พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ พระพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทย เข้ามาลงหลักปักฐานในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาหลายสิบปี ในอเมริกาฝั่งตะวันตก(west coast) นั้นได้วัดไทยแอล.เอ. รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นสดมภ์หลักในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นวัดไทยที่มีลักษณะแบบเป็นทางการมากที่สุด นั่นคือ เป็นวัดรูปแบบตามแบบอย่างเมืองไทยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในด้านสถานที่และสถาปัตยศิลป์ เมื่อเทียบกับวัดไทยในสถานที่อื่นๆ ในอเมริกา โดยที่วัดไทยจำนวนหนึ่งอยู่ในสภาพของการใช้บ้านเรือนเป็นสถานที่ทำการในฐานะวัด หรือพูดง่ายๆ ก็คือ พระสงฆ์ใช้“บ้าน”เป็นที่พักปฏิบัติศาสนกิจนั่นแหละ ซึ่งสำหรับในอเมริกาแล้วเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา อย่างที่ทราบกันดีว่า ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของฝรั่งอเมริกัน ไม่เหมือนกับของคนไทย นอกจากวัฒนธรรมแล้ว ก็เชื่อมโยงไปถึงข้อกฎหมาย วัดในอเมริกามีฐานะเป็นนิติบุคคลเหมือนองค์กรนิติบุคคลโดยทั่วไป ดังนั้นการดำเนินกิจกรรมใดๆ ก็ตามต้องเป็นตามทบัญญัติแห่งของกฎหมายของรัฐต่างๆ ที่วัดนั้นตั้งอยู่ ที่สำคัญคือการต้องรายงานรายรับรายจ่ายของวัดต่อหน่วยงานของทางการอเมริกันที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ในส่วนของความสนใจพระพุทธศาสนาของชาวอเมริกันเองปรากฏจากเอกสารจากสื่อต่างๆ และหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า มีจำนวนเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทุกวันนี้ ตามร้านหนังสือทั่วไปในอเมริกา มีหนังสือแนวพุทธหรือพุทธปรัชญาออกมาวางจำหน่ายมากมาย ศาสตร์ตะวันออกแขนงพุทธ กำลังได้รับความสนใจค่อนข้างมากจากคนอเมริกันหลายกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเป็นพุทธศาสนานิกายมหายานและนิกายตันตระยาน  ซึ่งนิกายหลังนี้คนอเมริกันได้รับอิทธิพลชาวทิเบตอพยพในอเมริกา โดยเฉพาะจากองค์ดาไลลามะผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้นำทางการเมืองของทิเบตที่เดินทางมายังอเมริกาบ่อยครั้ง ดาไลลามะ เข้าพบนักการเมืองและบุคคลสำคัญของอเมริกันหลายครั้งหลายครา ถึงกระทั่งมีสถาบันทางวิชาการศาสนาอย่างมหาวิทยาลัยนาโรปะเกิดขึ้นเพื่อสอน ให้ความรู้เกี่ยวกับนิกายพุทธตันตระมานานหลายปี สะท้อนถึงการเปิดเสรีทางการศึกษา หรือด้านวิชาการด้านศาสนาในประเทศนี้ กล่าวคือ ตราบเท่าที่ผู้ที่ต้องการเปิดกิจการการศึกษาดำเนินกิจการอยู่ในกฎเกณฑ์หรือกฎหมายการจัดตั้งสถาบันการศึกษาก็ย่อมสามารถทำได้   ดังกรณีของสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาแห่งธิเบต “นาโรปะ” (รัฐโคโลราโด) นับว่าเป็นสถาบันการศึกษาด้านศาสนาในอเมริกาที่ควรค่าแก่การเป็นแบบอย่างของนิกายเถรวาทในแง่ของการให้การศึกษากับผู้ที่สนใจด้านพระพุทธศาสนา ขณะที่พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทของไทยยังเข้าไปไม่ถึงทั้งในส่วนของรัฐบาลและประชาชนชาวอเมริกัน ที่สำคัญคือ ในเวลานี้กระแสความสนใจในพระพุทธศาสนามีแทบทุกมหาวิทยาลัยในอเมริกา เริ่มจากชมรมของนักศึกษาอเมริกันในมหาวิทยาลัยต่างๆ ตลอดถึงการตั้งเป็นสถาบันเพื่อศึกษาอย่างเป็นทางการโดยสถานศึกษาแห่งนั้นๆ เองก็มีมาก เท่าที่ทราบในฝั่งตะวันตกของอเมริกามีสถานที่ศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มี Buddhist studies เช่น ยู.ซี.แอล.เอ.หรือแม้แต่ที่สแตนฟอร์ด แคลิฟอร์เนีย ขาดอยู่แต่การเป็นพาร์ทเนอร์ชิพทางการศึกษากับมหาวิทยาลัยทางด้านพระพุทธศาสนาของไทย ซึ่งหากผู้บริหารของมหาวิทยาลัยทางด้านพระพุทธศาสนาของไทยสามารถเข้าถึงและดำเนินการในเรื่องนี้ได้ก็จะช่วยให้เกิดกำลังมหาศาลในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาออกไปในโลกตะวันตกที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ผมเองไม่ทราบขอบเขตการทำงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่า มีศักยภาพมากน้อยเพียงใด ต่องานเผยแผ่พุทธศาสนาในต่างแดน อย่างน้อยก็น่าจะศึกษาทิศทางของความเปลี่ยนแปลงในแง่บริบทศาสนาของคนอเมริกัน  