านไป ไม่เกิดอะไรอย่างที่พอจะเรียกได้ว่า “ปฏิรูป”

ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลก็อยากแนะนำให้เลิกใช้คำว่า “ปฏิรูปการศึกษา” เพราะวิสัยทัศน์และแผนที่พวกคุณเสนอน่าจะเรียกว่า “รื้อระบบการศึกษา” มากกว่า  ถ้าบ้านเก่าอยู่ไม่ได้ ก็รื้อสร้างใหม่ ลง “เสาเข็ม” ดีๆ สักจำนวนหนึ่ง อยากเสนอ 4 ประเด็นและตั้งโจทย์ให้หาคำตอบเอง

1 กระจายอำนาจ ทำอย่างไรปรับส่วนกลางให้เล็กลง ทั้งที่ ศธ. และ อว. กระจายงบประมาณ บุคลากร ทรัพยากร อำนาจการตัดสินใจไปให้ “ท้องถิ่น”  การจัดหลักสูตร การบริหารจัดการโดยท้องถิ่น  สำนักงานในกรุงเทพฯ ควรเล็กมาก (ดร.สุกรี เจริญสุข เคยเสนอว่า ถ้ามี 5,000 ก็ให้เหลือ 500) ไม่ควรมีหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุม แต่ส่งเสริมสนับสนุน และไม่ตัดเสื้อตัวเดียวให้ใส่กันทุกสถาบันการศึกษา มาตรฐานเดียวทั้งประเทศ

ไม่ใช่ให้คนที่เพิ่งจบป.ตรีมาตรวจหลักสูตรใหม่ว่า มีอาจารย์กี่คน วุฒิตรงหรือไม่ ดูถูกภูมิปัญญาของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นถึง ศ. รศ. ดร. แพทย์มีแพทยสภาดูแล มหาวิทยาลัยก็ควรมีสภากลางของผู้บริหารมหาวิทยาลัยร่วมกันกำกับดูแลกันเอง ให้อำนาจกำกับดูแลคุณภาพและการพัฒนาหลักสูตรของตนเอง

2 การศึกษาสำหรับทุกคน ตลอดชีวิต ตลอดเวลา ไม่ใช่ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่พูดไปแบบคนไม่รู้เรื่องการศึกษา ต้องตีโจทย์ให้แตกว่า การศึกษาของชุมชน ให้โอกาสทุกคน เรียนตลอดชีวิตคืออะไร

3 ทำอย่างไรให้แยกสายวิชาชีพกับสายวิชาการตั้งแต่มัธยมต้น และให้ความสำคัญกับการศึกษาอาชีพ ปวช. ปวส. ป.ตรีสายอาชีพ ปรับทัศนคติให้การศึกษาสายอาชีพมีเกียรติมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับสายวิชาการ

4 สถาบันอุดมศึกษาปรับบทบาทใหม่อย่างไรให้ชัดเจนว่าจะเป็นสายอาชีพ หรือสายวิชาการ สายอาชีพให้เรียนด้วยทำงานด้วย สายวิชาการให้เรียนด้วยวิจัยด้วย ให้มีงบประมาณส่งเสริมทั้งสองสายมากที่สุด ยังไม่ต้องปิดมหาวิทยาลัย แต่ให้จัดการเรียนรู้ “ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน” หลักสูตรสั้นยาว ถ้าปรับไม่ได้ก็ปิดเสีย

เกาหลี สิงคโปร์ 50-60 ปีก่อนอยู่ในระนาบเดียวกับไทย หรือบางอย่างล้าหลังกว่าด้วยซ้ำ วันนี้เขาไปไกลจนไทยไม่เห็นฝุ่น เพราะเขาสร้างรากฐานสังคมด้วยความรู้ด้วยปัญญา สร้าง “คน-ความรู้-ระบบ” ให้สังคมพัฒนาศักยภาพของประชาชน  การศึกษาของสองชาตินี้พัฒนาจนอยู่ระดับต้นๆ ของโลก

งบประมาณวิจัยและพัฒนาของสิงคโปร์กับเกาหลีมากกว่าไทยมากนัก สิงคโปร์เกือบร้อยละ 2 ของจีดีพี เกาหลีเกือบร้อยละ 5 ของไทยยังไม่ได้ร้อยละ 1 มหาวิทยาลัยได้งบวิจัยน้อยมาก สังคมใหม่บนฐานความรู้เกิดได้ ต้องมีงบประมาณวิจัยให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งสายวิชาการและสายอาชีพ

การรื้อสร้างใหม่คงไม่ง่าย ยากที่สุดคงเป็น “การปฏิรูปครู” ที่พรรคก้าวไกลตั้งใจ ปรับโครงสร้างคงทำได้ แต่เปลี่ยนวิธีคิดหรือไมน์แซตครูนี่สาหัสแน่ แต่ถ้ารื้อระบบโครงสร้างได้จริง ครูไม่ปรับก็อยู่ไม่ได้ ถ้าครูต้องการแก้ปัญหาหนี้สิน ต้องปรับวิธีคิด วิถีชีวิตด้วย เงินเดือนมากเพียงใดก็ไม่พอ เพราะหนี้ก็เพิ่มตาม

สร้างระบบการศึกษาใหม่เป็นไปได้ถ้าทำพร้อมกันทั้งรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการศึกษาให้ดีที่สุด เหมือนหลายแห่งที่ผ่านมาทำได้ดี ทั้งๆ ที่งบประมาณจำกัด

ถ้ารัฐบาลใหม่มี “กระบวนทัศน์การศึกษาใหม่” คือวิธีคิดและวิธีปฏิบัติบนฐานการมองโลกความเป็นจริงใหม่ ก็ขอให้มียุทธศาสตร์และยุทธวิธี วิถี (means) ที่เหมาะสม ระดมสรรพกำลังคนที่มี “ปัญญา” มาช่วยกัน

หนทางยังยาวไกลสำหรับสังคมโครงสร้างใหม่  ระยะทางหมื่นลี้เริ่มที่ก้าวแรก ถ้าก้าวเดินด้วยความมุ่งมั่นอดทน ก้าวไปไม่ก้าวร้าวเกินไป จะนำพาประเทศไทยก้าวไกลได้ ด้วยการสนับสนุนของประชาชน