ทวี สุรฤทธิกุล

การลงนามในสัตยาบันก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตอนนี้ก็วุ่นอยู่กับการหาประธานสภาผู้แทนราษฎรกับแบ่งเค้กคณะรัฐมนตรี

สืบเนื่องเรื่องที่บ้านเมืองอาจจะมีปัญหาว้าวุ่น เพราะฮอร์โมนวัยห้าวอย่างคุณพิธาอาจจะส่งปัญหาต่อบ้านเมือง ดังนั้นผู้เขียนที่เคยทำงานอยู่กับท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งถือได้ว่าท่านเป็นกูรูคนสำคัญในบ้านเมืองคนหนึ่งในสมัยก่อน และมักจะมีความเห็นและบทบาทต่าง ๆ ในการกอบกู้บ้านเมืองมาโดยตลอดในยุคนั้น อยากจะสมมุติว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังมีชีวิตอยู่ และท่านคงจะมีข้อแนะนำแก่คุณพิธาอยู่หลาย ๆ เรื่อง

แน่นอนว่าคุณพิธาเกิดในยุคใหม่ และเกิดไม่ทัน 14 ตุลาคม 2516 หรือแม้กระทั่ง 6 ตุลาคม 2519 เพราะคุณพิธามีอายุแค่ 42 ปี และเหตุการณ์ทั้งสองก็มีอายุเกือบ 50 ปี ดังนั้นจึงอาจจะไม่มีประสบการณ์ถึงความล้มเหลวของคนรุ่นนั้น ในการ “เปลี่ยนแปลง” ประเทศไทย ตามอุดมการณ์ของพวกเขา

อย่างที่ผู้เขียนได้บรรยายไว้ในบทความนี้เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งสรุปได้ว่า เหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 คือชัยชนะของนิสิตนักศึกษา ปัญญาชน และคนรุ่นใหม่ ที่มีต่อทหารและการปกครองระบอบเผด็จการที่ปกครองประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2490 แต่คนรุ่นใหม่ในยุคนั้นก็ไม่ได้เข้าไปมีอำนาจโดยตรงในการบริหารประเทศ เพราะ ส.ส.ในฝ่ายของคนรุ่นใหม่มีนโยบายไปในทางสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ และมีจำนวนน้อยกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่ยังคงครองเสียงข้างมากในสภา รวมทั้งที่ทหารก็ไม่ได้หมดอิทธิพลออกไปจากการเมือง แต่ยังใช้กลยุทธ์ “ยุแหย่” ให้ทั้งในฝ่ายอนุรักษนิยมนั้นก็แตกแยกกันเอง พร้อมกับที่แบ่งแยกฝ่ายสังคมนิยมและคนรุ่นใหม่ออกจากคนส่วนใหญ่ในประเทศที่ยังคงเทิดทูนและจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ที่สุดแผนการดังกล่าวนี้ก็ประสบความสำเร็จ ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่านักศึกษาและปัญญาชนเป็นคอมมิวนิสต์ โดยระดมเสนอข่าวสารต่าง ๆ ว่า การชุมนุมประท้วงและความวุ่นวายต่าง ๆ ในบ้านเมือง เกิดขึ้นจากการกระทำของนักศึกษาและพวกคอมมิวนิสต์ ในขณะที่รัฐบาลก็อ่อนแอ มีการแก่งแย่งตำแหน่งกันจนรัฐบาลต้องยุบสภา ในขณะที่ยังเพิ่งบริหารประเทศมาได้เพียง 11 เดือน และภายหลังจากการเลือกตั้งในตอนต้นปี 2519 ก็ยังได้รัฐบาลที่แตกแยก แม้แต่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำของรัฐบาล ก็คุมลูกพรรคไม่ได้ การประท้วงและเดินขบวนก็ยังคงมีมาก ทีนี้ก็ผสมโรงด้วยขบวนการ “ขวาพิฆาตซ้าย” ปลุกระดมลูกเสือชาวบ้านและประชาชน จนเมื่อมีการชุมนุมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเดือนตุลาคม 2519 ทหารตำรวจก็ส่งกำลังเข้าล้อมปราบและฆ่าผู้ชุมนุมอย่างป่าเถื่อน แล้วทหารก็ยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคมปีนั้น

