เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

ระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่ละเลยเศรษฐกิจฐานราก ยากที่จะเติบโต แข็งแรง ท้องถิ่นมีศักยภาพสูงมากหากเข้าใจ “ทุนท้องถิ่น” ที่มีล้นเหลืออย่าง ทุนทรัพยากร ทุนทางสังคม ทุนทางปัญญา ที่รอการพัฒนา

ถ้าจะลดการผูกขาดธุรกิจใหญ่ได้จริง ต้องสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง และพึ่งตนเองได้ ซึ่งเป็นไปได้ ถ้าไม่มองท้องถิ่นเป็นเพียงแรงงานและแหล่งปัจจัยการผลิต เพื่อส่งให้เศรษฐกิจใหญ่อย่างที่เป็นอยู่

นอกจากสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หลายพันกลุ่ม อายุเป็นร้อยปีแต่ไม่มีพลังเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น มีวิสาหกิจชุมชนกว่า 70,000 กลุ่ม ที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน 2548 ที่ส่วนใหญ่ยังเป็น “ไม้ในกระถาง” เพราะไม่ได้มีการส่งเสริมจริง

ที่สำคัญพ.ร.บ.ที่ออกมาถูกตัดองค์ประกอบสำคัญทั้ง 3 ที่ถูกเสนอไปตั้งแต่ต้น คือเป็นนิติบุคคล มีกองทุนเฉพาะ และมีสถาบันวิชาการที่วิจัยพัฒนาและส่งเสริม อันเป็นผลของการศึกษาและนำเสนอโดยมูลนิธิหมู่บ้านร่วมกับเครือข่ายผู้นำและองค์กรชุมชนทั่วประเทศ

เมื่อร่างพระราชบัญญัตินี้ถูกเสนอให้รัฐบาลทักษิณในปี 2544 ในการประชุมครม.สัญจรครั้งแรกที่ เชียงใหม่นั้น ทุกอย่างผ่านด้วยดี แต่เมื่อไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาและเข้าสภา ก็ถูกตัดไปทั้ง 3 ประเด็น อ้างว่า นิติบุคคลก็มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรอยู่แล้ว หรือไปจดเป็นบริษัท หรือหจก.ก็ได้

ส่วนกองทุนนั้น ก็มี ธ.ก.ส. มีสถาบันการเงินต่างๆ มากมาย รวมทั้งสถาบันวิชาการก็มีมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริม มีหลักสูตร ซึ่งถ้าเอาหลักการที่ว่านี้ไปใช้กับทุกร่างพ.ร.บ. คงตกเกือบหมด ตัวอย่าง แล้วมีธนาคาร SME ไปทำไม ในเมื่อมีสถาบันการเงินมากมายอยู่แล้ว

คณะกรรมการกฤษฎีกาถามผมว่า “ประเทศอื่นมีกฎหมายนี้ไหม” ผมตอบว่าไม่มี เลขาธิการตอบเสียงดังว่า “ไม่มีแล้วเสนอมาทำไม” ได้ตอบไปว่า ประเทศอื่นมีกฎหมายสหกรณ์ที่พัฒนาแยกย่อยหลากหลายรูปแบบ ยืดหยุ่นและสนับสนุนเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานรากจริง บ้านเราไม่ได้เป็นเช่นนั้น

แล้วก็อธิบายต่อไปว่า วิสาหกิจชุมชนก็คือสหกรณ์เล็กๆ ที่อยู่ในชุมชน ไม่ใหญ่เหมือนสหกรณ์ที่อยู่ในอำเภอ จังหวัด คน 10 คนในชุมชนก็รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนได้ เหมือนที่วันนี้มีรถตู้วิ่งในกรุงเทพฯ หรือจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด ไปส่งถึงหมู่บ้าน ไม่ต้องนั่งแท็กซี่ สองแถวหลายต่อ คล่องตัวกว่ารถทัวร์ รถบัส

ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม และลุงประยงค์ รณรงค์ ก็ไปร่วมประชุมด้วย แทบไม่ได้พูดอะไร และลุงประยงค์บอกว่า ถูกมอง “จากหัวจรดเท้า” อย่างดูหมิ่นดูแคลน เรา 3 คนจึงไม่ไปกฤษฎีกาและกรรมาธิการในสภาฯ อีก

