วันที่ 24 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2566  ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.เป็นต้นไป แน่นอนว่าเมื่อมีการเปิดประชุมรัฐสภาขึ้น  จะเข้าสู่โหมดการเมืองร้อน เมื่อไทม์ไลน์การเลือก ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 4 ก.ค. โดยมี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อายุ 89 ปี ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดในสภาฯ ทำหน้าที่ประธานสภาฯชั่วคราว 


 หมายความว่าจากวันนี้จะเหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ที่ทั้ง พรรคเพื่อไทย กับ พรรคก้าวไกล  จะต้อง ได้คำตอบ ว่าเก้าอี้เป็นประเด็นร้อน คือตำแหน่งประธานสภาฯ นั้นควรจะเป็นของพรรคใด จะเป็นโควตา ตามสูตร  14+1  ที่ทั้งสองพรรคเคยตกลงกันเอาไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ คือ 14 เก้าอี้ ในส่วนของ รัฐมนตรี บวกกับอีก 1 คือ เก้าอี้ นายกฯคนที่30  หรือ ประธานสภาฯ 


  ตามการนัดหมายพูดคุยกันอย่างเป็นทางการระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล วางปฏิทินกันเอาไว้ในวันที่ 27 มิ.ย.  แต่ดูเหมือนว่าตลอดหลายวันที่ผ่านมานี้ ท่าทีจของ พรรคก้าวไกล กลับเต็มไปด้วยความ นิ่งสงบ  บรรดาแกนนำพรรคที่เคยออกมาให้สัมภาษณ์แสดงความเห็น ก็พากันอยู่ในโหมดที่ เงียบสงัด ปล่อยให้ คนของพรคเพื่อไทย  ส่งผ่านความเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการประกาศ จองเก้าอี้ประธานสภาฯ


 อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกล เคยถูกประเมินว่า ขวากหนามใหญ่ ของพรรคและตัว พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ และจะได้นั่งนายกฯคนที่ 30 ตามหวังหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ 64 ส.ว. ที่จะโหวตให้พิธา ในที่ประชุมรัฐสภา 


 แต่กลับกลายเป็นว่า ทั้งพรรคก้าวไกลและพิธา ต้องรับมือกับ ด่านที่น่าจะ หิน  ไม่แพ้กัน นั่นคือการหาข้อยุติศึกชิงประธานสภาฯ กับพรรคเพื่อไทย ให้ได้ ให้จบโดยเร็วที่สุด เพราะสถานการณ์นี้ดูเหมือนว่าจะยิ่งยืดเยื้อมากเท่าใด ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อ พรรคก้าวไกลมากเท่านั้น 


 เพราะอย่าลืมว่า เสียงของพรรคเพื่อไทย ที่มีอยู่ 141 ส.ส. ห่างจากพรรคก้าวไกล ที่มี 151ส.ส. เพียง 10เสียง เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ คนของพรรคเพื่อไทย จึงรู้ดีว่า พรรคก้าวไกลนั้นต้องพึ่งพา พรรคเพื่อไทยหากหวังจะตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ 


 วันนี้ คลื่นลมการเมือง ที่กำลังกระแทกเข้าใส่พรรคก้าวไกลกำลังมาจากทุกทิศ ทุกทาง ไม่เพียงแต่ศึกจากฝั่ง ส.ว.ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอด 4ปีที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นว่าความเคลื่อนไหว  เกมซ้อนเกม ว่าจะมี บางพรรค ในขั้วอำนาจเก่า พร้อมที่จะจับมือตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคเพื่อไทย และจะสำแดงฤทธิ์ กันในยกแรกที่ เวทีรัฐสภา วาระการโหวตประธานสภาฯ นี่เอง !