เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

ระยะหลังๆ นี้ พรรคการเมืองใหม่ๆ ในยุโรป ละตินอเมริกา มักจะตั้งชื่อที่มีลักษณะเป็น “ขบวนการ” มากกว่าเป็น “สถาบัน” ตามแบบพรรคการเมืองเก่าแก่ที่มักมีชื่อตามแนวคิดทางการเมือง

ที่โดดเด่นก็พรรค “En Marche” ที่แปลว่า “เดินหน้า” ของประธานาธิบดีมาครง ของฝรั่งเศส ที่ได้รับเลือกตั้งมาสองสมัย   “Movimento 5 Stelle” หรือพรรค 5 ดาวของอิตาลีที่มีชื่อทางการว่า “ขบวนการห้าดาว”  พรรครุ่นพี่ที่มีชื่อเสียงของอดีตนายกรัฐมนตรีแบร์ลุสโกนี คือ “Forza Italia” (อิตาลีสู้ๆ) รวมถึงพรรค “Fratelli d’Italia” (พี่น้องอิตาลี) ของนายกฯ จอร์เจีย เมโลนี ในปัจจุบัน ซึ่งก่อตั้งมาเมื่อปี 2012 นี่เอง

ขณะที่พรรค “Podemos” ของสเปน ที่แปลว่า “เราทำได้” อายุไม่ถึง 10 ปี โตเร็วจนเป็นพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน และอีก 2 พรรคอย่าง Ciudadanos (พลเมือง) จากแคว้นคาตาลูเนีย และ Vox (ภาษาละตินแปลว่า เสียง) พรรคใหม่เหล่านี้มีทั้งซ้ายและขวา ได้รับความนิยมมาก

ในละตินอเมริกา มีพรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งชื่อว่า “Frente Amplio” (Broad Front) ที่น่าจะแปลว่า “แนวหน้ากว้าง” มีในอุรุกวัย ชิลี คอสตาริกา อาร์เจนตินา และโดมินิกัน ที่เม็กซิโก มีพรรค “MORENA” (National Regeneration Movement) หรือขบวนการเกิดใหม่แห่งชาติ  ทั้งหมดล้วนแต่เน้นการเป็น “ขบวนการประชาชน”

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างในบางประเทศ บ้านเราก็มีชื่อที่มีลักษณะเช่นนี้อยู่บ้าง แม้ชื่อสำคัญ แต่แนวคิดและวิธีปฏิบัติ “แบบขบวนการ” สำคัญกว่า

สาเหตุที่ชื่อของพรรคการเมืองใหม่มักจะเป็น “ขบวนการ” เป็นเพราะมีลักษณะที่เคลื่อนไหว มีพลัง มากกว่า “พรรค” แบบเดิมที่มีลักษณะเป็น “สถาบัน” (establishment) เปรียบได้กับลูกเต๋าสี่เหลี่ยม โยนลงก็กลิ้งไปไม่ไกล ต่างจาก “ขบวนการ” ที่กลมเหมือนลูกบอล กลิ้งไปได้ไกลกว่า เด้งได้ดีกว่า

“สถาบันการเมือง” มีลักษณะ “แข็งตัว” มีระบบโครงสร้างที่อยู่ได้ด้วยกฎระเบียบ ขณะที่ “ขบวนการการเมือง” ยืดหยุ่น มีพลัง มีชีวิต อยู่ได้ด้วยจิตวิญญาณที่เชื่อมประสานผู้คน

ขบวนการทางการเมืองเปิดประตูให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมกว้างขวางกว่าแค่ “สมาชิกพรรค” โดยเฉพาะชุมชนคนรากหญ้า ขบวนการภาคประชาชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง บุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคที่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคการเมืองนั้น

พรรคการเมืองใหม่พยายามแสดงให้เห็นว่า “ทวนกระแสหลัก” ในการเป็นสถาบันของพรรคการเมือง สนองแนวโน้มของคนทุกวันนี้ที่ต่อต้าน “ความเป็นสถาบัน” (anti-establishment) ที่พยายามรักษาสถานะของตน (status quo) ไม่อยากเห็นการ “เล่นการเมือง” แบบเก่านโยบายเดิม อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

ความเป็นขบวนการของพรรคการเมืองทำให้ตอบสนองปัญหาและความต้องการของสังคมได้รวดเร็ว ปรับตัวและยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่างๆ มีแนวคิดใหม่ มีนวัตกรรม  มีระบบโครงสร้างพรรคที่ไม่รวมศูนย์อำนาจ แต่กระจายไปยังภาคส่วนต่างๆ ทำให้ผู้สนับสนุนเป็น “สมาชิกของขบวนการ” และตั้งชื่อขบวนการที่สามารถทำ “การตลาด” ประชาสัมพันธ์ได้ดี คนจดจำได้ ทำให้เข้าใจเป้าหมายของพรรคการเมืองนั้น

