ทวี สุรฤทธิกุล

บางทีบ้านเมืองอาจไม่ได้วิปริตเพราะคนรุ่นใหม่ แต่เป็นเพราะคนรุ่นเก่าไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

ปัญหาการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในสภาที่ผ่านมา 2 ครั้งใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนมองว่าเป็นแค่เกมการเมือง ที่ฝ่ายอนุรักษ์ต้องการปิดกั้นไม่ให้ฝ่ายประชาธิปไตยได้ขึ้นมามีอำนาจ จนถึงขั้นมีการมองไปว่านี่แหละคือ “สงครามระหว่างวัย” ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ที่ต่างก็ไม่ยอมกันและกัน แต่ผู้เขียนมีมุมมองที่อยากจะเสริมเข้าไปว่า มันคือ “ปฏิกิริยาลูกโซ่ทางพลังงาน” ที่เรียกว่า “พลังงานปรมาณู” ซึ่งได้เคย “ระเบิด” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาหลายครั้งแล้ว

สำหรับคนที่สนใจประวัติศาสตร์และพอจะจำได้ดีถึงการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในทางการเมืองการปกครองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คงจะพอนึกถึงภาพการต่อสู้กันระหว่าง “กลุ่มสยามหนุ่ม” นำโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นยุวกษัตริย์ มีพระชนม์เพียง 15 พรรษา ร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์บางส่วน กับ “กลุ่มสยามเก่า” นำโดยกรมพระราชวังบวร หรือวังหน้า ร่วมด้วย “กลุ่มสยามอนุรักษ์” นำโดยสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการ ในช่วง พ.ศ. 2417 - 2418  นั้นได้

แม้ว่ากลุ่มสยามหนุ่มจะประสบชัยชนะ แต่นั่นก็ต้องรอให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ สิ้นชีพิตักษัย และกรมพระราชวังบวร สวรรคต ใน พ.ศ. 2426 และ 2428 ตามลำดับ คือไม่ได้ต่อสู้รบกันเอาเป็นเอาตาย แต่ก็ต้องรอให้อีกฝ่ายหนึ่งลาโลกและหมดอำนาจไปเสียก่อน แต่นั่นก็ได้จุดประกายให้เกิดแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง “อย่างถอนรากถอนโคน” โดยพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางที่สนับสนุนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลให้มีการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองครั้งใหญ่ ด้วยการให้นำระบบรัฐสภาและการปกครองแบบ “คอนสะติติวชั่นโมนากี” หรือพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญมาใช้ แต่ด้วยการใช้พระราชโชบายเตรียมบ้านเมืองและผู้คนให้พร้อมก่อน จึงต้องรอมาจนถึงปลายรัชกาล และเพียงแค่ปีแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 คือ พ.ศ. 2455 ก็เกิดกบฏ ร.ศ. 130 ขึ้น โดยกลุ่มกบฏแจ้งความต้องการชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่การเป็นสาธารณรัฐ ดังชื่อของกลุ่มกบฏที่เรียกในภาษาจีนว่า “เก๊กเหม็ง” ที่แปลว่า “สาธารณรัฐ”

นั่นคือ “ปรมาณูแห่งช่วงวัย” ที่เกิดขึ้นถึง 2 ลูกในช่วง 2 รัชกาลติดต่อกัน เพราะนายทหารที่ก่อการกบฏครั้งนั้นก็ล้วนแต่เป็นนายทหารยศน้อย ๆ หรือทหารหนุ่ม ซึ่งรัชกาลที่ 6 ก็ทรงใช้พระราชโชบายแบบนุ่มนวล ด้วยการพระราชทานอภัยโทษเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นก็ทรงเตรียมพร้อมถึงขั้นให้มีการทดลอง “เมืองประชาธิปไตย” คือ “เมืองดุสิตธานี” ขึ้นในพระราชวังพญาไท ที่รวมถึงการมีพรรคการเมือง การประชุมสภา และคณะรัฐมนตรี แต่ก็มาสิ้นรัชกาลไปเสียก่อน แต่แนวคิดที่จะมีการปกครองแบบรัฐสภาก็ยังมีต่อเนื่องมาถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งก็ไม่ทันกาล เพราะได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นเสียก่อนในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

คณะราษฎรที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองก็ต้องถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ได้เช่นกัน เพราะทั้งหมดอาบุเพียง 30 ปีเศษ ๆ จนถึง 40 ปีต้น ๆ และมีการศึกษาดี หลายคนจบและกำลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศ เช่นเดียวกันกับกลุ่มสยามหนุ่มและพวกกบฏเก๊กเหม็ง ที่มีการบ่มเพาะความคิดมาเป็นเวลาพอสมควร ในลักษณะที่ผู้เขียนเรียกว่า “ปรมาณูแห่งช่วงวัย” ซึ่งก็ได้ระเบิดตูมออกมาในช่วงเวลาต่อมา

