ทวี สุรฤทธิกุล

คนหนุ่มสาวไม่เคยกลัวทหารมาแต่ไหนแต่ไร แต่เมื่อต้องรบกันจริง ๆ ก็ไม่รู้จะเอาอาวุธที่ไหนไปสู้

นักการเมืองหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ใน พ.ศ. 2489 คือต้นแบบของคนที่ไม่กลัวทหาร และคิดว่าคงจะจัดการทหารให้ออกจากการเมืองได้ ภายหลังจากที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรสงคราม ถึงขั้นที่ต้องออกไปอยู่ในบ้านกลางทุ่งแถวลำลูกกา แต่เมื่อนักการเมืองมาทะเลาะกัน ทหารก็หวนคืนสู่อำนาจในการรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ทว่าทหารก็ลองใจให้นักการเมืองอยู่ในอำนาจไปพราง ๆ ก่อน เพียง 4 เดือนก็จี้ให้นายกรัฐมนตรีของพลเรือนนั้นลาออก

หลังจากนั้นทหารก็เชิญจอมพล ป.ให้คืนสู่บัลลังก์ ซึ่งทหารก็มีท่าทีเอื้อเฟื้อกับนักการเมืองอยู่มาก โดยยอมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญที่ทหารไม่ได้ไปกำหนดกฎเกณฑ์อะไรมากนัก ทำให้รัฐรรมนูญ พ.ศ. 2492 ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ “กษัตริย์นิยม” ว่ากันว่าเป็นด้วยช่วงเวลาที่ร่างอยู่ในช่วงของการไว้ทุกข์ภายหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 กระแสกษัตริย์นิยมจึงแข็งแรงมาก ซึ่งทหารก็ไม่คาดคิดว่าจะส่งผลต่อการเมืองในภายหลังการเลือกตั้ง โดยฤทธิ์เดชของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ทำให้สิทธิ์ขาดหลายอย่างต้องผ่านการรับรู้ของพระมหากษัตริย์ด้วย แน่นอนว่าทหารต้องรู้สึกอึดอัด และในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2494 ทหารก็ทำการรัฐประหาร รวบอำนาจกลับคืนสู่กองทัพอีกครั้ง แล้วทำทีว่าได้ยอมปล่อยอำนาจออกจากมือโดยเร็ว ด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งในปีต่อมา นัยว่าเพื่อประสานประโยชน์กับนักการเมืองคนหนุ่มสาว แต่นั่นก็เหมือนการเพาะเชื้อให้เกิดพลังต่อต้านทหาร แม้แต่ในกองทัพก็เกิดทหารขั้วใหม่ ที่หันไปผนึกกำลังกับคนรุ่นใหม่ นั่นก็คือพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ได้พลิดกโฉมกองทัพให้มีอำนาจอย่างเข้มแข็ง ภายใต้อุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

เล่าประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ก็เพื่อจะเชื่อมโยงเข้ากับปัจจุบันว่า ทหารมักจะประเมินพลังอำนาจของตนเองพลาดได้หลายครั้ง อย่างที่กูรูบางท่านมองว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะด้วยคำแนะนำของใครก็ไม่ทราบได้ ให้ท่านพยายามประสานประโยชน์กับนักการเมืองรุ่นเก่าที่ท่านได้ยึดอำนาจมาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงกับในเวลาที่มีการเลือกตั้งในปี 2562 ก็ให้คนเหล่านี้มาอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ เพื่อหนุนให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ในทำนองเดียวกันกับที่ได้ให้นักการเมืองในแนวทางเก่า ๆ เหล่านั้นตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ขึ้นมาสนับสนุนท่านให้อยู่ในอำนาจต่อไป ซึ่งก็เป็นการคาดการณ์ที่พลาดเป้าไปพอสมควร เพราะพรรครวมไทยสร้างชาติก็ไม่สามมารถเอาชนะเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากได้ รวมทั้งที่ต้องแตกแยกขัดแย้งกับพี่ใหญ่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ยังคงอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งถ้ามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ก็จะคล้าย ๆ กับที่จอมพล ป. เกิดขัดคอกับพลเอกสฤษดิ์ แล้วต่อมาพลเอกสฤษดิ์ก็ชนะ ได้เป็นใหญ่สืบต่อ แม้ว่าในเวลานี้หลายฝ่ายเชื่อว่าพลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตรไม่ได้แตกออกจากกันจริง ๆ แต่ด้วยรูปเกมที่ทั้งสองนายพลนี้แย่งกันเป็นใหญ่ ก็ยากที่จะทำให้นายทหารที่ยังประจำการอยู่ทั้งหลายประกาศตัวออกมาสนับสนุนใคร ซึ่งทหารก็คงจะต้องรักษาระบบด้วยการค้ำจุนรัฐบาลที่มาจากการลงคะแนนของรัฐสภานั้นก่อน แล้วถ้ารัฐบาลใหม่นั้นมีปัญหา ทหารจึงค่อยคิดที่จะจัดการเข้าแก้ไขต่อไป