ความสำเร็จของพรรคการเมืองนอกจากความเป็นขบวนการ มีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญกว่าอีก คือ นโยบายแนวทางและวิธีการในการทำให้เกิด “ขบวนการ” จริงๆ

ที่เห็นเป็นตัวอย่างที่อยากยกมาที่นี่ คือ การสร้างพรรคให้เป็นขบวนการของฝรั่งเศส สเปนและอิตาลี ที่มีคำว่า “เครือข่าย” “ขยายฐาน” และ “เอไอ” เป็นสำคัญ 

อย่าง “En Marche” (เดินหน้า) ของฝรั่งเศสที่สร้างเครือข่ายคนทุกกลุ่มทางสังคม สร้างแกนนำ ผู้นำโดยเฉพาะ “ปัญญาชนคนใน” (organic intellectuals) ของคนกลุ่มนั้น อาชีพ สถานภาพ แคว้น จังหวัด ชุมชน เยาวชน คนสูงวัย สตรี LGBTQ และองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะเอ็นจีโอ องค์กรชุมชน โยงให้เกิดเครือข่ายในคนที่มีลักษณะหรือสถานภาพเดียวกัน แล้วเชื่อมต่อกับกลุ่มอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน ภาคเดียวกัน

การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงด้วย “แนวคิด” “อุดมการณ์” ทางการเมือง ที่แยกย่อยเป็นนโยบายต่างๆ การให้ข้อมูล ความรู้ การศึกษาแก่เครือข่ายต่างๆ ให้มีมากพอจนก้าวข้าม “ผลประโยชน์” แบบที่เรียกร้องกันในบ้านเรา  ถ้า “เข้าใจกัน” จริง ไม่จำเป็นต้องซื้อเสียงก็ชนะใจผู้คนได้

เมื่อมีเครือข่ายหลักที่เป็นแกน ก็ขยายเครือข่าย ขยายฐานออกไป โดย “สายตรง” และใช้ “เทคโนโลยี” โดยเฉพาะ “เอไอ” ที่แพร่กระจายข้อมูลสู่ประชาชนโดยโซเชียลมีเดียทุกรูปแบบ

ที่สำคัญ เครือข่ายไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อ “รับ” ข้อมูลข่าวสาร แต่ “ให้” ข้อมูลข่าวสาร ทำให้ได้รับรู้ปัญหา ความต้องการ ศักยภาพ ทุนของกลุ่ม ของท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งบรรดาแกนนำเครือข่ายต้องประมวลข้อมูล ทำการวิจัย วิเคราะห์ด้วย “เอไอ” เพื่อนำผลมารวมกันเสนอเป็นนโยบาย

ยกตัวอย่าง “En Marche” (เดินหน้า) ของฝรั่งเศส รัฐบาลชุดแรกของนายมาครงนั้น ไม่ใช่นักการเมืองเก่าหน้าเดิม แต่เต็มไปด้วยคนหน้าใหม่จากวงการต่างๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จัก แต่พวกเขาเป็น “ตัวแทน” ของเครือข่ายต่างๆ นั่นเอง ส่วนใหญ่ก็เป็นคน “หนุ่มสาวรุ่นใหม่”

จะไม่แปลกใจถ้า “พรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล” ได้สรุปบทเรียนจาก “En Marche” ถอดแบบหลายอย่างจากประสบการณ์ของฝรั่งเศส เพราะวิธีการต่างๆ ดูไม่แตกต่างกัน พวกเขาเป็นขบวนการการเมืองมากกว่าพรรคการเมืองแบบเดิมๆ (แต่ไม่รู้วาจะประสบชะตากรรมเดียวกันกับที่รัฐบาลนายมาครงกำลังเจอหรือเปล่า)

จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ออกมาเช่นนั้น ทำให้เห็นการเอาชนะแนวทางการทำการเมืองแบบเดิมๆ รวมทั้งการซื้อเสียง  ที่ชาวบ้านบอกว่า “ให้ก็เอาแต่ไม่เลือก”

ความพ่ายแพ้ของบรรดา “บ้านใหญ่” “นายทุน” “ครอบครัว” และพรรคที่ใช้ “กระบวนทัศน์การเมืองเก่า” เป็นเพราะคนวันนี้เกิดจิตสำนึกใหม่ และก้าวไปไกลจนข้ามการเมืองไทยแบบโบราณไปแล้ว