ทุกคำถามที่พุ่งตรงมายัง แกนนำพรรคการเมือง ในรัฐบาลรักษาการ หลังการเลือกตั้ง14 พ.ค.66 เป็นต้นมา นอกเหนือไปจากการเช็คสภาพความพ่ายแพ้ของ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม แล้ว หลายคนยังอยากรู้ว่า จนถึงเวลานี้ ยังพอมีหวังที่จะตั้ง รัฐบาลแข่ง กับ 8 พรรค 312 เสียงอยู่หรือไม่ !  


 แน่นอนว่าแกนนำในพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา ต่างประสานเสียงออกมาในทิศทางเดียวกันว่า เอาใจช่วย ให้พรรคก้าวไกล ในฐานะแกนนำ เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ  


 แต่การให้ความเห็นของ แกนนำในรัฐบาลรักษาการ กลับยังไม่ได้ทำให้ 8พรรคการเมือง ที่แม้จะเป็นเสียงข้างมาก ก็ใช่ว่าจะมั่นใจได้ว่ากว่าโอกาสที่จะได้เดินเข้าทำเนียบรัฐบาลจะราบรื่น  เพราะทั้งปัญหา เฉพาะตัว ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และว่าที่นายกฯคนที่ 30 กำลังจะกลายเป็น เรื่องส่วนรวมที่กระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาล 8 พรรค  ตามมา 


 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการที่พรรคก้าวไกล อาจจะต้องเป็น ถอย ให้พรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคอันดับสอง ขึ้นมาทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาลแทน ตามมาด้วยการเปลี่ยนชื่อแคนดิเดตนายกฯจากพิธา ไปสู่บัญชีของพรรคเพื่อไทยแทน 


 ถึงกระนั้นหากจับสัญญาณจากพรรคเพื่อไทยเอง ก็ดูเหมือนว่าพวกเขาอ่านเกมการเมืองได้ขาด มาตั้งแต่ต้นแล้วว่า แม้พรรคเพื่อไทยจะได้จับขั้วอยู่กับปีกฝ่ายประชาธิปไตย แต่การตั้งรัฐบาลนั้นทำได้ยาก  มิหนำซ้ำยังประเมินได้ไม่ยากว่า สถานการณ์การเมือง มีโอกาสที่จะเลี้ยวเข้าสู่ มุมอับ  ได้ทุกเมื่อ


 ด้วยเหตุนี้ พรรคเพื่อไทยเองจึงจงใจส่งสัญญาณผ่านสื่อทั้งกรณีเบรกไม่เห็นด้วยที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะกลับประเทศไทย หลังเลือกตั้ง โดยที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล  และยังไม่ต้องแปลกใจที่จะพบว่าในช็อตต่อไป คือการ ดึง อุ๊งอิ๊งแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ออกจาก ความสุ่มเสี่ยง ด้วยการไม่ให้เข้าไปร่วม ชิงนายกฯ กับพิธา จากพรรคก้าวไกล 

 เพราะเกมการเมืองจากนี้ไป ดูเหมือนว่าจะมีแต่ความรุนแรง ความวุ่นวายบนท้องถนนรอยู่ข้างหน้า ยิ่งหากมีสัญญาณแรงชัดว่า ถึงอย่างไรพิธา ก็จะไปไม่ถึง เก้าอี้นายกฯคนที่ 30 อยู่ดี !