ตรงนี้ผู้เขียนไม่ได้คิดเดาเอาเอง แต่มาจากที่ได้คุยกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งท่านให้ข้อคิดว่า เอาเข้าจริง ๆ แล้วทหารก็ไม่ได้รักเลือดเนื้อเชื้อทหารด้วยกัน แต่ทหารนั้น “รักระบบ” คือทหารมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าการที่จะไปหนุนนายทหารหรือเจ้านายของตน และยิ่งถ้าเป็นอดีตนายทหารด้วยแล้ว ก็จะยิ่งมีความสำคัญน้อยลง โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มักจะใช้คำคมของฝรั่งที่พูดล้อเลียนทหารว่า “Old soldiers never die, but faded away.” แปลเป็นไทยว่า “ทหารแก่ไม่มีวันตาย แกแค่จางหายไป” แล้วท่านก็ขอให้ผู้คนในยุคสมัยของนั้นท่านนั้นอย่าได้เกรงกลัวทหาร เพราะพอทหารเกษียณและหมดอำนาจไป อิทธิพลของทหารคนนนั้นก็จะค่อย ๆ หมดไปเอง

ผู้เขียนได้เกริ่นมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะเล่าถึงการเมืองของคนหนุ่มสาวใน พ.ศ. 2518 ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่ามีอิทธิพลต่อการเมืองไทยในยุคหลังของท่านเป็นอย่างมาก แต่ก็มีคนให้ข้อมูลว่าหลายท่านเกิดทันการเมืองในยุคนี้ รวมทั้งที่มีการเขียนเป็นประวัติศาสตร์ไว้มากมายพอสมควร น่าจะไปค้นคว้าหาอ่านได้สำหรับผู้สนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่ข้อมูลต่าง ๆ อยู่บนปลายนิ้วและบนมือถือ และอีกอย่างหนึ่งมาถึงวันนี้ขณะนี้ เกมการเมืองของคนหนุ่มสาวก็ดูท่าจะกำลังจะไปได้ดี เหมือนกับว่าได้มีการปรับจูนอะไรต่าง ๆ อยู่พอสมควร โดยเฉพาะบทเรียนต่าง ๆ จากอดีต

ผู้เขียนขอให้ข้อมูลอย่างรวบรัดเกี่ยวกับการเมืองของคนหนุ่มสาวในปี 2518 ว่าก็เป็นยุคสมัยที่คนหนุ่มสาวยุคนั้นไม่กลัวทหารเอามาก ๆ เหมือนกัน แล้วก็นำมาซึ่งการคืนสู่อำนาจของกองทัพในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเรื่องนี้ก็มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างละเอียด โดยเป็นบทเรียนให้กับคนหนุ่มสาวในวันนี้ได้ด้วยว่า ให้ระมัดระวังการแสดงออกที่จะไป “ด้อยค่า” หรือทำให้เกิดการดูหมิ่นเกลียดชังทหาร ดังที่คนหนุ่มสาวหลังจากที่เอาชนะทหารในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ได้แล้ว ได้กระทำย่ำยีกับทหาร แล้วทหารก็ “หนามยอกเอาหนามบ่ง” ด้วยการด้อยค่าและหาความนักศึกษาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ สร้างพลังให้สังคมเห็นคล้อยกับทหาร อันนำมาซึ่งการล้อมปราบนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ดังกล่าว

ระหว่างนี้การเมืองคงกำลังเข้มข้นอยู่ในเรื่องการลงคะแนนเลือกประธานรัฐสภา ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะเลือกกันได้ในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้หรือไม่ ดังนั้นจึงอาจจะต้องมีประเด็นที่พูดถึงการเมืองของคนหนุ่มสาวนี้อีกสักนิด ซึ่งจะไปอธิบายในสัปดาห์หน้า ว่าจะประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวด้วยเหตุอันใด

เห็นว่าตอนนี้อุปสรรคใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือ ส.ว. ผู้เขียนได้เคยฟังเพื่อนที่เป็นคริสต์ศาสนิกชนพูดถึงพระวัจนะไว้อย่างน่าฟังว่า “จงขอจะได้รับ เคาะประตู ประตูจะเปิดออก”

พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยได้เดินไปหา ส.ว.แล้ว “ขอ” อะไรบ้างหรือยัง

จงอย่าเย่อหยิ่ง แต่จงอ่อนน้อมวิงวอน!