สถาพร ศรีสัจจัง

“…เราเห็นว่าระบอบนี้ ถ้าจะดำเนินการต่อไปนั้น บ้านเมืองก็จะมีแต่ความล่มจม เพราะว่าทุกพรรค หรือนักการเมืองที่เข้ามา ต่างคนต่างฝ่ายก็มุ่งหน้าหาเงินเข้าพรรค เพื่อจะใช้ในการเลือกตั้ง เพื่อจะเอาชนะในการเลือกตั้ง จนมีคำกล่าวกันว่าคณะรัฐมนตรีที่เป็นอยู่นั้น เขาเรียกว่า “บุฟเฟ่ต์ คาบิเนต” คือเข้ามาเพื่อแย่งกันกิน…"

นี่คือวาทะของพลเอกสุจินดา  คราประยูร 1 ในคณะผู้ก่อการทำรัฐประหาร(รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง) ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2534 ในนาม “คณะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.)

ต้องตราไว้ว่า คณะผู้ก่อการทำรัฐประหารยึดอำนาจที่เรียกตัวเองว่า “รสช.” ครั้งนี้ ประกอบด้วย “ขุนทหาร” และ “ขุนตำรวจ” ที่กุมอำนาจสูงสุดของบรรดา “กองกำลังจัดตั้งติดอาวุธที่ถูกกฎหมาย” ต่างๆของประเทศไทยยามนั้น ประกอบด้วย พลเอกสุนทร  คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร โดยมีรองหัวหน้าฯ ประกอบด้วย พลเอกสุจินดา  คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก(ใครก็รู้ว่าเป็นคนสำคัญสุดในการทำรัฐประหารครั้งนี้)พลอากาศเอกเกษตร  โรจนนิล แม่ทัพอากาศ พลเรือเอกประพัฒน์  กฤษณจันทร์ แม่ทัพเรือ และ พลตำรวจเอกสวัสดิ์  อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ

ที่อาจถือว่าพิเศษกว่าการรัฐประหารในประเทศไทยครั้งอื่นๆอยู่สักหน่อยก็คือ หลังการรัฐประหารครั้งนี้คณะรสช.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณายึดทรัพย์ของนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่า “ได้ทรัพย์มาอย่างฉ้อฉลคอร์รัปชัน” (ที่กลายเป็นรายการ “มวยล้มต้มคนดู” ในภายหลัง) 

นักการเมืองที่ถูกประกาศยึดทรัพย์ครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นคณะรัฐมนตรีจากพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคชาติไทยของพลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณ จำนวน 20 คน  ที่สำคัญๆได้แก่ พลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณ/ร.ต.อ.เฉลิม  อยู่บำรุง/พลตรีสนั่น  ขจรประศาสตร์/นายบรรหาร  ศิลปอาชา/นายมนตรี  พงษ์พานิช/นายเสนาะ  เทียนทอง/นายสมัคร  สุนทรเวช/นายวัฒนา  อัศวเหม/นายณรงค์  วงศ์วรรณ เป็นต้น

เฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิม  อยู่บำรุงนั้น  การรัฐประหารครั้งนี้ดูเหมือนจะมีผลกับเขาไม่น้อย เพราะก่อนหน้านั้นเขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีฯที่ต้องดูแลกรมประชาสัมพันธ์(รัฐบาลพลเอกชาติชายฯ) เกิดกรณีทหารยึดรถโมบายของสถานีโทรทัศน์ฯด้วยข้อหาว่าส่งสัญญาณรบกวนการสื่อสารของกองทัพ ร.ต.อ.เฉลิมฯกล่าววิพากษ์จารณ์พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผบ.สส.ซึ่งเป็นหน้าคณะรัฐประหารในครั้งนี้ เขาจึงถูดยึดทรัพย์จำนวน 32 ล้านบาท และต้องหลบหนีลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก ได้กลับมาประเทศไทยอีกครั้งก็เมื่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ในยุคนั้น แต่แพ้ ไม่ได้รับเลือกแต่อย่างได ต่อเมื่อมีการเลือกตั้งอีกครั้งหลังเหตุการ์พฤษภาทมิฬดอกจึงได้รับเลือก

และเข้าสู่ยุครุ่งเรืองเมื่อได้เข้าร่วมงานทางการเมืองกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในภายหลัง โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ เช่นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และ กระทรวงสาธารณสุข ฯ ก่อนที่เหมือนจะหมดบารมีลงอีกครั้งในยุค “พรรคส้มอันก้าวไกล” เพราะ “วัน อยู่บำรุง” ลูกชายผู้สืบสันดาน(ภาษากฎหมาย)ของเขาต้องพ่ายแพ้ต่อผู้สมัครสาวโนเนมจากพรรคสีส้มไปอย่างหมดรูป(พ.ศ.2566)

นี่ถ้าไม่ใช่ภาพสะท้อนความเป็น “อนิจลักษณ์” ทางการเมืองแล้ว จะเป็นภาพสะท้อนในเรื่องอะไรได้เล่า?