เพราะเวลานี้พระพุทธศาสนาได้รับความสนใจจากคนอเมริกันมากขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจมากขึ้นในอนาคต กล่าวคือ แทนที่ทางการของไทยจะมุ่งเน้นงานเผยแผ่พระศาสนาด้วยการสร้างศาสนวัตถุ ศาสนสถานเพียงอย่างเดียว แต่หันมาสร้างสถาบัน เน้นการพัฒนาบุคคลคือพระธรรมทูตอย่างถึงแก่นของวัฒนธรรมอเมริกันในด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปแบบที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของสังคมอเมริกันน่าจะดีกว่าหรือไม่? ไม่ใช่เอาแบบไทยๆ ไปวางไว้ในกำแพงหรือรั้งของวัดไทยแล้วก็จบกัน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเองที่มีหน้าที่โดยตรงควรจะ นำเรื่องราวทำนองนี้ไปศึกษา และกำหนดแนวทางการปฏิบัติให้สอดคล้องร่วมกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองงานพระธรรมทูต สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ มหาเถรสมาคม เป็นต้น ความสนใจของคนอเมริกันต่อพระพุทธศาสนากันนั้น วิเคราะห์กันว่า พวกเขาต้องการแก้ปัญหาชีวิตของพวกเขาเองเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ย่อมหมายถึงปัญหาทางด้านจิตใจที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงเรื่องอื่นๆ ได้ เช่น ปัญหาทางวัตถุในชีวิตประจำวันของพวกเขาเอง น่นอนว่า การประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และที่กำลังเป็นไปอยู่นี้ ต่างเป็นเหตุให้คนอเมริกันกันหาทางออกให้กับชีวิตมากขึ้นเช่นกัน   แต่ก็น่าเสียดายที่ประเทศไทยเองกลับ แทบกลไกบริหารจัดการด้านพระพุทธศาสนาในต่างแดนที่ตรงกับความต้องการของพวกเขาเอาเลย นั่นคือ การวางรากฐานการศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องและจริงจัง ถาบันการศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทยทั้งฝ่ายสงฆ์ และฝ่ายฆราวาส น่าจะถือเป็นโอกาสในการส่งเสริมและเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง  อย่างที่ทราบกันดีว่า ความสนใจทางด้านศาสนาของอเมริกันส่วนหนึ่งมาจากความเดือดร้อนทางจิตใจและการพยายามหาทางออกให้กับชีวิตของพวกเขา ความสนใจทำนองนี้มีผลต่อการจัดการหรือวางสถานภาพของตัวเอง(น่าจะส่วนใหญ่)ที่ถูกต้องในฐานะของการเป็นคนธรรมดา หรือฆราวาส มิใช่ในสถานะของนักบวชก็หาไม่ น่าสังเกตว่า นี่คือ ความเป็นไปหรือกระแสความต้องการของคนอเมริกันทางด้านศาสนาที่ตรงกับเทรนด์ของคนในยุคโลกาภิวัตน์ แม้แต่ในเมืองไทยเองก็มีกระแสที่ว่านี้เกิดขึ้นด้วยซ้ำ คือ คนทั่วไปที่เป็นฆราวาสหันมาสนใจพระพุทธศาสนากันมากขึ้น ขณะที่จำนวนนักบวช ปรากฏว่า จำนวนพระสงฆ์ลดลงเรื่อยๆ โดยที่ในเมืองไทยเองยังมีปัญหาเรื่องสถานภาพของนักบวชหญิง ทั้งภิกษุณีและแม่ชี ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงอยู่จนถึงเวลานี้อยู่อีกด้วย ทั้งนี้ หากนักบวชหญิงเหล่านี้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของข้อเรียกร้องให้รับรองสถานภาพทางด้านข้อกฎหมายแก่พวกเธอ เชื่อกันว่า จำนวนของนักงบวชหญิงในไทยจะเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งก็ต้องพิจารณากันว่าเป็นโอกาสในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยหรือไม่ แม้ว่าจะอย่างไรเสีย ไม่ว่าจะมีเงื่อนไขดีเลิศเพียงใด จำนวนนักบวชชายก็มีแนวโน้มลดลงอย่างน่าใจหาย การอาศัยกลไกด้านวัฒนธรรมนั้น เป็นสิ่งหนึ่งที่หลายชาตินิยมกระทำกันและกระทำอย่างได้ผลในโลกเสรีนิยม ดังชาติที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้มาก่อน ได้แก่ ญี่ปุ่นและต่อมาเกาหลีใต้ น่าสนใจว่า หากประเทศไทยเราจะใช้พระพุทธศาสนาเป็นช่องทางหนึ่งหรือข้อต่อหนึ่งไปยังชาวอเมริกันก็ยังไม่ถือว่า สายไป เพราะคำสอนหรือหลักธรรมซึ่งเป็นหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนาเป็นของสากล สามารถนำไปใช้อย่างได้ผลกับทุกคนทุกเชื้อชาติ โดยเฉพาะในสังคมอเมริกันที่มีวัฒนธรรมแห่งความซีเรียสหรือเอาจริงเอาจังกับการศึกษาและปฏิบัติธรรม เพื่อให้เกิดผลดีกับชีวิตและสังคมของพวกเขา น่าคิดว่า เราคนไทย สถานที่อันเป็นที่นำเข้าวัฒนธรรมทางด้านศาสนา เอาจริงเอาจังหรือซีเรียสในการขวนขวายศึกษาและปฏิบัติธรรมเท่าอเมริกันชนหรือไม่ เท่านั้น?