ทวี สุรฤทธิกุล

“การเมืองไทยไม่ได้ยอกย้อนซ่อนเงื่อนเหมือนสามก๊ก ยิ่งมองอย่างนั้นยิ่งมองอะไรไม่ออก”

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช “ซือแป๋แห่งซอยสวนพลู” เคยชี้แนะแก่ผู้สื่อข่าวด้วยชุดประโยคข้างต้นนี้อยู่เสมอ ในเวลาที่ผู้สื่อข่าวถามประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการเมืองไทย ด้วยคำถามที่แสดงถึงการกระทำต่าง ๆ ของนักการเมือง ที่ส่วนมากก็จะเป็นการคาดเดา หรือ “ได้ยินมา” ว่ามีความสลับซับซ้อน เข้าใจยาก และหาคำตอบไม่ได้

ในตอนที่ท่านรัฐบาลในปี 2518 ในลักษณะที่ไปรวบรวมพรรคเล็กพรรคน้อยมาได้เป็นจำนวนมาก จนสื่อมวลชนตั้งฉายารัฐบาลชุดนั้นว่า “รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่” ผู้สื่อข่าวก็ถามท่านว่าต้องใช้ “เล่ห์เหลี่ยม” อะไรมากไหม ในการที่จะชักจูงพรรคเล็กต่าง ๆ นั้นให้มารวมกัน ได้ยินมาว่ามี “ค่ามัดจำ” เป็นจำนวนพอสมควร ท่านตอบว่าไม่มีอะไรเลย “ค่ามัดจำ” ก็คือใครอยากเป็นรัฐมนตรีก็ไปตกลงเอาเอง ว่าจะสลับกันเป็นคนละกี่เดือน แต่พอตั้งรัฐบาลไปแล้ว คนที่เป็นอยู่ก็ไม่ยอมเปลี่ยน คนที่อยากให้เปลี่ยนก็มาร้องกับท่านที่บ้านสวนพลู พอขู่ว่าจะเอาออกจากรัฐบาลก็เลิกร้อง เหตุการณ์ก็สงบได้เป็นพัก ๆ

ผู้สื่อข่าวมาถามท่านต่อมาอีกทีว่า ทำไมปัญหาการแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีจึงจบลงง่าย ๆ แบบนั้น ท่านก็ตอบว่า มันก็ไม่ยุ่งยากอะไร นักการเมืองใคร ๆ ก็อยากอยู่ในฝ่ายรัฐบาล ถ้าถูกให้ออกไปจากรัฐบาลก็คือหมดอนาคต อย่างนั้นพวกที่มีปัญหามาก ๆ จึงเงียบ เพราะทนอยู่อย่างพอมีความหวังในฝ่ายรัฐบาล ก็ยังดีกว่าอยู่อย่างไม่มีอนาคตในฝ่ายค้าน

ในช่วงที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วนั้นเอง ก็มีข่าวลืออยู่ทุกวันว่าทหารจะทำรัฐประหารบ้าง ส.ส.บางกลุ่มจ้องจะล้มรัฐบาลบ้าง เพราะรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ บ้านเมืองก็วุ่นวาย มีการเดินขบวนประท้วงกันทุกวัน แม้แต่บ้านของนายกรัฐมนตรีก็ถูกตำรวจเดินชบวนมาพัง

ช่วงหนึ่งระหว่างที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ในฐานะผู้นำของประเทศไทย ได้ไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย  ในประเทศไทยก็มีการประกาศกฎอัยการศึก สื่อต่าง ๆ ก็ตีข่าวว่าทหารกำลังจะยึดอำนาจ พอวันที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เดินทางกลับ พอลงจากเครื่องบินเข้ามาที่ห้องรับรอง ผู้สื่อข่าวก็จ่อไมค์โครโฟนรุมถามว่า ท่านทราบหรือไม่ว่ามีการประกาศกฎอัยการศึก

ท่านตอบทันทีทันใดว่า ท่านเป็นคนบอกให้ประกาศออกไปเองแหละ ทำให้ผู้สื่อข่าวถึงกับอึ้งเงียบไป ซึ่งความจริงทหารก็เตรียมจะยึดอำนาจอย่างที่ผู้สื่อข่าวรู้มานั้นจริง ๆ และคนที่ประกาศกฎอัยการศึกนั้น ตามที่ระเบียบการบริหาราชการแผ่นดินก็คือผู้บัญชาการทหารบก กับนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้บังคับบัญชาของผู้บัญชาการทหารบกนั้นอีกที งานนี้จึงเหมือนการเกทับ “บลั๊ฟแหลก” คือท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็รับสมอ้างเอาเองซะเลยว่าท่านเป็นคนสั่ง โดยท่านอธิบายกับผู้สื่อข่าวว่า ท่านกลัวหลายคนไม่สบายใจว่ารัฐบาลจะถูกยึดอำนาจ ดังนั้นก่อนเดินทางไปอินโดนีเซีย ท่านก็บอกกับผู้บัญชาการทหารบกไว้ก่อนแล้วว่า ถ้ามีอะไรไม่ชอบมาพากลก็ให้ประกาศกฎอัยการศึกได้ทันทีเลย งานนี้ทหารถึงกับไปไม่เป็น

