หลังการเลือกตั้ง เพียงข้ามวัน พรรคก้าวไกล ประกาศจับมือกับอีก 7 พรรค ประกาศตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก  จากนั้นตามมาด้วยการลงนามทำเอ็มโอยู ร่วมกันซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการจัดตั้งรัฐบาลที่มีการทำ ข้อตกลงร่วม เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยปรากฏ


 แต่ดูเหมือนว่านับตั้งแต่วันที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ประกาศตัว เตรียมเดินหน้าเข้าทำเนียบฯ เมื่อกลางเดือนพ.ค.66 จนถึงวันนี้ ผ่านพ้นไปแล้วกว่า 49 วัน ราว 1 เดือนครึ่ง กลับยิ่งปรากฏเค้าลางปัญหาความขัดแย้ง ชิงไหว ชิงพริบ ระหว่าง พรรคเพื่อไทย กับ พรรคก้าวไกล มาเป็นระยะ ๆ


 ด้วยตัวเลขส.ส.ที่ห่างกันเพียง 10 ที่นั่ง โดย พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคอันดับหนึ่ง มีส.ส.151 เสียง ส่วนเพื่อไทย มี 141 เสียง จึงทำให้ เสียงส่วนต่าง 10 เสียง จึงถูกหยิบยกมาใช้เป็นเงื่อนไขในการเจรจาต่อรอง เก้าอี้สำคัญๆ มาอย่างต่อเนื่อง


 ประเด็นที่ว่า พรรคใดควรจะได้เก้าอี้ ประธานสภา  กลายเป็น ประเด็นยืดเยื้อ ก่อนที่จะพัฒนามาสู่ ความขัดแย้ง ระหว่างสองพรรคในห้วงตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่จะได้ข้อยุติเมื่อคืนวันที่ 3 ก.ค.66 ผ่านการแถลงข่าวเมื่อเวลา 20.00 น. หมายความว่า 2พรรคใหญ่ได้ คำตอบ ก่อนถึงวันประชุมสภาฯ เพื่อเลือกประธานสภาฯ กันเพียงไม่กี่ชั่วโมง  แน่นอนว่า กองเชียร์ พรรคก้าวไกล ที่คาดหวังจะได้เห็น ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลกได้นั่งประธานสภาฯ ของพรรคก้าวไกลต่างผิดหวังไปตามๆกัน 
 เมื่อการแถลงข่าวร่วม 2พรรคใหญ่ ทั้งก้าวไกล นำโดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ข้อยุติว่าจะเสนอชื่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภา ฯ ส่วนรองประธานสภาฯคนที่ 1 จะเป็นของ พรรคก้าวไกล และรองประธานคนที่ 2 จะเป็นของพรรคเพื่อไทย 
 สถานการณ์เช่นนี้ แม้วันนอร์  ในฐานะผู้อาวุโสหลักของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล เคยบอกเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า เขาไม่ต้องการนั่งตำแหน่งประธานสภาฯมาตั้งแต่แรก เนื่องด้วยปัญหาทางด้านสุขภาพ บวกกับด้วยอายุที่มาก แต่เมื่อทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลต่างไม่มีใครยอมถอย หากดึงดันกันต่อไปเช่นนี้ ย่อมกระทบต่อการตั้ง รัฐบาลเสียงข้างมาก ที่ยืดเยื้อออกไป 


 จนอาจกลายเป็นการเปิดช่องให้ เสียงข้างน้อย ขั้วรัฐบาลเดิม เคลื่อนไหวขยับรุกเข้าใกล้ จนทำให้กระแสข่าวเรื่อง ดีลลีบ เปิดดีลจับมือข้ามขั้ว กลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมา 
 แต่อย่างไรก็ดี แม้การได้ข้อยุติเช่นนี้ อาจทำให้ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ฝ่าด่านแรกไปได้ก็ตาม อย่าลืมว่า หากมองให้ดีจะพบว่า แท้จริงแล้ว พรรคก้าวไกล แพ้ตั้งแต่ ยกแรก นั่นคือการชวดเก้าอี้ ประธานสภาฯ ไปแล้ว เพราะแม้พรรคเพื่อไทย จะไม่ได้ตำแหน่งประมุขสภาฯ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกล ย่อมมากกว่า ดังนั้น ความคุกรุ่น ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้นในพรรคก้าวไกล เมื่อถูกหักเช่นนี้ แต่เมื่อลงเรือลำเดียวกันแล้ว  ทางออกที่ดีที่สุด นั่นคือการประคับประคองเรือ ลำนี้ไปให้ถึงทำเนียบรัฐบาล ให้ได้มากที่สุด !