ทวี สุรฤทธิกุล

“ว่าที่รัฐบาล” 8 พรรคยังคงจับมือกันแน่น ถ้า กกต.รับรองผลเลือกตั้งเมื่อไหร่ กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลก็คงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่น่าห่วงก็คือนโยบายต่าง ๆ ของว่าที่รัฐบาล บางนโยบายก็ดู “ขวาง ๆ” คือสังคมไทยบางส่วนยังรับไม่ได้ อย่างเช่นการคิดที่จะปรับแก้มาตรา 112 แต่กระนั้นก็ดูเหมือนพรรคก้าวไกลจะยังคงเดินหน้า ซึ่งผู้เขียนได้ทิ้งท้ายไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ถ้าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังมีชีวิตอยู่ ท่านก็คงคัดค้านอย่างเต็มที่เช่นกัน

ไม่ใช่เพราะว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นพวกนิยมกษัตริย์อย่างเข้าเลือด แต่เป็นเพราะท่านไม่อยากให้พระมหากษัตริย์ทะเลาะกับประชาชนของพระองค์ เนื่องจากมีข่าวว่าคนที่คิดจะแก้กฎหมายมาตรานี้ จะใช้วิธีทำประชามติเพื่อที่จะเอาประชามตินี้ไป “บีบ” ให้มีการแก้ไขกฎหมาย !

ความจริงในนโยบายของว่าที่รัฐบาลที่มีการลงนามเป็นสัตยาบันไว้แล้ว อีกหลาย ๆ นโยบายก็ยังคงเป็นข้อขัดแย้งเรื่อยมา เช่นอีกเรื่องหนึ่งก็คือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง โดยฝ่ายอนุรักษ์ก็ยังคัดค้านอย่างหัวชนฝา ในขณะที่คนรุ่นใหม่ต้องการที่จะให้มีการกระจายอำนาจในแบบใหม่นี้ แน่นอนว่าจะต้องมีการต่อสู้กันอย่างรุนแรง และอาจจะนำมาซึ่งวิกฤติทางการเมืองของประเทศ

ในตอนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2518 บ้านเมืองก็วุ่นวายมาก ๆ ทั้งในและนอกสภา ในสภาก็มีกระบวนการสมคบคิดที่จะโค่นรัฐบาลอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะทหารที่เสียอำนาจได้ยุแยงพวก ส.ส.บางกลุ่มให้คอยบ่อนแซะรัฐบาล ส่วนนอกสภาก็มีการใช้เสรีภาพอย่างฟุ้งเฟ้อ มีการชุมนุมประท้วงทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่นับร้อย ๆ เรื่องไปทั้งประเทศ แม้แต่บ้านนายกรัฐมนตรีเองก็ถูกกระทืบพัง เพียงเพราะไปขัดใจตำรวจบางกลุ่ม แต่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็พยายามประคับประคองไปได้จนเกือบครบปี

สิ่งที่ท่านใช้บริหารและแก้ไขปัญหาของประเทศในตอนนั้นก็คือ “ความอดทน ความเมตตา และการประสานประโยชน์”

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าคนที่จะมาเป็นายกรัฐมนตรีได้นั้นจะต้องเป็นคนที่สำนวนไทยเรียกว่า “คอทั่ง สันหลังเหล็ก” ทั่งนั้นเป็นอุปกรณ์ที่ใช้รองรับการทุบตีเหล็กที่ถูกเผามาร้อน ๆ ให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ซึ่งคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีลำคอที่แข็งแรงประมาณนั้น เพื่อรองรับปัญหาอันหนักหน่วงและร้อนแรงมาก ๆ ต่าง ๆ ที่จะถาโถมกระหน่ำเข้ามาหา เหมือนค้อนที่กระหน่ำลงบนเหล็กร้อนอันถูกนำมาวางให้ทั่งนั้นได้รองรับไว้ ดังนั้นแม้แต่กระดูกของนายกรัฐมนตรีก็จะต้องแข็งแกร่งเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้ต้องบอบช้ำหรือมีความทนทานต่อสู้กับวิกฤติทั้งหลายนั้นได้ นั่นคือนายกรัฐมนตรีต้องมี “ความอดทน” เหนือมนุษย์สามัญอย่างสุด ๆ

อีกอย่างหนึ่งคือ “ความเมตตา” ในสมัยของท่านนั้น การเดินขบวนหรือการประท้วงต่าง ๆ มักมีพวกนักศึกษาเข้าไปเกี่ยวข้อง ท่านได้ให้นโยบายกับตำรวจเพื่อเป็นแนวในการปราบปรามการประท้วงต่าง ๆ นั้นว่า ให้ใช้ความละมุนละม่อม ห้ามใช้ความรุนแรงโดยเด็ดขาด โดยท่านให้สัมภาษณ์สื่อที่ถามถึงปัญหานี้ว่า ทำไมไม่จัดการพวกนักศึกษาด้วยความเด็ดขาด ซึ่งท่านก็ตอบว่า นักศึกษาก็คือลูกหลานของเรา เราทำอย่างไรกับลูกหลานของเราที่บ้าน เราก็ควรจะต้องทำแบบนั้นกับนักศึกษาด้วย คนพวกนี้ยังเด็ก เขายังมีอนาคตอีกไกล ว่ากล่าวตักเตือนกัน พูดกันดี ๆ ก็น่าจะปรับแก้ทุเลาปัญหาได้ ให้โอกาสเด็ก ๆ ได้กลับตัวกลับใจจะดีกว่า

