ทวี สุรฤทธิกุล

น่าดีใจถ้าการเมืองในวันพรุ่งนี้เป็นของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ แต่พวกเขาก็ต้องระมัดระวังหลายเรื่อง

คงจะยังไม่เบื่อที่จะยกข้อคิดที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้มีประสบการณ์ผ่านมาในการดูแลบ้านเมืองหรือชีวิตการทำงานทางการเมืองในระยะเวลากว่า 40 ปี ของท่าน คือตั้งแต่ พ.ศ. 2489 ถึง 2535 ที่ท่านได้อธิบายว่า ท่านได้เห็นคนหนุ่มสาวมาทำงานการเมืองอย่างน้อยก็ใน 2 ช่วงอายุ คือในปี 2489 ที่ท่านลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรก ในเวลาที่ท่านมีอายุ 35 ปี และในอีกช่วงหนึ่งในปี 2518 ที่ท่านมีอายุ 64 ปี แต่ท่านก็ได้ทำงานร่วมกับ ส.ส.หนุ่มสาวจำนวนมากหลาย ๆ คน

คนหนุ่มสาวเหล่านี้คือพลังของบ้านเมือง กระนั้นก็ยังสร้างปัญหาให้การเมืองไทยมหาศาล

ถ้าจะว่ากันไป คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นคนหนุ่มสาวในยุคนั้นได้เช่นกัน เพราะหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีอายุแค่ 32 ปี และหลวงพิบูลสงครามก็อายุแค่ 35 ปี เช่นเดียวกันกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่มีอายุ 35 ปีในเวลาที่สมัคร ส.ส.เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2489 ซึ่งหลวงประดิษฐ์ฯกับหลวงพิบูลฯก็เริ่มเข้าสู่วัยกลางคน และต้องต่อสู้กับ ส.ส.คนรุ่นใหม่อย่างเข้มข้นในยุคนั้น

ตอนนั้นเป็นสภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เพิ่งสิ้นสุดลงไปเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 หลวงพิบูลฯ หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกกล่าวหาว่าพาประเทศไทยเข้าร่วมรบกับญี่ปุ่น ต้องขึ้นศาลอาชกรสงคราม แม้ว่าภายหลังจะรอดพ้นไม่ต้องรับโทษ แต่ก็หมดอำนาจตกต่ำลงไป ทำให้ฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯ หรืออาจารย์ปรีดี พนมยงค์ มีอำนาจโดดเด่นเพียงลำพัง ซึ่งท่านได้ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 แล้วก็มีการเลือกตั้งในปีนั้น ซึ่งนักการเมืองคนรุ่นใหม่ก็มาลงสนามเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนั้นก็มีท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่ได้ตั้งพรรคก้าวหน้าลงสู้ แต่ต่อมาก็มารวมกับ ส.ส.คนอื่น ๆ เป็นพรคประชาธิปัตย์ โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คนแรก

สาเหตุที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ต้องยุบพรรคก้าวหน้ามาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ก็เพราะต้องรวมกันให้เป็นพรรคขนาดใหญ่ เนื่องจากตอนนั้นการเมืองไทยแบ่งเป็น 2 ขั้ว คือขั้วที่สนับสนุนอาจารย์ปรีดี กับขั้วที่ไม่เอาอาจารย์ปรีดีย์ โดยขั้วที่สนับสนุนอาจารย์ปรีดีมีพรรคแนวรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นพรรคที่มี ส.ส.จำนวนมากที่สุดเป็นแกนนำ ทำให้พรรคเล็ก ๆ ที่ไม่เอาอาจารย์ปรีดีต้องมารวมกันเป็นพรรคประชาธิปัตย์ดังกล่าว จึงสามารถที่จะมีกำลังพอฟัดพอเหวี่ยง ไม่ให้ฝ่ายสนับสนุนอาจารย์ปรีดีนั้น “เหิมเกริม” จนเกินไป

หลายท่านคงเกิดไม่ทัน แต่ถ้าจะมองภาพความวุ่นวายของการเมืองไทยตอนนั้นด้วยฉากทัศน์การเมืองไทยในตอนนี้ก็คงจะพอมองเห็นภาพได้คลับคล้ายคลับคลา คือคล้าย ๆ กับการต่อสู้กันระหว่าฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายอนุรักษ์ในยุคนี้ โดยพรรคประชาธิปัตย์ในยุคนั้นเป็นฝ่ายที่มีเสียงน้อยกว่า แต่ก็กล่าวหาว่าฝ่ายที่สนับสนุนอาจารย์ปรีดีว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็พอดีกันกับได้เกิดกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ทำให้การต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายนี้มีความรุนแรงมากขึ้น ที่สุดก็นำมาซึ่งการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปีเดียวกันนั้น

