เสรี พงศ์พิศ  

FB Seri Phongphit

ฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียมีบทเรียนการต่อสู้ไปสู่ประชาธิปไตยที่น่าเรียนรู้ เพราะดูเหมือนว่า ถ้าพิจารณาการพัฒนาเศรษฐกิจและหลายด้านไทยเราก้าวหน้ากว่าสองประเทศเพื่อนบ้านนี้

สถานการณ์ในฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซีย 60 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้แตกต่างจากไทย กว่าจะไล่มาร์กอสลงจากอำนาจได้ก็ต้องอาศัยขบวนการ “พลังประชาชน” (People Power Movements) กว่าซูฮาร์โตจะยอมถอย คนอินโดฯ ต้องต่อสู้อย่างหนัก จนทั้งสองประเทศเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยไปไกลกว่าไทย สามารถผลักดันให้ทหารกลับกรมกอง ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ กระจายอำนาจ ส่งเสริมสื่อเสรี

มีการเลือกตั้งที่ “ฟรีและแฟร์” (free and fair) และเศรษฐกิจพัฒนา นานาชาติคบหาสมาคม นักลงทุนเข้าไปลงทุน การเมืองมีความมั่นคงมากขึ้น

พัฒนาการเหล่านี้ต้องอาศัยการผนึกพลังของขบวนการปฏิรูป ประชาสังคม ที่เติบโตมาจาก “ข้างล่าง” จากชุมชน โดยฟิลิปปินส์มีชุมชนชาวคริสต์ องค์กรชุมชนคนรากหญ้า เอ็นจีโอ ในอินโดนีเซียมีขบวนการปฏิรูปโดยชุมชนต่างๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ที่ค่อยๆ สร้างรากฐานใหม่ให้ประชาธิปไตยในประเทศนี้ที่ทหารมีอำนาจมาตั้งแต่หลังสงครามโลกจนถึงปี 1998 ที่ซูฮาร์โตถูกบีบให้ลงจากอำนาจ

ขบวนการประชาชนในสองประเทศนี้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา “จิตสำนึกใหม่” ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องการถูกครอบงำจากอำนาจเผด็จการ อันเป็นที่มาของการฉ้อฉลทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่โปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้

แม้ว่าวันนี้ทั้งสองประเทศก็ยังต้อง “พัฒนาประชาธิปไตย” กันต่อไป ยี่สิบปีที่ผ่านมา สังคมสองประเทศนี้ยังต้องดิ้นรนต่อสู้กับอำนาจที่หวนกลับมาในรูปแบบอื่น แต่พลังประชาชนในฟิลิปปินส์ก็ไม่ได้ถดถอย สังคมที่มีจิตสำนึกใหม่ยังสามารถประคับประคองประชาธิปไตย ตรวจสอบธรรมาภิบาล จนสามารถทำให้ผู้นำประเทศติดคุกได้ 2 คนด้วยข้อหาคอร์รัปชัน

ขบวนการประชาชนในฟิสิปปินส์ทำให้เกิดคำใหม่ว่า “conscientization” (การพัฒนาจิตสำนึก) ในภาษาอังกฤษที่แพร่หลาย ที่ใช้กับงานพัฒนาชุมชน งานรณรงค์สิทธิมนุษยชน และงานวิจัย (conscientizing research) ที่ถูกนำไปใช้ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่ประชาธิปไตยยังล้าหลัง รวมทั้งไทย

การรณรงค์เพื่อพัฒนาจิตสำนึกไม่ว่าที่ไหนย่อมถูกกล่าวหาว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” เพราะวิพากษ์สังคมด้วยแนวคิดที่ส่วนหนึ่งยืมมาจากมาร์กซิสต์ แต่ก็ไม่ได้แปลว่า เป็น “มาร์กซิสต์” หรือ “คอมมิวนิสต์” แต่ก็อยู่ “ฝ่ายซ้าย” ฝั่งตรงกันข้ามกับฝ่ายอำนาจและอนุรักษนิยม ซึ่งเป็น “ฝ่ายขวา”

จนถึงวันนี้ ขบวนการพลังประชาชน ขบวนการประชาสังคม ในสองประเทศนี้ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ แต่ต้องการเห็นสังคมที่เป็นธรรม ต้องการสังคมประชาธิปไตย

ประเทศไทยมีเสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวอยากมา มีทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ทะเล ภูเขา ปลูกอะไรก็ขึ้น เลี้ยงอะไรก็โต แล้วทำไมประชาธิปไตยยัง “ไม่โต” ยังดิ้นรนต่อสู้ฝุ่นตลบ ยังมีรัฐประหาร ทหารยังมีอำนาจ

ยังมี “นิติสงคราม” ที่บรรดาเนติบริกรรับใช้อำนาจช่วยกันทำตั้งแต่ร่างกฎหมายแม่ (รัฐธรรมนูญ) ไปถึงกฎหมายลูก กฎกระทรวง ระเบียบปฏิบัติ มัดสังคมให้เดินตามหนทางแห่งอำนาจ ไม่ใช่ประชาธิปไตย

ประวัติศาสตร์ไทยหลัง 2475 มีหลายย่างคล้ายกับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย และมีชื่อเสียงว่า ภาคประชาชนได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยหลายรูปแบบ จนกลายเป็นบทเรียนที่ถูกกล่าวถึงไปทั่วโลก อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516  ที่นับได้ว่าเป็น “การปฏิวัติโดยประชาชน”

แต่เพียง 3 ปี อำนาจเก่าก็หวนกลับมาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ทำให้ขบวนการประชาชน “แตก” ส่วนหนึ่งเข้าป่า ส่วนหนึ่งลี้ภัยในต่างประเทศ ที่เหลือก็อยู่ต่อไปในสังคมอย่างเงียบๆ

แต่บ้านเมืองไทยก็เปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 แม้ว่า “ทหาร” จะกลับมากุมอำนาจ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ “ตามอำเภอใจ” จึงกลายเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ มีรัฐประหาร 2534 และ 2549 และล่าสุดในปี 2557 ที่ครั้งนี้ ทหารสรุปบทเรียนจากปี 2534-2535 อยู่ยาว 9 ปี ด้วยการสร้างเงื่อนไขทางรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และอื่นๆ ทำให้สืบทอดอำนาจมาได้ยาวนาน

บริบทสังคมไทยมีปัจจัยร่วมบางอย่างกับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์มีศาสนาคริสต์ อินโดนิเซียมีศาสนาอิสลาม ไทยมีพุทธศาสนา  แต่ศาสนาคริสต์ในฟิลิปปินส์และอิสลามในอินโดนีเซียมีทั้งอยู่ข้างอำนาจรัฐและอยู่ข้างคนจน คนรากหญ้า เป็นพลังสำคัญให้ชุมชนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย  คงจำภาพบาทหลวง แม่ชี ยืนร่วมกับประชาชนยืนเผชิญหน้ารถถังที่มะนิลา

ความต่างอยู่ที่สถาบันกษัตริย์ที่สองประเทศเพื่อนบ้านไม่มี ขณะที่ไทยมีความต่อเนื่องมายาวนานเกือบ 800 ปี  ไทยถือว่า “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เป็น “อุดมการณ์” มาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ส่วนเพื่อนบ้านยึดถือคุณค่าประชาธิปไตยในแบบสากล คือ “เสรีภาพ เสมอภาพ ภราดรภาพ”

ความจริง “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” คล้ายกับที่อังกฤษประกาศ “God, King, and Country” ที่ใช้เพื่อปลุกใจทหารในการรบกับเยอรมันและพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งรัชกาลที่ 6 ที่เคยประทับที่อังกฤษคงนำมาใช้เพื่อเป็นอุดมการณ์ “สร้างชาติ” เห็นได้จากป้าย “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” หน้าค่ายทหารจนถึงวันนี้

เมื่อก่อน ธงชาติไทย เป็นธงสีแดงพร้อมกับรูปช้าง รัชกาลที่ 6 ทรงเปลี่ยนเป็นธงไตรรงค์ แดง ขาว น้ำเงิน ซึ่งถือว่าแทน “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” สามสีนี้ทำให้ไทยเป็น “สากล” มากขึ้น แต่ไม่ได้นำความหมายที่เป็น “สากล” มาใช้ ที่หลายชาติในยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศสใช้เพื่อแสดงถึง “เสรีภาพ เสมอภาพ ภราดรภาพ”

ประชาธิปไตยไทยมีพัฒนาการมาอย่างซับซ้อน ประกาศเป็นเสรีประชาธิปไตย แต่ใจยังคงไม่เป็นอิสระจากพันธนาการทางสังคมที่สั่งสมมานาน  คงรอให้ “จิตสำนึกใหม่” ของปวงประชาพัฒนาไปไกลกว่านี้