คติเตือนใจของเรื่องนี้ที่ท่านเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในภายหลังที่ท่านไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็คือ “ทหารก็คนธรรมดา ย่อมพลาดพลั้งและพ่ายแพ้ได้เป็นปกติ” โดยท่านได้รับรู้อยู่ตลอดเวลาว่าทหารจ้องจะโค่นล้มท่านอยู่ทุกวัน ส่วนหนึ่งก็จากบรรดา ส.ส.อกหักที่เอาใจออกห่างไปรับงานมาจากทหาร แล้วก็เอามาชักชวน ส.ส.คนอื่น ๆ ให้เข้าร่วม ซึ่ง ส.ส.เหล่านั้นก็กลับเอามาบอกกับท่าน อีกส่วนหนึ่งก็คือทหารบางคนที่ไม่ชอบหน้าผู้บังคับบัญชาของเขา ก็เอาเรื่องแผนการต่าง ๆ ของผู้บังคับบัญชาเหล่านั้นมาบอก

นี่ก็แค่ “หนามยอกเอาหนามบ่ง” และด้วยหลักรัฐศาสตร์ที่ว่า “ไม่มีใครมีอำนาจค้ำฟ้า”

ท่านสอนผู้สื่อข่าวว่า อำนาจนั้นไม่เข้าใครออกใคร ทุกคนอยากมีอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจทางการเมืองที่สามารถเนรมิตได้ทุกอย่าง ด้วยความโลภในอำนาจเช่นนี้ ทุกคนจึงอยู่ภายใต้ “กับดักแห่งอำนาจ” ด้วยกันทุกคน ถ้าเรารู้ทันและไม่ประมาทก็เอาตัวรอดได้ ตรงกันข้ามกับความประมาทและถูกความโลภนั้นปิดตา อำนาจก็จะพาไปสู่ความฉิบหาย

ก่อนสิ้นปี 2518 รัฐบาลบริหารประเทศมาได้เพียงแต่ 10 เดือน ข่าวลือเรื่องการล้มรัฐบาลก็หนักแน่นขึ้นทุกวัน ในวันที่ 29 ธันวาคม 2518 ท่านจึงให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเชิญ รัฐมนตรีและ ส.ส.ในฝ่ายรัฐบาลมาร่วมเลี้ยงปีใหม่ที่ทำเนียบรัฐบาล ปรากฏว่ามี ส.ส.มาร่วมงานจำนวนไม่มาก เพราะส่วนหนึ่งไปร่วมงานที่ “ผู้ใหญ่ในสวนรื่น” จัดขึ้นตรงกัน ท่านก็รู้ด้วยสัญชาติญาณในทันทีว่า รัฐบาลคงไปไม่รอด ดังนั้นพอขึ้นปีใหม่ได้ 2 วัน ท่านก็ประกาศยุบสภา

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังรู้อีกว่า ท่านจะต้องแพ้ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 4 เมษายน 2519 นั้นด้วย เพราะท่านทราบข่าวมาจากทหารนั่นเองแหละว่า “งานนี้ถ้าแพ้ กองทัพต้องพัง” ความจริงนั้นท่านจะเลี่ยงการแพ้ด้วยการไม่ลงรับเลือกตั้งในเขตดุสิต ที่เป็นเขตของทหารนั้นก็ได้ แต่ท่านอยากจะ “แพ้ให้เห็น” เพื่อเปิดเผยศัตรูให้ชัดเจน ซึ่งก็เป็นไปอย่างที่ท่านคิด เพราะนายทหารผู้นั้นได้ออกมาทวงบุญคุณกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้จัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ด้วยการขอตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม แม้นายทหารผู้นั้นจะไม่สมหวัง เพราะมีอันต้องเสียชีวิตไปอย่างมีเบื้องหลัง แต่ทหารก็คือสู่อำนาจได้ในที่สุด ด้วยการทำให้พรรคประชาธิปัตย์นั้นแตกกัน รวมถึงปลุกระดมมวลชนให้เกลียดชัง ส.ส.โดยบอกว่าเต็มไปด้วยคอมมิวนิสต์ ร่วมกับให้มวลชนเกลียดนักศึกษา ที่สุดก็ล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม 2516

ที่เขียนมานี้เพราะเห็นในหน้าสื่อต่าง ๆ เขียนกันแต่เรื่อง “ดีลลับ” บ้าง “ข่าว(ลือ)ลับ” บ้าง ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ คนโน้นคนนี้จะโดน “สอย” หรือ “ร่วง” ซึ่งน่าจะเป็นการ “คิดมากเกินไป”

การเมืองไทยไม่ใช่สามก๊ก และคนแต่งสามก๊กก็เป็นนักเขียนชั้นเซียน ซึ่งคนที่คุมเกมการเมืองไทยก็ไม่น่าจะฉลาดลึกซึ่งถึงปานนั้น (บางทีก็ไม่แน่ใจว่ามีคนคุมเกมได้จริง ๆ หรือไม่)

ถ้าจะมีคนฉลาดก็แค่ “ศรีธนญชัย” ที่ฉลาดบ้า ๆ บอๆ เห็นความหายนะของใคร ๆ เป็นเรื่องสนุก