ความพ่ายแพ้จากสนามเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องยอมรับว่า พรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในสภาพที่เรียกว่า บอบช้ำหนัก  บ้างประเมินว่า พรรคเพื่อไทย คือพรรคใหญ่ที่ต้องพ่ายให้กับ พรรคก้าวไกล ที่เติบโตอย่างชนิดก้าวกระโดด  ก็ตาม 


 แต่แม้ พรรคเพื่อไทยจะทำที่ส.ส.ไม่ถึงเป้าหมายแลนด์สไลด์ 310 ที่นั่ง  ทว่า 141 ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ก็ได้เข้าร่วมขบวนรถไฟสาย รัฐบาลใหม่ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลอันดับสอง ที่ประกาศเปิดศึกชิงเก้าอี้ ประธานสภาฯ กับ พรรคแกนนำอันดับหนึ่งอย่างพรรคก้าวไกล 


 ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ได้ส.ส.กลับเข้าสภาฯรอบนี้เพียง 24 ที่นั่ง เท่ากับว่า เสียงในสภาฯ ของพรรคหายไปจากเดิมเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 โดยในครั้งนั้นพรรคทำได้ทั้งสิ้น 52 ที่นั่ง ดังนั้นนอกจากที่นั่งส.ส.จะหายไปถึง 28 ที่นั่งแล้ว ยังส่งผลทำให้พรรคไม่มีจำนวนส.ส. ถึง 25 คนที่จะเสนอชื่อ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์  เป็นนายกฯได้ 

 เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 กำหนดให้บุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องมาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่า 5% ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภา หรือมี ส.ส. มากกว่า 25 คนขึ้นไป แน่นอนว่าความพ่ายแพ้ครั้งนี้ จุรินทร์ ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการ ประกาศลาออกไปแล้ว เมื่อรู้ผลการเลือกตั้ง หลังปิดหีบบัตรคืนวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา 

 จากนี้เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองส.ส.ครบทั้ง 500 คนไปแล้วเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เอง จะเริ่มเดินหน้าเข้าสู่โหมด ของการเลือก คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยมีไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ ตำแหน่ง หัวหน้าพรรคคนใหม่ นั้นจะเป็นใคร ? 

 น.ต.สุธรรม ระหงษ์ ผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุไทม์ไลน์ในเรื่องนี้ว่า  พรรคประชาธิปัตย์ จะจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคฯ (กก.บห.) ชุดรักษาการ ในวันที่ 21 มิ.ย.เพื่อกำหนดวันจัดประชุมใหญ่วิสามัญ สำหรับการเลือกหัวหน้าพรรคฯ และกรรมการบริหารพรรคฯชุดใหม่ เบื้องต้นจะจัดประชุมใหญ่วิสามัญในวันอาทิตย์ที่ 9 ก.ค.

 คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่  กำลังถูกจับตาเป็นคู่ขนานไปกับปัญหา ภายใน และข่าวลือที่สะพัดมาก่อนหน้านี้ว่ามีรายการ ดีลลับ  ของคนประชาธิปัตย์บางส่วนที่อยากย้ายข้าง ทิ้งลุง ไปอยู่กับ พรรคก้าวไกลร่วมขบวนรัฐบาล แต่ที่สุดแล้วแกนนำที่ถูกเชื่อมโยงต่างออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง 

 เวลานี้สำหรับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว จึงอยู่ในภาวะที่เผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก จะทำอย่างไรพรรคจึงจะกลับมา เป็นเส้นกร๊าฟที่เริ่ม ไต่ระดับขึ้น แม้จะมีรายงานว่า แกนนำระดับอาวุโส ของพรรคพยายามดึง อดีตคนประชาธิปัตย์ ที่ลาออกไปแล้ว ให้กลับมาช่วยกันกอบกู้พรรค  แต่บางรายเลือกที่จะเดินหน้าไปตามเส้นทางการเมืองที่พวกเขาเลือกเอง ในเส้นทางใหม่ แม้จะไม่ราบรื่น แต่ก็ขอเลือกที่จะไม่กลับพรรค !
 การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ จากนี้ไปอาจกลายเป็น ชนวน ที่ทำให้ประชาธิปัตย์กลับสู่โหมด ระอุ รอบใหม่  อย่าลืมว่ายังมีบางกลุ่มที่หนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้กลับมากู้พรรค และเช่นเดียวกัน ก็ย่อมมีอีกฝ่ายหนึ่งที่เคลื่อนไหว ขวางสุดตัว เหมือนกัน !