เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

เมืองไทยคงไม่มีวันพอเพื่อย้ำความสำคัญของการศึกษา ถ้าเชื่อว่า “ชะตากรรมของประเทศ ขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน” ดังที่ดิสราเอลี อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรบอกไว้ร้อยกว่าปีที่แล้ว

ถ้ารัฐบาลใหม่ของไทยคิดอยากเปลี่ยนประเทศนี้ต้องเชื่อว่า “อาวุธที่มีพลังมากที่สุดในการเปลี่ยนโลก คือ การศึกษา” ตามวาทะของ เนลสัน แมนเดลา อดีตผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ที่โลกยกย่องของแอฟริกาใต้ ซึ่งได้ต่อสู้ทุกรูปแบบ จนติดคุกถึง 27 ปี แต่ก็เรียนหลักสูตรกฎหมายของมหาวิทยาลัยลอนดอนทางไกลในคุก

เมื่อ 20 กว่าปีก่อน รัฐบาล “โทนี แบลร์” ได้อนุมัติงบประมาณจำนวนหลายแสนล้านบาทให้โครงการปฏิรูปการศึกษาที่เสนอโดยนายเดวิด บลังเค็ต รัฐมนตรีศึกษาตาบอด ผู้มีวิสัยทัศน์แหลมคม เขาบอกว่า อังกฤษเศรษฐกิจล้าหลังและด้อยกว่าประเทศพัฒนาแถวหน้าอื่นๆ เพราะแม้มีมหาวิทยาลัยดีๆ มากมาย แต่การศึกษาของประชาชนรั้งท้ายประเทศอื่น  เขาเสนอให้ “ปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน” รัฐบาลรับแผนไปลงมือทำจริง

เพราะนายโทนี แบลร์ ประกาศตอนหาเสียงเลือกตั้งว่า เขาต้องการให้เกิดเปลี่ยนแปลง เขาบอกสื่อว่า “ถามผมสิว่า 3 อย่างที่สำคัญที่สุดในรัฐบาลผมคืออะไร ผมจะบอกคุณว่า การศึกษา การศึกษา และการศึกษา”

และคงต้องฟังอีกบุคคลหนึ่ง ที่บอกว่า “การศึกษาแพง แต่ความไม่รู้แพงกว่า” เบนจมิน แฟรงคลิน เป็นนักคิด นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง หนึ่งในผู้ก่อตั้งและวางรากฐานให้สหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ร่างคำประกาศเอกราชของประเทศนี้

เขาคือผู้ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาให้ประชาชนทั่วไปอย่างเป็นรูปธรรม ก่อตั้งห้องสมุดที่ฟีลาเดลเฟีย เปิดให้ประชาชนทั่วไปสมัครเป็นสมาชิกและเข้าไปใช้ได้ ยืมหนังสือได้ ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียที่เปิดหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาสมัยใหม่ ที่แตกต่างจากหลักสูตร “คลาสสิก” แบบเดิมๆ

เขาก่อตั้ง “ชมรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้” นำไปสู่การเผยแพร่ความรู้ไปในหมู่ประชากร ที่เขาเป็นกำลังสำคัญในการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ เพราะเขาเชื่อว่า การศึกษาคือหัวใจของสังคมประชาธิปไตย เขาเสนอให้เรียนฟรีในโรงเรียนของรัฐ เพื่อให้ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน เข้าถึงการศึกษา ทำให้มีการขยายการศึกษาของรัฐไปทั่วสหรัฐอเมริกา

ตัวอย่างที่ยกมาเป็นผู้นำประเทศในอดีต วันนี้โลกเปลี่ยนไป การศึกษาก็มีการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม เพราะการศึกษา คือ ตัวขับเคลื่อนความเป็นไปและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด ดังที่เห็นเป็นตัวอย่างของระบบการศึกษาในประเทศพัฒนาทั้งหลาย เดนมาร์ก เยอรมนี ฟินแลนด์ และเกาหลีใต้เป็นตัวอย่าง ที่ไทยเราควรเรียนรู้จากบทเรียนของพวกเขา

เดนมาร์กมีประวัติศาสตร์การศึกษา “นอกระบบ” “เพื่อชีวิต” ที่ยาวนาน เรียนเพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริงมากกว่าเรียนเพื่อได้ประกาศนิยบัตรหรือใบปริญญา นั่นคือรากฐานที่ทำให้ประชาชนของประเทศนี้ เป็นประชาธิปไตย (การเมือง) และพึ่งพาตนเอง (เศรษฐกิจ) ได้อย่างน่าชื่นชม มีระบบสหกรณ์ในทุกชุมชน ทุกรูปแบบ ทุกระดับ ที่เป็นกลไกในการจัดการตนเอง ไม่มีช่องว่างให้ “ทุนใหญ่” ไปผูกขาด

เยอรมนีมีบทเรียนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มหาอำนาจผู้ชนะสงครามอย่างอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ใช้ “การศึกษา” เพื่อ “ถอนพิษนาซี” (denazification) ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ครอบงำด้วยอำนาจนำ (hegemony) ที่ให้การศึกษาแก่สมาชิกนาซีที่มีอยู่ค่อนประเทศในทุกวงการ การถอนพิษได้ผลทำให้เยอรมันผงาดเป็น “เศรษฐกิจมหัศจรรย์” ในเวลาไม่นาน ผ่านความขัดแย้ง มุ่งหน้าพัฒนาประเทศด้วยกันทุกฝ่าย

พรรคก้าวไกลมีแผน “ปฏิรูปการศึกษา” อยู่แล้ว อยากเสนอให้ตั้ง “สภาประชาชนเพื่อเปลี่ยนการศึกษา” โดยมีผู้แทนจากทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน รัฐ เอกชน ชุมชน ล้อไปกับสภาผู้แทนราษฎร และและมี “สภาย่อย” ที่ทำงานในแต่ละสายงาน คล้ายกับ “คณะกรรมาธิการ”

ยกตัวอย่าง “สภาอุดมศึกษา” ให้ทำหน้าที่คล้ายกับแพทยสภา สภาพยาบาล สภาหนังสือพิมพ์ ที่ “ดูแลกันเอง” ไม่ใช่แบบปัจจุบันที่ถูก “ควบคุม” จากกระทรวง “อ.ว.” หรือเมื่อก่อนจาก “คณะกรรมการอุดมศึกษา”  สภาอุดมศึกษาอาจจะตั้งกลไกการทำงานที่เป็น “สภา” เล็กลงไปตามสายงานที่ต้องการความชำนาญ เช่น สภาสังคมศาสตร์ สภามนุษยศาสตร์ เป็นต้น

หนึ่งปีแรกควรมีเป้าหมายในการทำ “แผนยุทธศาสตร์การศึกษาใหม่” ให้เสร็จ โดยระดมสรรพกำลังในสภาประชาชนให้ร่วมกันทำแผน และรัฐบาลรับไปดำเนินการ ไม่ใช่เหมือนที่ผ่านๆ มาที่มี “คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา” ทุกรัฐบาล ทำแผนเสร็จแล้วก็เหมือน “แจกันดอกไม้” ที่นำไปวางประดับโต๊ะรัฐมนตรี รัฐบาล

สภาประชาชนเพื่อการศึกษาใหม่ต้องมี “เป้าประสงค์” (purpose) ชัดเจนว่า ไม่ต้องการ “ปลูกต้นไม้ในกระถาง” แต่ต้องการ “ทุบกระถาง” รื้อระบบการศึกษาเก่า เพื่อเอาไม้ลงดินให้เติบโตเป็นตัวของตัวเอง การศึกษาของชาติจะได้ไม่เป็นบอนไซ แต่สร้างคนให้เป็นกำลังสำคัญของสังคม

เสนอว่า ควรให้ “คนรุ่นใหม่” ไฟแรง มี EQ  IQ  MQ สูงเป็นประธาน รองฯ และสมาชิกสภาประชาชนเพื่อเปลี่ยนการศึกษา และให้บรรดา “ผู้อาวุโส” เป็นที่ปรึกษา เหมือน “ส.ว.” ในวุฒิสภา ที่ให้คำปรึกษา แต่ไม่มีอำนาจและไม่มีบทบาทหน้าที่นำเหมือนสมัยเป็น “คณะปฏิรูปการศึกษา”

การศึกษาของฟินแลนด์ ของเกาหลี ไปไกลมากแล้ว เขามีกระบวนทัศน์การศึกษาแบบองค์รวม สามารถจูนการศึกษากับการงาน กับชีวิต กับการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ กระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปให้ชุมชน ให้ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น และให้ผู้เรียนตัดสินใจเลือกเรียนตามศักยภาพของแต่ละคน 

ถ้าระบบการศึกษาบ้านเรายังแข็งตัว ก็จะเป็น “สถาบัน” (establishment) ที่รอวันตาย  ผู้เรียนไม่มีอนาคต สังคมไม่มีฐานความรู้ อยู่ได้ด้วยเงิน อำนาจ และระบบอุปถัมภ์ ประชาธิปไตยไม่มีจริง หรือมีก็อ่อนแอ และถูกกินรวบในท้ายที่สุด