เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

เศรษฐศาสตร์การเมืองแปลว่า เศรษฐกิจและการเมืองเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” มีปฏิสัมพันธ์กันเชิงระบบโครงสร้าง แบบองค์รวม ไม่แยกส่วน ทั้งองคาพยพ เป็นแนวคิดที่อธิบายสังคมได้ทั้งเสรีนิยมและอนุรักษนิยม  ลองใช้คำและคอนเซปต์เพื่อเข้าใจและตรวจสอบสังคมไทยก่อนไปถึงข้อสรุป

1) เจตจำนงทางการเมือง (political will)  

ในสังคมประชาธิปไตย เจตจำนงทางการเมือง หมายถึง ความมุ่งมั่นในพันธสัญญาที่แสดงออกทางภารกิจของรัฐบาลที่เสนอนโยบายไว้กับประชาชนที่เลือกพวกเขามา นำนโยบายสู่การปฏิบัติ จัดความสำคัญก่อนหลัง โดยประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เจตจำนงทางการเมืองเริ่มจากผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจน และมีแผนที่นำไปสู่การปฏิบัติได้

2) วิสัยทัศน์ (vision)

คำนี้เดิมใช้ในแวดวงศาสนา หมายถึง “ภาพนิมิต” ของศาสดาประกาศ พวกเขาเป็น “ทูตสวรรค์” เป็นผู้มีญาณ เห็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นผู้ประกาศข่าวดี บอกข่าวร้าย ตักเตือนเพื่อนมนุษย์ให้กลับใจจากการหลงใหลในความชั่ว เลิกทำบาป ไม่เช่นนั้นหายนะจะมาเยือน

วิสัยทัศน์ทางการเมืองที่ดีมาจาก 2 ฐาน 1) ฐานข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจในสภาพที่เป็นจริง ศักยภาพ ปัญหา ความต้องการของสังคม  2) ฐานปัญญาและคุณธรรม ที่ทำให้แยกสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรม ผลประโยชน์ส่วนรวม จากผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง 

วิสัยทัศน์ คือ “จิตวิญญาณ” ของยุทธศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยแผนงาน โครงการ กิจกรรม ที่สัมพันธ์กัน บูรณาการและผนึกพลังกันเป็นองคาพยพเดียว และจะมีผลต่อสังคมทั้งองคาพยพ

3) บูรณาการ และคำอื่นในตระกูลนี้

บูรณาการ (integration) องค์รวม (holistic) องคาพยพ (organism) ผนึกพลัง (synergy) คือกลุ่มคำที่ทำให้เจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาลและผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เกิดผลในการบริหารบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า

บูรณาการ (integration) มาจากคำว่า “สมบูรณ์” เหมือนสิ่งมีชีวิตที่มีส่วนประกอบครบ แข็งแรง ทำให้ไม่เจ็บป่วย ทำหน้าที่ของตนได้ รัฐบาลที่มีพลัง มีประสิทธิภาพจะมีแผนงาน โครงการ กิจรรม ที่แยกย่อยมาจากแผนยุทธศาสตร์ โดย “ไม่แยกส่วน” แต่เป็น “องค์รวม” (holistic) เพราะถ้าแยกส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิต ก็จะไม่มีพลัง อ่อนแอ เจ็บปวย ตาย เพราะเป็น “องคาพยพ” (organism) คำเดียวกับคำว่า “อินทรีย์” ที่หมายถึงสิ่งมีชีวิต

4) นโยบายสาธารณะ (public policy)

นโยบายสาธารณะ คือการตัดสินใจ การกระทำ แนวทางชุดหนึ่งที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเพื่อดูแลประเด็นทางสังคม ตอบสนองความต้องการของประชาชน เป็นกฎหมาย ระเบียบ โครงการต่างๆ เพื่อเป้าหมายเฉพาะ และเพื่อการอยู่ดีกินดีของประชาชน

นโยบายสาธารณะดีชั่วอย่างไร อยู่ที่กระบวนการได้มา ว่ามาจากฐานข้อมูลความรู้ วิเคราะห์สังเคราะห์ ใช้ปัญญาเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมมากน้อยเพียงใด เพื่อประโยชน์ของสังคม คนส่วนใหญ่ และผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วม หรือเพื่อตัวเองและพวกพ้อง

5) ทฤษฎีการพัฒนาแบบไม่เท่าเทียม (unequal development theory)

ตั้งแต่ 2475 ที่มี “การปฏิวัติ” เปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการ “สวิง” ไปมาระหว่างแนวคิดสองขั้ว ที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตย” กับ “อนุรักษนิยม”  หรืออีกนัยหนึ่ง ฝ่าย “ประชาธิปไตย” ที่ต้องการ “เปลี่ยนแปลง” ประเทศไทย กับฝ่ายที่ต้องการ “อนุรักษ์”

วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ รวมทั้งทุกคำที่ยกมา สะท้อนให้เห็นฝ่ายที่ต้องการปลี่ยนแปลงประเทศ เพราะมีความไม่เท่าเทียม ไม่เป็นธรรม การผูกขาดทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

นับตั้งแต่แผนพัฒนาฯ แผนที่ 1 เมื่อปี 2504 สังคมไทยใช้แนวคิด “ทฤษฎีการพัฒนาแบบไม่เท่าเทียม” คือ จัดระบบโครงสร้างที่เอื้อความเหลื่อมล้ำโดยเจตนา เชื่อว่า ถ้าคนส่วนน้อยรวย คนส่วนใหญ่ก็จะรวยขึ้นด้วย เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม  จนเกิด “การผูกขาด” รัฐสนับสนุนทุนใหญ่ บอนไซทุนเล็ก บอนไซธุรกิจชุมชน

เศรษฐศาสตร์การเมืองไทยสัมพันธ์และเอื้อกันอย่างชัดเจน นโยบายของรัฐบาลทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ที่คนรวยไม่กี่เปอร์เซนต์รวยขึ้น มีสินทรัพย์มากกว่าประชากรที่เหลือที่จนลง คนรวยบางคนมีที่ดินเป็นแสนไร่ ขณะที่คนส่วนใหญ่มีไม่กี่ไร่หรือไม่มีเลย

ตามหลักการ “ทุกคนเท่าเทียมกันทางกฎหมาย” แต่สุดท้าย “คุกมีไว้ขังคนจน” กระบวนการยุติธรรมที่ถูกตั้งคำถาม  ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง

ด้วยเหตุนี้ เจตจำนงทางการเมืองจึงอยู่บนฐานคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองของรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ หรือภาพฝันที่บิดเบี้ยว เพราะมาจากฐานคิด ฐานข้อมูลความรู้ที่บิดเบือน ไม่มาจากความเป็นจริงที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน

คนไทยเรียกร้อง “การเปลี่ยนแปลง” เพราะธรรมาภิบาลล้มเหลว ความชอบธรรมล้มละลาย ฝ่ายอำนาจอนุรักษ์ต้องการรักษาสถานภาพเดิม (status quo) ถ้าครอบงำด้วยอำนาจนำทางวัฒนธรรมไม่ได้ ที่แพ้ตั้งแต่ใน “มือถือ” ด้วยไอโอที่สู้คนรุ่นใหม่ไม่ได้ ก็อาจจะใช้ “อาวุธที่เหลืออยู่” คือ กฎหมายและปืน