ทวี สุรฤทธิกุล

ก้าวไกลคิดอะไรกับประเทศไทย ก็ยังไม่น่ากลัวเท่า ส.ว.คิดอะไรกับประชาธิปไตยไทย

ใครที่ได้ฟังการอภิปรายของบรรดา ส.ว.ในวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา คงเห็น “คาถา” ที่ ส.ว.เหล่านั้นถล่มใส่พรรคก้าวไกล เพื่อหวังให้ไม่มีการรับรองนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็คือเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่พูดไปถึงขั้นว่าเป็นการล้มล้างสถาบันที่สำคัญของชาติ แถมด้วยเรื่องของการปฏิรูปทหาร ปฏิรูประบบราชการ และการเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ ว่าล้วนคืออนาคตของประเทศไทย ถ้าหากปล่อยให้พรรคก้าวไกลและนายพิธาได้บริหารประเทศ

พรรคก้าวไกลพยายามชี้แจงด้วยท่าทีที่นุ่มนวล(เกินคาด) ในความพยายามที่จะประนีประนอมและหวังให้ ส.ว.เห็นใจ และหวังว่าการวิงวอนขอเสียงสนับสนุนที่ดำเนินการมาบ้างจะเกิดผลด้วยดี ที่สุด ส.ว.ก็ไม่ได้เปลี่ยนใจอะไร เพราะความต้องการที่จะไม่เอาพิธาและล้มล้างพรรคก้าวไกลนั้นคือจุดมุ่ง ดังนั้นด้วยเสียงไม่เห็นชอบเพียง 182 เสียง ก็เอาชนะเสียงที่เห็นชอบที่มีถึง 324 เสียง ในขณะที่มีเสียงที่ “ไม่รับผิดชอบ” คืองดออกเสียงถึง 199 เสียง

ที่ต้องใช้คำว่า “ไม่รับผิดชอบ” ก็ด้วยแนววิเคราะห์ 2 แนว

แนวแรกวิเคราะห์แบบชาวบ้าน คนที่ดูการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภาก็จะเข้าใจว่า คนที่พูดนั้นเกลียดชังพรรคก้าวไกลและนายพิธามาก ๆ โดยมี ส.ว.คนหนึ่ง สมมุติชื่อว่า ค. ได้อภิปรายอย่างหนักแน่นว่า หน้าที่หนึ่งของสมาชิกวุฒิสภาก็คือ “ปกป้องพระมหากษัตริย์” แต่พอถึงเวลาโหวตก็งดออกเสียง แทนที่จะยืดอกให้เด็ดขาดว่า “ไม่เห็นชอบ” นี่หรือการปกป้องพระมหากษัตริย์ด้วยหัวใจจริง ชาวบ้านบอกว่า ส.ว.แบบนี้คงมีอีกมาก ที่คิดวาทกรรมหรู ๆ ให้ตนเองดูดี แต่เวลาตัดสินใจก็ทำแบบ “ขลาด ๆ” ยิ่งไม่น่าไว้วางใจ มากกว่าคนที่คิดจะปกป้องพระมหากษัตริย์ ด้วยการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนนั้นให้ดีขึ้น

อีกแนวหนึ่งวิเคราะห์ในทางวิชาการ ส.ว.ชุดนี้มีที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ ส.ว.ช่วยค้ำจุนอำนาจของรัฐบาลของ คสช. อย่างน้อยก็ในระยะเวลาช่วงรอยต่อ 5 ปีนี้ ด้วยการให้อำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมด้วย ในขณะที่ประชาชนเข้าใจผิดว่าการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 คือการคืนอำนาจให้ประชาชน พวกเขาจึงเลือกฝ่ายตรงข้ามกับ คสช. ซึ่งก็คือประชาชนที่ไม่เอากลุ่มอำนาจเดิมได้โหวตให้กับพรรคการเมืองในฝ่ายที่ไม่เอา คสช. หรือพวกเผด็จการนั้นเข้ามาเป็นเสียงข้างมาก รวมกันได้ถึง 312 เสียง และมีประชาชนสนับสนุนถึงกว่า 25 ล้านคน

การลงคะแนนไม่เอาพิธาเชื่อกันว่าเป็น “ใบสั่ง” ของกลุ่มอำนาจเดิม หรืออย่างน้อยก็เป็นการตอบแทนบุญคุณของ ส.ว.ที่มีให้กับผู้มีพระคุณเหล่านั้น หรือไม่ ส.ว.จำนวนมากที่เป็นข้าราชการเก่าและอดีตแม่ทัพนายกอง ก็แสดงออกเพื่อแสดงพลังว่าบ้านเมืองนี้ “พวกตรู” ยังยิ่งใหญ่คับบ้านคับเมืองอยู่นะ ใครอย่าได้คิดมาเปลี่ยนแปลงหรือฏิรูป รวมถึง ส.ว.อีกจำนวนไม่น้อยที่คิดว่า การมีเผด็จการที่สร้างบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย ก็ยังดีกว่าการปกครองที่มีนักการเมืองขี้โกงและเสรีภาพวุ่นวาย แต่ ส.ว.ทั้งหลายนั้นก็ “ไม่กล้า” ที่จะพูดถึงเหตุผลในใจจริง ๆ ดังที่มีอยู่หลายความคิดนั้นออกมา แล้วก็โหวตงดออกเสียง เพื่อที่จะไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