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์คงมองเห็นภาพที่กำลังจะกลายเป็น “หายนะ” มาตั้งแต่แรก ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั่นแล้ว โดยเฉพาะการก่อตัวของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่เคลื่อนไหวเดินขบวนในเดือนพฤศจิกายน 2515 แม้ผู้นำนักศึกษาจะอ้างว่าเป็นการประท้วงสินค้าญี่ปุ่นที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้ามหาศาล แต่เนื้อในใคร ๆ ก็ทราบว่า ต้องการ “อัดทหาร” เอาลงจากเวทีการเมือง

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เขียนบทคามในช่วงนั้น เตือนฝ่ายทหารว่าอย่าได้ประมาทการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของนักศึกษา แต่ทหารก็คงไม่เชื่อ หรือก็พอทราบแต่ไม่ได้คิดว่าจะทำอะไรทหารได้ สุดท้ายก็เกิด 14 ตุลาคม 2516 แต่ทหารก็กลับคืนสู่อำนาจได้อย่างรวดเร็วด้วยการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ดังกล่าว

เราลองนึกภาพว่า ตอนนี้พรรคก้าวไกลก็กำลังลิงโลดกับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา สมมติว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และด้วยการใช้มวลชนผ่านสื่อโซเชียลต่าง ๆ กดดันกลุ่มอำนาจอื่น ๆ ทั้งในและนอกสภา สภาพการณ์ก็จะไม่ต่างอะไรกับการที่นักศึกษาในตอนหลังวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ได้ใช้มวลชนกดดันการทำงานของรัฐบาล และ “ด้อยค่า” ฝ่ายทหาร

ในขณะที่ทหารและฝ่ายอนุรักษ์ก็ปลุกปั่นให้มวลชนในฝ่ายของตน ออกมาตอบโต้และต่อสู้กับฝ่ายคนที่สนับสนุนรัฐบาล โดยฝ่ายคนที่สนับสนุนรัฐบาลจะเรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” และกำลังต่อสู้กับฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล ที่ถูกเรียกว่า “ฝ่ายเผด็จการ” ทว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกลับเรียกตัวพวกเขาเองว่า “ฝ่ายเทิดทูนสถาบัน” พร้อมกับอัดกลับฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลนั้นว่าเป็น “ฝ่ายล้มล้างสถาบัน”

ประเด็นนี้เคยเกิดขึ้นหลังวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่ฝ่ายที่ต้องการล้มรัฐบาลหรือทหารนั่นเอง ใช้ประเด็น “นักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์” มาปลุกระดมให้ประชาชนต่อต้านนักศึกษา และนำมาสู่การล้อมปราบนักศึกษาและยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ถ้าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังมีชีวิตอยู่ ท่านก็อาจจะเตือนคุณพิธาในฐานะ “ว่าที่นายกรัฐมนตรี” ว่า อย่าได้ประมาทพลังของฝ่ายอนุรักษนิยม เพราะคะแนนเสียง 14 ล้านนี้ก็ไม่ใช่คนที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหมด แน่นอนว่าคนไทยที่เลือกพรรคอื่นอีก 27 ล้านเสียง และที่ไม่ได้มาเลือกตั้งและยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งอีก 25 ล้านคน (รวมประชากรทั้งประเทศของไทยคือ 67 ล้านคน) ก็คงใช่พวกที่อยากจะไปแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้นทั้งหมดเช่นกัน

มีข่าวว่า บางทีพรรคก้าวไกลอาจจะเสนอทำประชามติในเรื่องนี้ แต่ถ้าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังอยู่ท่านก็คงไม่เห็นด้วย เพราะนั่นก็คือการเอาประชาชนมาบีบสถาบันอันเป็นที่เคารพเทิดทูน และหากประชาชนมีประชามติให้ปรับแก้กฎหมาย ก็อย่าได้หวังว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะยังคงสถานภาพอยู่บนแผ่นดินไทยนี้ได้อย่างสง่างาม

อนึ่ง พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงอยู่ในฐานะที่จะมาทะเลาะกับราษฎรของพระองค์ รวมถึงที่พระองค์ก็ไม่อาจที่จะทรงอยู่นิ่ง ๆ ทอดพระเนตรราษฎรของพระองค์ออกมาทะเลาะกันได้

เรื่องนี้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มีวิธีประสานประโยชน์ ซึ่งคุณพิธาที่อยากจะมีอำนาจควรจะรับฟัง โดยขอเอามาว่ากันในสัปดาห์หน้าครับ (ถ้าพรรคก้าวไกลยังเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลนี้อยู่)