ความจริงทั้งพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มที่สนับสนุนอาจารย์ปรีดีก็มีรากฐานมาจากพวกคณะราษฎรด้วยกัน (รวมทั้งกลุ่มจอมพล ป.ที่ถูกกีดกันออกจากอำนาจไปนั้นด้วย) โดยหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ นายควง อภัยวงศ์ ที่ถือได้ว่าเป็นแกนนำของคณะราษฎร ที่ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ด้วยคนหนึ่ง แต่ก็มาขัดใจกันก็ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกแล้ว เมื่อมีการเลือกตั้งก็ต้องมาต่อสู่แย่งชิงอำนาจกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

มอง ๆ ไปก็เหมือนพรรคก้าวหน้ากับพรรคเพื่อไทย ที่ต่างก็มีฐานเสียงเป็นกลุ่มคนพวกเดียวกัน คือคนพวกที่ไม่เอาเผด็จการและเบื่อ “พี่น้อง 3 ป.” พอเลือกตั้งก็ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยจะมีกระแสนำในระยะแรก ถึงขั้นที่พรรคเพื่อไทยกล้าประกาศว่าจะชนะเลือกตั้งอย่างแลนด์สไลด์ แต่พอมีการปล่อยข่าวว่าพรรคเพื่อไทยกำลังมี “บิ๊กดีล” กับฝ่ายเผด็จการเพื่อเอาทักษิณกลับบ้าน ก็ทำให้คะแนนของพรรคเพื่อไทยวูบไป กระทั่งแพ้ให้กับพรรคก้าวหน้าเพียง 10 เสียง ซึ่งว่ากันว่าพรรคเพื่อไทยยัง “แค้น” พรรคก้าวหน้าในเรื่องนี้อยู่ เพราะพรรคก้าวหน้ามีความสามารถในการทำ “IO” หรือสงครามข่าวสาร ที่พรรคเพื่อไทยบางคนเชื่อว่าเรื่อนี้น่าจะเป็นฝีมือของพรรคก้าวไกลนั่นเอง อันนำมาซึ่งความขัดแย้งของการที่จะร่วมเป็นรัฐบาล ตั้งแต่ที่จะมีการตั้งประธานรัฐสภาก็น่าจะปัญหา และอาจจะทำให้พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล

ย้อนกลับไปที่การเมืองไทยใน พ.ศ. 2490 ภายหลังที่ทหารได้อาศัยความขัดแย้งของฝ่ายประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้งกลับคืนสู่อำนาจ ตอนแรกก็ได้ให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ผ่านไปเพียง 4 เดือน ทหารก็ “จี้” (คือมีนายทหาร 2 คนไปพบนายควงที่บ้านตรงข้ามสนามศุภชลาศัย นายทหารทั้งสองคนแต่งตัวเต็มยศพร้อมเหน็บอาวุธปืนกับกระสุนรอบเอว)ให้ออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นก็ให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และนำมาสู่ยุค “ทหารครองเมือง” อย่างเต็มตัว ที่ตอนแรกทหารก็พยายามจะประนีประนอมกับนักการเมือง แต่ก็ทนความวุ่นวายของ ส.ส.ในสภาไม่ไหว ในที่สุดก็ต้องทำรัฐประหารอีกรอบ และครองอำนาจไปจนถึงวันที่จอมพล ป.ถูกลูกน้องของตัวเอง คือพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ “จี้” ให้ออกไปตายที่ต่างประเทศ ในตอนปลายปี 2500ไทย

การเมืองในช่วง 10 ปีนี้ต้องถือว่าเป็นความวุ่นวายที่เกิดจากการกระทำของนักการเมืองคนรุ่นใหม่ใน พ.ศ.นั้นด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งบทเรียนในครั้งนั้น ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้นำมาเป็นบทเรียนให้กับ ส.ส.ใน พ.ศ. 2518 ด้วย แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก ซึ่งคงต้องมาว่ากันในสัปดาห์ต่อไป เพื่อให้เห็นว่าการที่ไม่สนใจประวัติศาสตร์อาจจะนำมาซึ่งความผิดพลาด เพราะการไม่รู้ว่าใครคือ “มิตร – ศัตรู, แท้ - เทียม”

ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยแพ้ครั้งนี้ ก็ไม่รู้ว่าทหารจะมา “กางขาคร่อม” ประเทศนี้ไปอีกนานแค่ไหน?