“ปรากฏการณ์ 13 กรกฎา 66” สามารถอธิบายอนาคตของการเมืองไทยได้หลายอย่าง

อย่างแรก การต่อสู้ในสภาจะเป็นสงครามระหว่างฝ่ายที่อยากเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองกับฝ่ายที่ต้องการรักษาระบบเดิม ในกรณีนี้ก็คือพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยหันไปร่วมด้วยกับพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย ฯลฯ ซึ่งก็มีการมองว่าพรรคเพื่อไทยกำลังจะกลายเป็น “พวกขวาใหม่” ที่แสดงออกว่าร่วมเทิดทูนสถาบัน ไปพร้อม ๆ กับการใช้ประชานิยมแบบเดิม ๆ ทั้งนี้พรรคก้าวไกลอาจจะได้แสดงหน้าที่การเป็นฝ่ายค้านที่โดดเด่น ด้วยการพุ่งเป้าไปถึงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นและการปฏิรูปต่าง ๆ ในองค์กรรัฐบาล โดยเฉพาะกองทัพและตำรวจ ที่จะสร้างผลงานและชื่อเสียงให้กับพรรคก้าวไกลเป็นอย่างมาก เพื่อผลในการกอบโกยคะแนนถ้าหากจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป

อย่างต่อมา ถ้ากลุ่ม 8 พรรคที่ร่วมทำเอ็มโอยู่เป็นรัฐบาลร่วมกัน ยังคงจับมือกันอย่างเหนียวแน่น จนถึงแม้ว่าคนของพรรคเพื่อไทย เช่น นายเศรษฐา ทวีสิน จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยวาดหวังว่าในการโหวตรอบต่อไปจะมี ส.ว.หรือ ส.ส.มาเพิ่มเสียงสนับสนุนให้ ก็แสดงให้เห็นว่าพลังของฝ่ายอนุรักษณ์นั้นน่าจะกำลังย่ำแย่ และน่าจะเป็นโอกาสที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะรีบเร่งสร้างความนิยม โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนประเทศ ที่ทราบกันมาว่าจะเริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การปฏิรูปในโครงสร้างส่วนอื่น ๆ

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าพรรคเพื่อไทยทิ้งพรรคก้าวไกลไปจับมือกับฝ่ายอำนาจเดิม นี่ย่อมแสดงว่าพรรคเพื่อไทยยอมที่จะเสี่ยงกับอนาคตของพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อแลกกับประโยชน์ระยะสั้น เป็นต้นว่า ให้นายทักษิณได้กลับบ้าน หรือการได้แบ่งปันตำแหน่งรัฐมนตรีในพรรค โดยพรรคเพื่อไทยยอมกระทั่งว่าให้คนในฝ่ายกลุ่มรัฐบาลเก่านั้นได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ย่อมแสดงถึงการหวนกลับคืนสู่วงจรอุบาทว์ และพร้อมที่จะ “กระทืบซ้ำ” ต่อระบอบประชาธิปไตย และนั่นคือหายนะของประเทศ ที่จะยังต้องอยู่ใน “อุ้งเท้า” ของเผด็จการนั้นต่อไป

ถ้านักการเมืองทั้งหลายยังจำได้ การทำรัฐประหารในทุกครั้ง ข้อกล่าวหาอันสำคัญและนำมาสู่การทำรัฐประหารนั้นก็คือ “ความเลวของนักการเมือง” และแม้ว่านักการเมืองจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ก็หาได้เป็นที่รักของผู้ที่ทำรัฐประหารนั้นไม่ ยังถูกฝ่ายเผด็จการนั้นตามกระทำย่ำยี และกล่าวหาว่าจะมาทำลายบ้านเมืองนั้นอยู่เสมอ ดังที่ปรากฏเมื่อวันที่ “13กรกฎา 66” นั้น แล้วยังมีคนที่คิดจะกลับไปคบและเชื่อใจคนพวกนั้นอยู่อีกหรือ

ส.ว.เองจะโดยรู้หรือไม่รู้ จะโดยเจตนาหรือไม่จงใจ แต่ในการโหวตไม่รับผิดชอบอะไรด้วยการงดออกเสียงนั้น ย่อมเป็นการ “ทำร้ายและทำลาย” ระบอบประชาธิปไตยได้เช่นกัน แต่ที่น่าเสียใจไปยิ่งกว่านั้นก็คือความเห็นของนักวิชาการบางคนที่ยังให้ท้ายเผด็จการ โดยบอกว่าเสรีภาพที่วุ่นวายและคอร์รัปชั่นที่เป็นมา 22 ปีโดยนักเลือกตั้ง เปรียบไม่ได้กับ 9 ปีของความสงบและเจริญรุ่งเรืองโดยผู้นำที่จงรักภักดีและเทิดทูนสถาบัน

ขอลงท้ายด้วยคำพูดในนิยายน้ำเน่าเรื่องหนึ่ง “ไม่รักไม่ว่า แต่อย่าฆ่ากันด้วยความไม่ซื่อสัตย์”