ในท่ามกลางบรรยากาศ พูดคุยกันตามประสา คนการเมือง ระหว่าง พรรคเพื่อไทย ที่เปิดบ้าน ต้อนรับ คีย์แมน จาก พรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิม ในปีก 188 เสียง  ไม่ว่าจะเป็น พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนากล้า กลับไม่พบว่ามีชื่อ ประชาธิปัตย์ เข้าร่วม ! 


 การดำเนินบทบาทในฐานะ พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลโดย พรรคเพื่อไทย ที่รับไม้ต่อจาก พรรคก้าวไกล  เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จะด้วยเพราะ มีเรื่อง เงื่อนเวลา คือการโหวตนายกฯรอบที่ 3 ซึ่งเดิมถูกวางเอาไว้ในวันที่ 27 ก.ค.66 นี้ เป็นตัวกดดัน เพราะพรรคเพื่อไทยจะต้องเสนอชื่อ แคตดิเดตนายกฯ  ของพรรคให้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา เพียงครั้งเดียว ดังนั้น พรรคเพื่อไทย ต้องมั่นใจได้แล้วว่า ทุกอย่างจะไม่มีอะไรผิดพลาด 


 ด้วยเหตุนี้พรรคเพื่อไทย จึงต้องขยับเร็ว อย่างที่เห็น ทั้งการเชิญแกนนำ5พรรคการเมือง มาพูดคุยไปพร้อมๆกับการประสานขอเสียงสนับสนุนการโหวตนายกฯไปยัง วุฒิสมาชิก แม้จะสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อ ด้อมส้ม กองเชียร์ พรรคก้าวไกล ถึงกับบุกที่ป่วนกันที่ทำการพรรคเพื่อไทย เมื่อวันนัดหมายพูดคุยกับ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ 


 ดังนั้นเมื่อในวงการสนทนาชนิด ข้ามขั้ว  กลับไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในลิสต์ ขณะที่พรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกฯและรมว.กลาโหม อย่าง พรรครวมไทยสร้างชาติกับพรรคพลังประชารัฐ ที่วันนี้ยังมี บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ นั่งอยู่ในตำแหน่ง หัวหน้าพรรค ทำให้เกิดคำถามในท่วงทำนอง ประหลาดใจ อยู่เล็กๆ 


 ทั้งนี้ เสี่ยอ้วน ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะ ทีมเจรจา ในการตั้งรัฐบาล ให้เหตุผลกับสื่อว่า  เนื่องจาก พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค และการกำหนดวันเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของประชาธิปัตย์คือ 6 ส.ค. จึงไม่ทันกับการเลือกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค.นี้.
 แต่ทั้งนี้ด้วยความเป็นจริงแล้ว อย่าลืมว่า ประชาธิปัตย์ กับพรรคเพื่อไทยที่ต่างฝ่าย ต่างยืนประจันหน้ากันในทุกยุค ทุกสมัย โอกาสที่จะเกิดการจับมือข้ามฝ่ายกันแทบเป็นไปได้ยาก 


 หรือต่อให้พรรคประชาธิปัตย์ อาจเป็นฝ่ายต้องการเสียงสนับสนุน ในการตั้งรัฐบาล แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทย จะไม่ได้อยู่ใน สมการการเมือง สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ 
 ยิ่งเมื่อประเมินไปยังปัญหาและความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังไม่สามารถหาความชัดเจนได้ว่าที่สุดแล้ว ใคร คือ หัวหน้าพรรคคนใหม่  ระหว่าง ขั้วอำนาจของ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาฯพรรค กับฝ่ายสนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  อดีตหัวหน้าพรรค ที่ได้รับแรงหนุนจาก ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค 
 แต่ด้วยกำลังสส.ที่ฝ่ายอภิสิทธิ์ มีน้อยกว่าขั้วของเฉลิมชัย จึงทำให้การประชุมสมาชิกพรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ จึงยากที่จะได้ ข้อยุติ 


 และหากขั้วของอภิสิทธิ์ เป็นฝ่ายคุมอำนาจหลักในพรรค โอกาสที่จะตัดสินใจมาจับมือกับพรรคเพื่อไทย ยิ่งแทบไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย  ด้วยศึกใน ภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยากจะลงตัว ประกอบกับการยืนคนละขั้วทางการเมือง ตลอดมา จึงไม่ต้องแปลกใจพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ส่ง เทียบเชิญ ไปถึงประชาธิปัตย์ !