และการรัฐประหารในปี 2534 นี่เอง ที่เป็นเหตุแห่งการเกิดเหตุการณ์ “การลุกขึ้นสู้” ทางการเมืองครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของประชาชนคนไทย เป็นเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยในนามของสิ่งที่เรียกว่า “พฤษภาทมิฬ”

ทำไมต้อง “พฤษภา” และทำไมต้อง “ทมิฬ”?

ที่ต้อง “พฤษภา” ก็เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม พ.ศ.2535 และที่ต้อง “ทมิฬ” ก็เพราะ “อำนาจรัฐ” ในขณะนั้นได้สั่งการให้กองกำลังทหารที่ติดอาวุธ และ ใช้กระสุนจริงปราบปรามกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองตามเหตุปัจจัยที่พวกเขาเชื่อว่าควรจะเป็นอย่างสงบปราศจากอาวุธ จนทำให้ประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงดังกล่าวต้องเสียชีวิตอย่างน้อย 44 คน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก (หัวหน้ารัฐบาลในขณะนั้นคือพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นผู้ประกาศเอง แต่ข้อมูลที่ไม่เป็นทางการกล่าวกันว่า มีคนตายไม่น้อยกว่า 500 คน/บาดเจ็บไม่น้อยกว่า 1,700 คน!

นี่เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ช่วยยืนยันคำกล่าวของนักคิดคนสำคัญของโลกสมัยใหม่ที่ชื่อนาย “คาร์ล มาร์กซ์” ชาวเยอรมันคนนั้น ที่ระบุไว้ว่า “อำนาจรัฐนั้นปฏิกิริยา”!

เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” นี้ ต้องถือว่าเป็นเหตุสืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหารต่อรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยคณะ “รสช.” ในปี 2534 ดังได้กล่าวมาแล้ว หลังเหตุการณ์รัฐประหาร รสช.เสนอชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯในหลวงทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อจะได้จัดการเลือกตั้งทั่วไป

การเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นในวันที่ 22 มีนาคม 2535 พรรคสามัคคีธรรม ที่มีนายณรงค์ วงศ์วรรณเป็นหัวหน้าพรรค( ทุกฝ่ายต่างก็รู้กันว่าพรรคนี้เป็น “พรรคเฉพาะกิจ” ที่มีคณะรสช.หนุนอยู่เบื้องหลัง ได้ส.ส.สูงสุดคือ 79 เสียง จึงมีสิทธิเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและเสนอชื่อนายกฯ แต่นายณรงค์ฯหัวหน้าพรรคกลับมีรายชื่อเป็น “แบล็กลิสต์” ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา จึงหมดสิทธิ

พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลตอนนั้นได้นำเสนอรายชื่อผู้มีอำนาจ “ตัวจริง” คือพลเอกสุตินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน จนก่อเกิดการ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ครั้งใหญ่ขึ้น เพราะพลเอกสุจินดาฯได้ประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งทำรัฐประหารแล้วว่า “จะไม่รับตำแหน่งใดๆ”      

แล้วการชุมนุมประท้วงต่อรัฐบาลภายใต้การนำของนายพลผู้ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ก็เริ่มต้นก่อหวอดขึ้น 

เริ่มต้นด้วยยการประกาศอดข้าวประท้วงของพลตรีจำลอง ศรีเมือง นายทหารยังเติร์ก แห่ง จปร.รุ่น 7 ผู้ได้รับฉายา “จอมยุทธ์มื้อเดียว” (เพราะฟังว่าท่านกินอาหารเพียงวันละ 1 มื้อ ตามวิถีปฏิบัติของผู้สมาทานเป็นศิษย์สำนัก “สันติอโศก” ของท่าน “สมณะโพธิรักษ์”) อดีตเลขาฯครม.ยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยมีเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร “จอมอดข้าวประท้วง” อดีตส.ส.จังหวัดตราดเข้าร่วมสมทบอีกคน แล้วขบวนประชามหาชนเรือนแสนก็ก่อตัวเข้าร่วมประท้วงอย่างรวดเร็ว,และเอาจริง!ฯ