ตอนที่ตำรวจบุกพังบ้านทรงไทยที่ซอยสวนพลูของท่าน ก็ด้วยสาเหตุที่ท่านมีความเมตตานี้แหละ เพราะท่านไปบอกให้ตำรวจปล่อยชาวบ้านที่ประท้วงเรื่องเหมืองแร่ในจังหวัดทางภาคเหนือ แต่ตำรวจที่กรุงเทพฯที่มีนายตำรวจบางคนที่ไม่ชอบรัฐบาลคอยหนุนหลัง ได้ยุยงให้ตำรวจกลุ่มนี้ไปชุมนุมประท้วงด่าว่านายกรัฐมนตรีที่สนามหลวง ในข่าวบอกว่ามีการดื่มสุราจนมึนเมาด้วย จากนั้นก็พากันเดินเท้าข้ามสะพานพุทธ มาที่วงเวียนใหญ่ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาตามถนนสาทร แล้วเดินมาจนถึงบ้านซอยสวนพลู

ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมาแจ้งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่าจะป้องกันไม่ให้ตำรวจทำอะไรท่าน โดยจะส่งกำลังตำรวจมาคุ้มกันท่านที่บ้านสวนพลูนี้ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตอบว่าปล่อยให้พวกตำรวจนั้นบุกเข้ามาเถิด ส่วนท่านจะขอหลบหลีกไป จะได้ไม่มีการปะทะกัน แล้วตำรวจก็พาท่านไปคุ้มกันไว้ที่โรงพักทุ่งมหาเมฆ ครั้นตอนเย็นพวกตำรวจที่เมามายจำนวนนับร้อยก็มาถึงบ้านสวนพลู โดยไม่ได้มีการทัดทานอะไร ตำรวจขี้เมาเหล่านั้น ตะโกนหาตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ครั้นรู้ว่าไม่อยู่ก็เกิดอาการคลุ้มคลั่ง เข้าทำลายข้าวของและยิงปืนใส่ตัวบ้าน ดีที่ว่าข้าวของที่มีค่าบางส่วนถูกพูดนำไปเก็บไว้ที่อื่นก่อนนั้นแล้ว มีแต่กรงนกเปล่าที่ถูกทำลายไปหลายกรง แต่ปลากัดในขวดโหลหลาบลิบขวดนั้นย้ายหนีไม่ทัน ก็ถูกทุบแตกและปลาลงมาดิ้นตายทั้งหมด รวมถึงต้นไม้และตู้โต๊ะต่าง ๆ นั้นก็ถูกทุบทำลายไปเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ตำรวจที่บ้าคลั่งนั้นอาละวาดอยู่เกือบชั่วโมงก็คงจะสร่างเมาและพากันแยกย้ายไป ท่านอาจารย์กับบริวารที่ไปอยู่ในโรงพักทุ่งมหาเมฆด้วยกันก็กลับมาบ้าน ทุกคนร้องไห้ระงมด้วยความเศร้าโศกเสียดาย มีแต่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่มีสุนัขคู่ใจ “สามสีกับเสือใบ” หมอบเคียงอยู่ใกล้ ๆ ที่เหมือนจะอยู่ในความสงบกว่าใคร ๆ  ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า คืนนั้นก็เพียงแค่เก็บกวาดข้าวบางส่วน อาบน้ำแล้วท่านก็เข้านอน พอรุ่งเช้าจึงค่อยมาเก็บกวาดในส่วนอื่น ๆ ที่เหลือ

หลายวันต่อมาก็ไม่เห็นมีข่าวเรื่องการจัดการอะไรกับพวกตำรวจที่บุกมาพังบ้าน ผู้สื่อข่าวก็ไปสัมภษณ์ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านตอบสั้น ๆ ว่า “ตำรวจก็เป็นคนไทย หลายคนก็ยังหนุ่ม ๆ มีพ่อมีแม่ มีอนาคตอีกไกล แล้วส่วนมากก็เมามา โบราณว่า อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา ผมก็ลูกตำรวจ ผมให้อภัยครับ”

นี่คือ “ความเมตตา” ที่ดูจะสุด ๆ เหมือนกัน ที่บางคนอาจจะบอกว่าออกจะเมตตาจนเกินไป แต่ถ้าใครนับถือศาสนาพุทธก็น่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก ด้วยพุทธสุภาษิตที่ว่า “เมตตาธรรมค้ำจุนโลกา”

สำหรับเครื่องมือสิ่งที่สามในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ คือ “การประสานประโยชน์” เมื่อดูจากการเคลื่อนไหวของคุณพิธาและพรรคร่วมว่าที่รัฐบาลแล้ว มาถึงขณะนี้ก็มีการปรับตัวดูดีขึ้นมาก และน่าจะเอาตัวรอดด้วยการพยายามประสานประโยชน์นี้ให้ดีต่อไป

ผู้เขียนมิบังอาจที่จะแนะนำอะไรคุณพิธา และแม้ว่าจะอ้างเอาท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มาสมมติให้คำแนะนำนี้ ก็เพียงเพื่อเอาอดีตมาปรับใช้กับปัจจุบันเท่านั้น

ทุกวันนี้โลกเป็นของคนรุ่นใหม่ ก็ขอให้พาประเทศชาติให้รุ่งเรืองไปด้วยดี เอาใจช่วยนะครับ