ผู้อ่านหลาย ๆ ท่าน(รวมทั้งผู้เขียน)คงเกิดไม่ทันยุคสมัยที่กล่าวมานั้น แต่หลายท่านก็น่าจะเกิดทัน 14 ตุลาคม 2516 และ พฤษภาคม 2535 ซึ่งก็คงจะได้รับรู้ถึง “ปรมาณูแห่งช่วงวัย” ที่เกิดขึ้นใน 2 ช่วงนี้ เช่นเดียวกันกับท่านที่เติบโตมาในช่วงระบอบทักษิณจนถึงระบอบประยุทธ์ คือตั้งแต่ พ.ศ. 2544 มาจนถึงปัจจุบัน ที่ “ปรมาณูแห่งช่วงวัย” ได้ระเบิดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2562 คือปรากฏการณ์ของพรรคอนาคตใหม่(ที่ถูกยุบไป)กับพรรก้าวไกล(ที่กำลังจะถูกยุบ?) ที่น่าจะยังมีอิทธิพลและส่งพลังไปถึงการเมืองไทยในยุคต่อไป ที่หลายคนเชื่อว่าอาจจะสามารถโค่นล้มพลังอำนาจของคนรุ่นเก่านั้นได้

ผู้เขียนเคยอยู่ในสมัยการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ที่คู่ต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ยุคนั้นยังจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ คือภายในกองทัพ คนรุ่นใหม่ในสมัยนั้นต่อสู้กับเผด็จการทหาร อาวุธของคนหนุ่มสาวยุคนั้นก็คือการเดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการชุมนุมประณามทรราชย์ พอมาถึงเดือนพฤษภาคม 2535 คนรุ่นใหม่ในสมัยนั้นคือคนชั้นกลาง ที่ใช้เทคโนโลยีมือถือ (จึงเรียกม็อบครั้งนั้นว่า “ม็อบมือถือ”) มีการสื่อสารข้ามโลกผ่านดาวเทียม และมีเครือข่ายกับผู้นำในรัฐสภาและพรรคการเมือง ส่วนคู่ต่อสู้ก็ยังคงเป็นทหาร ที่มีแนวร่วมอยู่ในรัฐสภาและพรรคการเมืองด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนคนรุ่นใหม่ในยุคระบอบทักษิณมาจนถึงปัจจุบัน เป็นกลุ่มที่มีความสนใจทางการเมืองอย่างเข้มข้น จนถึงขั้นที่มีการต่อสู้กันเป็นค่ายรบสีต่าง ๆ ทั้งนี้ในฝ่ายอำนาจเก่าก็ได้ขยายฐานไปเป็นกลุ่มชนชั้นสูง ผนวกด้วยบรรดานายทุนผูกขาด และผู้มีอิทธิพลในวงการต่าง ๆ นอกเหนือจากทหาร ตำรวจ และข้าราชการแบบสมัยก่อน ดังนั้นการต่อสู้จึงยิ่งเข้มข้น และน่าจะเป็นสงครามที่แผ่ขยายไปได้อย่างกว้างไกล

พรรคก้าวไกลในฐานะ “นักรบตัวแทน” ของคนรุ่นใหม่ จะคิดอะไรอยู่ก็ยังไม่มีใครรู้แน่ชัด เพียงแต่ตีความจากการเสนอแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 การปฏิรูประบบราชการและกองทัพ และนโยบายแปลก ๆ ใหม่ ๆ อีกจำนวนมาก ก็คิดกันไปแล้วว่าคงต้องการจะเอาชนะพวกคนรุ่นเก่านั้นอย่างแน่นอน โดยใช้นโยบายที่คนรุ่นเก่า “รังเกียจ” หรือ “รำคาญ” นั้นเป็นอาวุธที่ออกหน้า แต่ก็ดูจะมีความรุนแรงถึงขั้นเป็น “ปรมาณู” ขึ้นมาก็ได้

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปรมาจารย์ทางการเมืองไทยผู้ล่วงลับ เคยพูดและเขียนถึงวิธีที่จะต่อสู้กับข้าศึกศัตรูที่มีอันตรายเยี่ยงนี้ว่า “ที่ที่ปลอดภัยที่สุดของปืนก็คือด้ามปืน” หมายถึงเราจะต้องเข้าให้ใกล้ตัวศัตรูให้ได้มากที่สุด ถึงขั้นที่เกาะกุมเข้าไปกอดตัวศัตรูนั้นให้ได้ เหมือนจะไม่ให้ใครยิงปืน ก็ต้องจับด้ามปืนนั้นให้ได้

บัดนี้คนรุ่นใหม่มีระเบิดปรมาณูอยู่ในมือ พวกคนแก่ ๆ คงจะต้องเข้าไปกอดเด็ก ๆ พวกนี้ได้แล้วกระมัง ?