เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com เพื่อสืบทอดจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษตัริย์นักพัฒนา หนึ่งปีต่อไปนี้สังคมไทยน่าจะมีการใคร่ครวญ ทบทวน ประเมินการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาโดยใช้กรอบ เกณฑ์ของเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าแปลหลัก 3 ประการของปรัชญานี้ที่ว่า “พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน” เป็น “การพัฒนาคน การพัฒนาการศึกษา การพัฒนาระบบ” หรือ “เป็นคนดี มีความรู้ อยู่อย่างมีแบบมีแผน” แล้วมองไปข้างหลังตั้งเกณฑ์และหาตัวชี้วัดด้วยความจริงใจ น่าจะได้แนวทางในการพัฒนาประเทศที่มีความสมดุลมากกว่าที่ผ่านมา ความจริง ทั้งสามเรื่องสัมพันธ์อย่างแยกมิได้ เพราะถ้าหากระบบสังคมเศรษฐกิจการเมืองไม่ดี มีปัญหา ระบบการศึกษาอ่อนด้อย ลูกหลานที่เกิดมาในสังคมแบบนี้ ด้วยสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยเช่นนี้ จะเป็นคนดีมีคุณภาพที่พึงปรารถนาได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้จึงต้องเริ่มต้นจากภาพใหญ่ นโยบายการพัฒนาประเทศว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจจนละเลยความสำคัญของการพัฒนาสังคม สนใจแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจ วันๆ ใส่ใจแต่จีดีพี ว่าปีนี้จะสองหรือสาม ติดตามแต่ตัวเลขการส่งออก และรายได้จากการท่องเที่ยว ทุ่มเทงบประมาณมหาศาลไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่มีเพียงเศษเสี้ยวเดียวเท่านั้นที่ให้ไปกับการวิจัย การพัฒนาการศึกษา จึงไม่ได้มีการพัฒนาที่จะได้มาด้วยความรู้ใหม่ นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ งบมากมายใช้ไปกับเงินเดือนค่าใช้จ่ายประจำ การพัฒนาเศรษฐกิจเองก็เน้นภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ปล่อยให้ภาคการเกษตรเป็นไปแบบไม่มีวิสัยทัศน์ที่มีพลังสร้างแรงบันดาลใจ ปล่อยให้อยู่ภายใต้อุ้งมือของยักษ์ใหญ่ที่ครอบงำแนวคิดนโยบายที่ทำให้เกษตรกรเป็นเพียงลูกไล่และเครื่องมือการผลิตเท่านั้น ถ้ามีภาพฝันหรือภาพนิมิตของสังคมไทยที่มีพื้นฐานการเกษตรและมีศักยภาพสูงมากที่จะเป็นครัวของโลกแบบที่ประชาชนคนทำการเกษตรเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง รัฐบาลไทยจะต้องไม่ทำเพียงประกันราคาข้าวจำนำข้าว หรือโครงการต่างๆ มากมายเป็นเบี้ยหัวแตก ที่คิดเป็นครั้งๆ เรื่องๆ อย่างๆ แต่ต้องปฏิวัติการจัดการเกษรตรทั้งระบบ ตั้งแต่ระบบน้ำ ระบบดิน ระบบการผลิต ระบบการจัดการผลผลิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงแนะนำและทรงทำเป็นตัวอย่างว่าจะจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดความสมดุลได้อย่างไร ไม่ให้แล้งไม่ให้ท่วมได้อย่างไร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ แต่ดูเหมือนว่าหลายครั้ง แนวคิดเชิงระบบการจัดการไม่ว่าการเกษตร ดิน น้ำ ป่า ระบบราชการเป็นปัญหาและอุปสรรคเสียเอง อย่างกรณี “คลองในหลวง” ที่ชุมพร ที่ทรงบอกให้ข้าราชการขุดต่อคลองอีกกิโลเมตรเศษให้เสร็จภายในหนึ่งเดือนก่อนที่น้ำจะท่วม ข้าราชการบอกว่า ต้องรองบประมาณอีกปีหนึ่ง จนพระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 18 ล้านบาท เพื่อทำงานที่เร่งด่วนนั้น และนั่นทำให้ชาวชุมพรรอดพ้นจากน้ำท่วมซ้ำซากมาจนถึงทุกวันนี้ วีธีทำงานแบบเอางบประมาณเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาชีวิตความทุกข์ยากของผู้คนเป็นตัวตั้งก็จะเกิดการพัฒนาแบบขาดๆ เกินๆ อย่างที่เห็น กว่างบประมาณแผ่นดินมาก็เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนจะสิ้นปีงบประมาณ ต้องรีบทำรีบจ่าย และอ้างว่าไม่มีเวลาให้ชุมชนมีส่วนร่วม มาถึงระบบการศึกษาก็อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ เป็นระบบที่แปลกแยกจากชีวิตจริง การศึกษากับการพัฒนาเป็นคนละเรื่อง เรียนจบแล้วต้องไปเรียนใหม่ในที่ทำงาน เพราะเรียนมาคนละเรื่อง ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ขาดแคลนคนงาน แต่คนเรียนจบมากลับตกงานเตะฝุนมากมาย นับเป็นเรื่องแปลกแต่จริง ระบบสังคมแบบนี้ ระบบการศึกษาแบบนี้ เราจะได้ “ผลผลิต” ที่ดีมีคุณภาพได้อย่างไร เอาแค่เรื่องการเรียนรู้ว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของคนมี ปัญหามากมายมาจากการขาดวินัย ขาดความรับผิดชอบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิและหน้าที่ของ “พลเมือง” ระบบการศึกษาที่ไม่ได้ช่วยพัฒนาคนให้คิดเป็น พึ่งตนเองได้ แต่สร้างระบบการแข่งขัน กวดวิชาเพื่อจะสอบได้คะแนนดี เข้ามหาวิทยาลัยดี การศึกษาที่ไม่ได้มุ่งเน้นการพัฒนาคนแบบนี้จึงมีเรื่องแปลกแต่จริงมากมาย มีเรื่องนักเรียนยกพวกตีกัน ฆ่ากันกลางถนน มีเรื่องการรับน้องจนเกิดการบาดเจ็บการตาย การแสดงออกถึงอำนาจนิยมที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งในสถาบันที่เรียกว่าอุดมศึกษา องค์กรหน่วยงานและสถาบันครอบครัว ยุทธศาสตร์ 20 ปี จะมีพลังพอที่จะบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้อย่างไรถ้าหากฐานคิดยังไม่เห็นรูปธรรมของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดูยุทธวิธีที่เสนอแล้วก็นึกไม่ออกว่า ประเทศไทย 4.0 จะลดความเหลื่อมล้ำ จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้อย่างไร ตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ ทรงอุทิศพระองค์เพื่อพัฒนาการเกษตร เพราะทรงเห็นว่าเป็นภาคที่เป็นรากฐานการพัฒนา เพราะถ้าคนส่วนใหญ่ ชาวไร่ชาวนายังยากจนข้นแค้น ประเทศชาติอาจทันสมัยแต่ไม่พัฒนา และจะก้าวกระโดดไปถึงไหนทำไม ทรงมีพระราชดำรัสตั้งแต่ปี 2517 ว่า “การพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน..หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการที่สัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวไปในที่สุด”