และก็เป็นไปตามคาด คือ ที่สุดก็ได้พ.ร.บ.ที่ไม่ได้มีประโยชน์อะไร ได้วิสาหกิจชุมชนที่ไป “ลงทะเบียน” (ไม่ใช่ “จดทะเบียน” เป็นนิติบุคคล) รอความช่วยเหลือจากรัฐ ตามที่เจ้าหน้าที่ไปส่งเสริมให้จด ไม่ได้ต่างจากกลุ่มชาวบ้าน กลุ่มแม่บ้านเดิมๆ แม้แต่เมื่อมีการแก้ไขในปี 2562 ก็แทบไม่ได้ต่างจากฉบับเดิม

ไปว่ากรมส่งเสริมการเกษตร ที่ “ดูแล” วิสาหกิจชุมชนก็คงไม่ถูกนัก ที่จริง เพราะไม่ได้มี “เจตจำนงทางการเมือง” จากรัฐบาล ที่ไม่ได้เข้าใจ หรือไม่สนใจที่จะส่งเสริมให้เกิด “ระบบเศรษฐกิจชุมชน”  ไม่เชื่อ อมาตยา เซน ที่บอกว่า “เพื่อก้าวพ้นนิยายของการพัฒนา เราจะต้องมีระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเอง”

ถ้ารัฐบาลใหม่ต้องการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของประเทศแบบ “ดิสรัป” หรือ “ทรานซ์ฟอร์ม” โดยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชน 70,000 กว่ากลุ่มมีพลังอย่างจริงจัง และพัฒนาเป็นเครือข่ายที่สร้างระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเองให้ได้จริง

รัฐบาลควรเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน นำ 3 องค์ประกอบหลักที่ถูกตัดกลับเข้าไป เพราะเป็นเจตนารมณ์ดั้งเดิมของชุมชนที่ร่วมกันร่างพ.ร.บ.นี้เมื่อปี 2544 โดยได้มีการประยุกต์แนวคิด รูปแบบ และประสบการณ์ของแคว้นอเมีเลีย โรมาญา ของอิตาลี ที่ทำเรื่องนี้จนกลายเป็นแคว้นที่มีระบบเศรษฐกิจดีที่สุดของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ต้นแบบที่ประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนและแอฟริกาเหนือนำไปใช้อย่างได้ผล

ที่สำคัญกว่านั้น คือการส่งเสริมการเรียนรู้ให้ชุมชน ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพราะการส่งเสริมที่ได้ผลต้องพัฒนา “คน-ความรู้-ระบบ” ไปพร้อมกัน ไม่ใช่ “หว่านงบประมาณ” ลงไป เหมือนให้ยาแก้ปวดที่บรรเทาได้ชั่วคราว เพราะ “เงินแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้ ถ้าแก้ได้คงแก้นานแล้ว เพราะโลกไม่ได้ขาดเงิน แต่ขาดการเรียนรู้” (เจมส์ วอลเฟอร์โซน อดีตประธานธนาคารโลก)

เครื่องมือหนึ่งของการเรียนรู้ที่มูลนิธิหมู่บ้านได้สังเคราะห์จากประสบการณ์ทำงานกับชุมชน คือ การทำประชาพิจัย หรือการวิจัยของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน เป็นการสำรวจตนเองของชุมชน ทั้งรากเหง้าความเป็นมา ปัญหา ความต้องการ รายรับ รายจ่าย หนี้สิน ทรัพยากร ทุนของชุมชน แล้วทำแผนแม่บทชุมชน ใช้ทุนที่มีอยู่ทำในส่วนของตนให้ดีที่สุด แล้วเสนอส่วนที่เป็นหน้าที่ของรัฐไม่ว่าท้องถิ่นหรือภูมิภาคให้ดำเนินการ

ความจริง เครื่องมือนี้ได้พัฒนาขึ้นมาก่อนปี 2544 หน่วยงานของรัฐก็รับไปด้วย โดยการประสานของสภาพัฒน์ฯ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย แต่ไปๆ มาๆ “ประชาพิจัย” ถูกตัดหัวตัดท้ายกลายเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อทำโครงการของบประมาณจากรัฐเท่านั้น เสนอแต่ “ปัญหาและความต้องการ” เหมือนเดิม

รัฐบาลที่มีเจตจำนงทางการเมืองส่งเสริมชุมชนคนรากหญ้าต้อง “สร้างคน” พัฒนา “ปัญญาชนคนใน” (organic intellectual) ให้มาก “สร้างความรู้” โดยให้ชุมชนวิจัยตนเอง ไม่ใช่ได้แต่ไป “อบรม” แบบยัดเยียด

หรือให้แต่ “โครงการ” เบี้ยหัวแตก แทนที่จะ “สร้างระบบ” ที่เป็นพลังและรากฐานความมั่นคง