เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

หลายปีก่อน เพื่อนชาวฝรั่งเศส ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งบอกว่า ถ้าหานักศึกษาไทยที่อยากไปเรียนฝรั่งเศสได้ เขาจะให้ทุน เรียนฟรีพร้อมที่พักอาหาร แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องสอนการทำสมาธิได้ และสอนนวดแบบไทยได้ จะมีรายได้จากการสอนและการบริการอีกด้วย

จนแล้วจนรอด หาไม่ได้ แต่ก็ได้เขียนบทความเรื่องการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย 4 อย่าง ที่เป็นเอกลักษณ์ไทย ให้เป็นพลังทางเศรษฐกิจ ที่เรียกกันวันนี้ว่าซอฟต์เพาเวอร์

มรดกทางวัฒนธรรมไทย 4 อย่าง คือ อาหารไทย มวยไทย นวดไทย และการทำสมาธิแบบพุทธ ซึ่งสองอย่างแรกดูจะประสบความสำเร็จสูง แต่นวดไทยยังก้าวไม่ค่อยพ้นจากภาพลักษณ์เก่าที่ผูกโยงกับการบริการทางเพศ ขณะที่การทำสมาธิก็ไม่ได้มีการจัดการส่งเสริมอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่มีวัดไทยอยู่ในยุโรป อเมริกามากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีการสอนการทำสมาธิ ถ้าจัดการให้ดี น่าจะทำได้มากกว่านั้นมาก

เรื่องการทำสมาธิเป็นเรื่องใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว สังคมยุคใหม่เต็มไปด้วยความย้อนแย้งในตัว เรื่องแปลกแต่จริง ( paradox) ชีวิตน่าจะมีความอภิรมย์ แต่เต็มไปด้วยความเครียด คนเป็นโรคประสาท จิตแพทย์เป็นอาชีพที่มีรายได้ดีกว่าแพทย์หลายประเภท

คนในประเทศเหล่านี้แสวงหาทางเลือกที่ไม่ต้องกินยาหาหมอ แม้ไปหาจิตแพทย์ นอกจากได้ยา ก็ยังได้คำแนะนำให้พยายามลดความเครียด ทำจิตใจให้สงบ ให้ทำสมาธิ ฝึกโยคะ

นับเป็นโอกาสดีของไทยในการส่งเสริมการทำสมาธิ เสียดายว่า ไม่เห็นมีนโยบายหรือยุทธศาสตร์เชิงรุกเท่าที่ควร ถ้ามีการฝึกอบรมแบบ “ธรรมทูต” ที่เป็นพระและฆราวาส ส่งไปประจำที่วัดในประเทศต่างๆ ไปจนถึงการตั้งสำนักฝึกสมาธิอิสระ คล้ายกับการเกิด “ค่ายมวยไทย” “ร้านอาหารไทย” ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกวันนี้

การบริหารจัดการ “ส่งออกวัฒนธรรม” ต้องอาศัย “นักธุรกิจ” ไม่ว่าจะคิดทำธุรกิจเพื่อสังคมหรือไม่ก็ต้องอาศัยการบริหารจัดการแบบธุรกิจ ดังกรณีอาหารไทย และมวยไทยที่โด่งดัง ที่มีการปรับประยุกต์หลายอย่างโดยเฉพาะมวยไทยเพื่อสุขภาพ และศิลปะป้องกันตัว แม้จะขัดใจสายอนุรักษ์ อย่างการต่อย 3 ยก ไม่มีไหว้ครู ไปต่อย “ในกรง” ทั้งมวยไทยเต็มรูปแบบ ไม่สวมนวมปกติและแบบห้ามใช้ศอกและจับคอตีเข่า

ทำให้มวยไทยโด่งดังไปทั่วโลกมากกว่าเดิม ค่าตัวนักมวยไทยแถวหน้าในรูปแบบใหม่ก็ไม่ใช่เงินแสน แต่เป็นเงินล้าน ล่าสุดมีนักมวยไทยบางคนต่อยมวยไทยจะได้ค่าตัวไฟต์ละ 10 ล้านบาท ยังไม่รวมรางวัลพิเศษที่ชกดุเดือดถึงใจผู้ชม โดยการจัดของ One Championship ที่สิงคโปร์ของ “ชาตรี ศิษย์ยอดธง” อดีตนักมวยไทยที่สร้างสรรค์ “มวยผสม” แบบ MMA แต่ก็รวมเอามวยไทยเข้าไปด้วย

แม้มีค่ายมวยทั่วโลก แต่คนก็อยากมาเรียนมวยไทยในไทย อยากเรียนทำอาหารไทยในบ้านเรา ถ้ามีการจัดการดี มีการผนวกการท่องเที่ยวเข้ากับ “วัฒนธรรมทั้ง 4” จะทำให้การท่องเที่ยวมีเสน่ห์และมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น

ที่อิตาลี มีการบริการทัวร์ให้เลือก (optional tour) เรื่องการเรียนแบบสั้น ครึ่งวัน หรือเต็มวันในการทำอาหาร ไอศกรีม พาสต้า พิซซ่า อาหารท้องถิ่น เป็นรายการที่นักท่องเที่ยวชอบ ได้เรียนจากเชฟอิตาเลียนโดยตรง ของไทยก็เห็นมีอยู่บ้าง ถ้าจัดการให้ดี น่าจะเป็นรายการโปรดของนักท่องเที่ยวทีเดียว

