รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ยิ่งโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากเท่าใด ความรู้ชุดเดิม ๆ ก็จะหมดอายุเร็วยิ่งขึ้น ความสามารถในการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ให้เร็วจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ผู้นำทุกวันนี้จึงต้องไม่ยึดติดกับหลักการหรือชุดความรู้ใดความรู้หนึ่งแบบตายตัวอีกต่อไป แต่ต้องมี “Growth Mindset” กล้าเผชิญหน้ากับความท้าทาย ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง และเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ผู้นำสามารถแสวงหาทางออกหรือโซลูชั่นใหม่มาแก้ไขปัญหา รวมถึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้ทีมงานได้เรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วย (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.pftg10x.
com/post/adaptive-leadership)

ตัวอย่างสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญต่อการเรียนรู้ในอนาคตที่ผู้นำควรรู้ เช่น ระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้จาก การประกอบอาชีพหรือการฝึกอบรม การให้คุณค่าต่อปริญญาบัตร วุฒิการศึกษา และชื่อเสียงของสถาบันลดลง การให้คุณค่าและบทบาทของผู้เชี่ยวชาญลดลง เทคโนโลยีการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพจะเข้ามาพลิกโฉมวงการศึกษา ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ด้วยตนเองให้กับผู้เรียน การใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้สอน การเรียนรู้ทำได้ทุกที่ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน สถานที่จริง และบนโลกออนไลน์ รูปแบบการเรียนรู้เน้นเนื้อหาที่สนุก การประยุกต์ใช้ AR และ VR เข้ากับการเรียนรู้ การเรียนรู้แบบทันเวลาระดับบุคคลหรือระดับองค์กร การเรียนรู้สิ่งที่เคยเรียนรู้มาด้วยมุมมองใหม่ การละทิ้งสิ่งที่เคยเรียนรู้มาแล้ว และการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมที่ https://ifi.nia.or.th/wp-content/uploads/2022/01/NIA-x-FTL-2021-Future-o...)

เมื่อ “ผู้นำ” คือบุคคลที่จะต้องนำพาองค์กรหรือหน่วยงานให้เจริญก้าวหน้า บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ มีการใช้ภาวะผู้นำที่มีอยู่ในตนโน้มน้าวและจูงใจให้บุคคลอื่นในองค์กรหรือหน่วยงานทำงานตามวัตถุประสงค์ รวมถึงกำหนดพฤติกรรมการทำงานของบุคคลภายในองค์กรหรือหน่วยงานให้ประสบผลสำเร็จตามที่กำหนด ผู้นำจึงต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงหรือบริบทที่เปลี่ยนไป

ผู้นำที่ตระหนักว่าตนเองมีอิทธิพลและความสำคัญต่อการสนับสนุนการปฏิบัติงานและอำนวยการเพื่อให้การบริหารจัดการองค์กรหรือหน่วยงานบรรลุเป้าหมายที่ดีแล้ว สิ่งที่ผู้นำจะหยุดนิ่งหรือขาดไม่ได้ก็คือ “การเรียนรู้” ซึ่งคําว่า “การเรียนรู้” คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการรับรู้จากประสบการณ์ที่ได้รับ เนื่องจากการเรียนรู้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อการสร้าง “องค์กรแห่ง
การเรียนรู้” และการสร้าง “ภาวะผู้นำแห่งการเรียนรู้” ผู้นำที่มีภาวะผู้นำแห่งการเรียนรู้ต้องมีคุณสมบัติสำคัญที่เข้าข่ายการเป็นบุคคลที่มีภาวะผู้นำแห่งการเรียนรู้ ได้แก่ ความเชื่อมั่นในตัวเอง การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน การทำงานเป็นทีม การมุ่งผลสัมฤทธิ์ และการสร้างแรงจูงใจ

หากผู้นำคนใดก็ตามมีนิสัยแห่งการเรียนรู้ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติ ค่านิยม อารมณ์ และความรู้สึก การเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ ความเข้าใจ ความคิด และการเปลี่ยนแปลงด้านความชำนาญ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้มี ความเชื่อมโยงระหว่างภาวะผู้นำกับการเรียนรู้เข้าที่จะนำไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จร่วมกัน (อ่านเพิ่มเติมที่ http://ojs.mbu.ac.th/
index.php/jbpe/article/view/1452)

นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา ผู้นำทุกองค์กรทุกแห่งต้องเผชิญกับปัญหาแบบใหม่ที่มีความซับซ้อนกว่า
เดิมมากและความผันผวนไม่แน่นอนสูง ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกระบวนการออกนโยบายหรือการใช้อำนาจบริหารแบบดั้งเดิม เพราะการระบุตัวแปรของปัญหากระทำได้ยากและไม่มีความชัดเจน ทำให้ผู้นำไม่อาจแก้ไขปัญหาแบบมองเพียงจุดเดียวเท่านั้น  

กระบวนการแก้ไขปัญหาที่มีความผันแปร ต้องอาศัยการทำความเข้าใจและเรียนรู้ปัญหาไปพร้อม ๆ กัน โดยต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมออกแบบวิธีการแก้ปัญหา ผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม บนพื้นฐานความหลากหลายอย่างสร้างสรรค์ จนนำไปสู่ทิศทางและแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันที่สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต

"ผู้นำ" ในวันนี้จึงต้องเป็นบุคคลที่สามารถปรับเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ความเชื่อ และพฤติกรรมของตัวเอง ทั้งนี้คุณลักษณะของผู้นำที่จำเป็นเพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาแบบใหม่ ๆ ของโลกหลังโควิด-19 ประกอบด้วยการคิดนอกกรอบ ชอบท้าทายความคิดตนเองตลอดเวลา มีความยืดหยุ่นและยอมรับการเปลี่ยนแปลง การโอบรับความไม่แน่นอน ไม่กลัวที่จะเรียนรู้ และลองหาวิธีการใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเดิม การทำงานเชิงรุก การรู้จักควบคุมตนเองและไม่ใช้อารมณ์ การเปิดรับการเรียนรู้ กล้าทดลองและกล้าเสี่ยง และการเปิดรับมุมมองและความคิดที่หลากหลายอย่างจริงใจ

เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไวเกินกว่าที่จะคาดถึงส่งผลให้สถานการณ์การเรียนรู้มีความเป็นพลวัตสูงมาก ผู้นำไม่สามารถหยุดเรียนรู้ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคดิจิทัลครองโลกเพราะผลเสียหายจากการหยุดเรียนรู้ของผู้นำจะนำไปสู่ความหายนะได้ สำหรับแนวโน้มวิธีการเรียนรู้ในอนาคตของผู้นำที่เวลามีจำกัด เช่น การเรียนรู้จากวีดิทัศน์ การเรียนรู้แบบสด “Live Streaming” การฟังพอดแคสต์ (Podcast) การเรียนรู้ผ่านคอร์สออนไลน์ การเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีเสมือน AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) และการเรียนรู้โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI - Artificial Intelligence) เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมที่ https://careers.scb.co.th/th/life-at-scb/detail/Career-Tips-6-trends-fut...)