“ส่งออกวัฒนธรรม” วันนี้อยากเสนอ “ดนตรีอีสาน” โดยเฉพาะ แคน โปงลาง และพิณ เพราะดนตรีพื้นบ้านไทยไปอินเตอร์แบบโด่งดังวันนี้ก็มีดนตรีอีสาน ที่บรรเลงที่ไหนเมื่อไร ใครๆ ต้องลุกขึ้นมาเต้น

ดนตรีอีสานยังไม่ตาย ยังสืบทอดมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาในรูปแบบที่สมสมัย จนคนญี่ปุ่นมาขอลิขสิทธิ์แปลง “อีสานลำเพลิน” เป็นภาษาญี่ปุ่น และขอวิชาจากอาจารย์สุรินทร์ ภาคสิริ ผู้ประพันธ์ ว่าสืบสานดนตรีอีสานดั้งเดิมโดยการประยุกต์แบบนี้ได้อย่างไรจึงไพเราะและถูกใจผู้คนสมัยนี้

ยังมีโปงลาง ที่นายเปลื้อง ฉายรัศมี ชาวกาฬสินธุ์ ศิลปินแห่งชาติได้ประดิษฐ์โดยประยุกต์จากเกราะหรือกะลอผูกคอวัวควาย ใช้เชือกร้อยเป็นระนาด แต่ไม่มีราง นำมาแขวนกับที่แขวน แม้มีระนาดทั่วโลก แต่โปงลางก็ไม่ใช่ระนาด เป็นเอกลักษณ์อีสานและไทย ที่สามารถนำไปแพร่หลายทั่วโลกได้

เช่นเดียวกับแคน ที่เป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่เป่าเลาไม้ไผ่ชนิดหนึ่งที่นำมาประกบกัน ที่มีอยู่ในหลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะชาวเขาในเอเชียและคนพื้นเมืองในอเมริกาใต้ แต่ไม่มีที่เป็นแบบแคน ที่ประสานเสียงได้อย่างไพเราะ พร้อมกับทำให้มีทั้งเสียงนำและ “คอร์ด” เหมือนกับเล่นออร์แทนท่อในโบสถ์คริสต์

หมอแคนสมบัติ ฉิมหล้า ตาบอด มีความสามารถในการเป่าแคนจนมีคนเชิญเข้าวงออร์เคสตร้าได้ ไปทัวร์ต่างประเทศ ได้รับคำชื่นชมและยอมรับว่าเป็นปรมาจารย์ที่สามารถรังสรรค์ดนตรีวิเศษจากแคนได้

ยังมีพิณอีสาน ที่แม้ว่าจะมีเครื่องสายที่เป็นเครื่องดีดคล้ายกันนี้มากมาย แต่พิณอีสานก็มีลักษณะพิเศษ ไม่ได้สวยงามที่มีการแกะด้วยศิลปะไทยให้มีรูปลักษณ์สวยงามเท่านั้น แต่มีสีสันเส้นเสียงไพเราะไม่แพ้กีตาร์ หรือเครื่องสายสากลอื่นๆ เพียงแต่พิณเน้นบรรเลงทำนอง โดยมีแคนมีเบสเป็นแบ็กกราวนด์

ถ้ามีการส่งเสริมเผยแพร่ดนตรีอีสานทั้ง 3 ชนิดนี้ในต่างประเทศ โดยการสอนแคน โปงลาง พิณ น่าจะมีคนสนใจเรียน และอาจจะนำไปประยุกต์กับดนตรีพื้นถิ่นของประเทศนั้นได้อีกด้วย

ที่ยกเอาดนตรีอีสาน 3 ชิ้นนี้มาเสนอเพื่อ “การส่งออกทางวัฒนธรรม” เพราะเห็นว่า น่าจะ “เดินนำหน้า” ดนตรีไทยอื่นๆ ได้ดี  อย่างวง Paradise Bangkok หมอลำโกอินเตอร์ เป็นวงดนตรีอีสานที่ใช้ พิณ แคน ประยุกต์กับเบสและกลองชุด เดินสายไปแสดงทั่วยุโรปและอีกหลายประเทศ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

วันนี้มี “หมาเก้าหาง” วงน้องใหม่ที่ประยุกต์พิณ แคน โปงลาง กีตาร์ เบส ขลุ่ย ซอ เล่นได้ตั้งแต่คลอหมอลำ ไปจนถึงลำเพลิน และเล่นเพลงฝรั่งอย่าง “Bella Ciao” เพลงกู้ชาติของอิตาลี ที่ฝรั่งนักท่องเที่ยวในร้านอาหารฟังแล้วลุกขึ้นเต้นอย่างสนุกสนาน หมาเก้าหางเริ่มได้รับเชิญเดินสายไปหลายประเทศ

ดนตรีพื้นบ้านไทยไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐเท่าที่ควร ถ้าส่งเสริมจริง คนรุ่นใหม่จะสนใจเรียนและเล่นมากกว่านี้ ไม่รู้สึก “เชย” แต่ทันสมัย เพราะนานาชาติก็ชอบ เป็นอีกช่องทางแนะนำวัฒนธรรมไทย